Friday, October 26, 2012

ทางออกประชาชน ( ตอนจบ )

แนวทางแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟู
เศรษฐกิจสังคมได้ทั้งระบบและอย่างยั่งยืน



วิกฤติช่วงปี 2540 - 2542

          2 ปีภายหลังจากการที่รัฐบาลไทยตัดสินใจไปกู้เงินกองทุนระหว่างประเทศ ( IMF ) ที่มีเงื่อนไขบีบบังคับให้ไทยต้องเสียเปรียบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของภาคประชาชนไทยยังคงถดถอยคนว่างงาน ล้มละลาย ลูกหนี้ไม่มีปัญญาใช้หนี้ รายได้แท้จริงของประชาชนทั้งประเทศลดลง มีปัญหาด้านต่างๆ เพิ่มตามเป็นลูกโซ่

          ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาผิดทาง โดยใช้กรอบคิดของ IMF ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลก ที่จริงๆ แล้วแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรม แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ชอบอ้างว่าการเปิดเสรีเท่านั้นที่จะทำให้แก้ปัญหาวิกฤติได้

          รัฐบาลอ้างว่าเศรษฐกิจตกถึงจุดต่ำสุดและกำลังฟื้นตัว เพราะเงินไหลออกลดลง และต่างชาติกำลังสนใจจะมาลงทุนเพิ่ม แต่จริงแล้วเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีปัญหามาก ปัญหาหนี้ไม่รับรู้รายได้ หรือหนี้ไม่สามารถชำระคืนยังสูงร้อยละ 50 ประชาชนตกงานกว่า 2 ล้านคน รายได้แท้จริงของประชาชน 65.4 ล้านคนลดลง คนส่วนใหญ่ไม่มีเงินจะซื้อสินค้า คนมีเงินไม่กล้าลงทุน ธนาคารก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจยังตกต่ำยืดเยื้อ


          การที่รัฐบาลทำตามคำชี้แนะ IMF ยิ่งบีบให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งมีอำนาจผูกขาดได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง จนผู้ที่เคยอยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยจากเงินออม รวมทั้งมูลนิธิต่างๆ จนลงมาก ขณะที่ยังคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าเท่าตัว การแก้ปัญหาตามกรอบ IMF แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้ เพราะไม่ค่อยมีใครอยากกู้ไปลงทุน เพราะลงทุนไปแล้วกลัวขายไม่ออก ธนาคารก็ไม่ค่อยกล้าปล่อยสินเชื่อใหม่เพราะกลัวปัญหาหนี้เสีย และกลัวว่าจะถูกรัฐบาลไทยที่มีนโยบายเชื่อตามคำชี้แนะ IMF บีบบังคับให้ต้องเพิ่มเงินลงทุน ซึ่งเท่ากับต้องขายธนาคารให้ต่างชาติ

          ถึงรัฐบาลพยายามกู้เงินมาเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะกระตุ้นเพียบางส่วน และระยะสั้น เพราะรัฐบาลไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างการกระจายทรัพย์และรายได้ให้คนส่วนใหญ่มีอำนาจซื้อและพัฒนาตนเองได้อย่างจริงจัง คนรวยคนชั้นกลางคนกลุ่มน้อยมีเงินแต่ไม่มีลู่ทางในการลงทุนที่ดี คนจนส่วนใหญ่ไม่มีทุน ไม่มีงานไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจจึงตกต่ำลงไป โดยฟื้นได้ยาก

กรอบคิดที่ต่างจากกรอบคิดกระแสหลัก

           การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติได้อย่างแท้จริง ต้องการกรอบคิดใหม่ ที่เป็นไทจากกรอบความคิดของ IMF โดยสิ้นเชิง คือจะต้องหันกลับมามองเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นด้านหลัก เน้นการพัฒนาคน การแก้ปัญหาการว่างงาน และการปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพึ่งตนเองในระดับประเทศ อย่างถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญที่สุด

           ส่วนเรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ควรเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับรองและรัฐบาลต้องพยายามต่อรองกับพวกเจ้าหนี้ต่างชาติต่อเรื่องการค้าระหว่างชาติอย่างถึงที่สุด เราควรมีอธิปไตยที่จะเลือกเปิดประตูให้เฉพาะการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศเท่าทีจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่มุ่งทำทุกอย่างรวมทั้งการออกกฏหมายใหม่เพื่อเอาใจต่างชาติ เพราะรัฐบาลมีกรอบคิดได้แบบเดียวว่า การค้าและการลงทุนจากต่างชาติเป็นทางออกทางเดียว ไม่มีทางออกอื่นๆ

           จริงๆ แล้วนโยบายเปิดเสรีมากเกินไป ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ คนในประเทศยังไม่เข้มแข็ง คือการเปิดให้นายทุนต่างชาติที่มีอำนาจมากกว่าเอาเปรียบได้ทุกทางและเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว แต่รัฐบาลไม่สำนึกและไม่เรียนรู้ทั้งยังคิดแก้วิกฤติภายใต้กรอบคิดเดิมของการพึ่งพาทุน และการค้าระหว่างประเทศที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤติมาแล้วอยู่อีก

กรอบคิดใหม่คืออะไร ?

           แนวทางการแก้ไขวิกฤติสำคัญ คือต้องสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพราะเศรษฐกิจคือ เรื่องการใช้แรงงาน ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ และสนองความต้องการสมาชิกได้มากที่สุด ส่วนเรื่องการเงินเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการพัฒนาเท่านั้นการแก้ไขวิกฤติจึงต้องมุ่งเน้นที่การฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตรและปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ในทุกด้าน เพื่อกระจายทรัพย์สินและรายได้ ความรู้ ข้อมลข่าวสาร สิทธิทางการเมือง และทางสังคมไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง ทำให้ตลาดภายในประเทศซึ่งมีประชากรเกือบ 65.4 ล้านคน เป็นตลาดใหญ่พอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายในประเทศด้านหลักได้

            ควรมุ่งช่วยคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นก่อน แล้วคนจนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวก็จะช่วยคนชั้นกลาง ช่วยคนรวยให้สามารถลงทุน ขายสินค้าบริการได้ นั่นก็คือเมื่อเราทำให้ คนส่วนใหญ่มีงานทำ มีรายได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ธุรกิจก็จะเคลื่อนตัว ขายของได้ใช้หนี้ได้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็จะกระเตื้องได้ ปัญหาการผูกขาดและการเอาเปรียบทางการเมืองและสังคม รวมทั้งความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆ ที่มีมากในปัจจุบัน ก็จะเบาบางลง

            แนวทางที่จะสามารถแก้ไขวิกฤติ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมไทยได้อย่างยั่งยืนยาวนาน คือ

            1. การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิต การคลัง การธนาคาร การกระจายทรัพยากร การมีงานทำและมีรายได้

            เป้าหมายคือ สร้างความเป็นไท ความเป็นธรรม การเพิ่มการจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

            1.1 แก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน โดยประกาศหยุดการกู้เงินส่วนที่เหลือจาก IMF ตั้งคณะกรรมการระดับชาติไปเจรจาต่อรอง ขอปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้กับกลุ่มเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อลดภาระหนี้ ( เงินต้น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ ) และทำให้เงินไหลออกนอกประเทศช้าลง ทำให้มีเงินสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น

            ภาคการผลิตในประเทศก็จะสามารถต่อรองปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้กับธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศได้มากขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรีบขยายรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัท อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินต่างๆ ให้ต่างชาติในราคาต่ำเกินไปหรือเป็นสัดส่วนสูงเกินไป

            1.2 แก้ปัญหาหนี้ไม่รับรู้รายได้ในระบบธนาคาร โดยการตั้งองค์กรกลาง ที่สามารถใช้มาตรการกึ่งบังคับให้ธนาคารและลูกหนี้ที่มีปัญหาทุกราย ต้องยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้แบบพบกันครึ่งทาง และลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่ดีด้วย เพื่อไม่ส่งเสริมให้ลูกหนี้ดีพลอยเอาอย่างลูกหนี้ที่มีปัญหา คือหยุดส่งดอกเบี้ย และเพื่อทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่ำลง ธุรกิจโดยรวมจะสามารถฟื้นฟูได้

            รัฐควรยกเลิกนโยบายเอาภาษีจากประชาชนไปอุ้มชูเจ้าหนี้ต่างชาติ ธนาคาร และสถาบันการเงิน เปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดตั้ง สถาบันประกันเงินฝากผู้ฝากรายย่อย คุ้มครองประชาชนทั่วไปในระดับหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่ลูกหนี้เจ้าหนี้ต้องเสี่ยง ต้องฟ้องร้องกันเองเหมือนธุรกิจอื่นๆ และเปิดให้ตั้งธนาคารเพิ่มขึ้นได้

            ขยายบทบาทของกลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเฉพาะกิจต่างๆ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเน็จบำนาญ เพื่อเพิ่มการแข่งขันของสถาบันการเงิน ให้ประชาชนมีทางเลือกในการออมและลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งรัฐต้องกล้าดูแลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากเกินไป

            1.3 ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบอย่างเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม จำกัดชนิดการถือครองที่ดินและเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ออกพันธบัตรเพื่อซื้อทีดินเอกชนมาปฏิรูป กระจายการถือครองที่ดิน และกระจายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง ที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรมของรัฐส่วนหนึ่งนำมาใช้ปลูกป่าใหม่ อีกส่วนหนึ่งส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้เกษตรกรอาศัยทำกินแบบยังชีพได้ และห้ามขายต่อให้นายทุนไปใช้ทำอย่างอื่น

            ส่งเสริมการปลูกส่วนป่าทั้งรัฐและเอกชนโดยจัดระบบใหม่ทำให้ต้นทุนการปลูกสวนป่าต่ำลง เอกชนสามารถลงทุนระยะยาว 20 -30 ปีไดผลอย่างคุ้มค่า

            ปรับปรุงดินและพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมใช้ปัจจัยภายในประเทศ ใช้ทางเลือกที่พึ่งธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ปุ๋ย และยาจากต่างประเทศ เพื่อลดปัญหาหนี้สิน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ

             พัฒนาระบบสหกรณ์ และการตลาด ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคเกษตรสามารถรับแรงงานเพิ่มขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้

              1.4 ฟื้นฟูการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ โดยการออกพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปที่ดิน พันธบัตรเพื่ออาคารสงเคราะห์ พันธบัตรเพื่อการพัฒนาเทศบาล พันธบัติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อทำให้มีการนำเอาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินต่างๆ ที่ขาดผู้ดำเนินการ ขาดสภาพคล่องและถูกทอดทิ้งไว้ มาใช้สอย ทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิตและบริโภคเพิ่มขึ้น คนจนที่เคยอยู่ชุมชนแออัดหรือเช่าบ้านเขาอยู่จะได้มีที่อยู่อาศัยของตัวเองที่ดีขึ้น โดยผ่อนส่งระยะยาว เสียดอกเบี้ยต่ำ เศรษฐกิจในประเทศก็จะฟื้นตัวขึ้น

              คนที่เลี้ยงชีพด้วยเงินออม จะมีทางเลือกการลงทุนซื้อพันธบัตรเหล่านี้ โดยได้ดอกเบี้ยสูงพอสมควร แทนการถูกนายธนาคารกดดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมากจนลำบากไปตามกัน

              1.5 ปฏิรูประบบภาษีอากรและการจัดสรรงบประมาณ เก็บภาษีมรดก และทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ในอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มสินค้าสั่งเข้าและบริการฟุ่มเฟือย ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็น

              ลดหย่อนภาษีรายได้ให้คนทำงานรายได้ต่ำและปานกลางลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศ และจ้างแรงงาน เป็นสัดส่วนสูง

              ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ และทรัพยากรของประเทศใหม่ให้มีการกระจายอำนาจทางการคลังและการจัดสรรพยากรไปสู่องค์กรท้องถิ่น องกรณ์ประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยจัดสรรและใช้งบประมาณอย่างซื่อสัตย์ มีประสิทธภาพ

              การใช้งบประมาณควรเน้นไปในทางพัฒนาสุขภาพและการศึกษาอบรมคน พัฒนาทรัพยากรในการผลิต และกิจกรรม ที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่

              1.6 ปฏิรูปโครงสร้างการเป็นเจ้าของและผู้บริหารธนาคาร รัฐวิสาหกิจ และบริษัท ให้เป็นแบบบริษัทมหาชนที่บริหารโดยมืออาชีพ ช่วยให้พนักงาน ประชาชน เข้าถือหุ้นและมีส่วนในการบริหารมากขึ้น โดยธนาคารชาติปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ( SOFTLOAN ) โดยตรงหรือผ่านธนาคารพาณิชย์ ให้กองทุนพนักงาน ( หรือสหกรณ์ สหภาพแรงงาน ) ของธนาคาร รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทต่างๆ นำไปซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัทต่างๆ โดยใช้หุ้นค้ำประกัน แล้วให้พนักงานผ่อนส่งค่าหุ้นด้วยวิธีหักจากเงินเดือน

             ปฏิรูประบการบริหารจัดการทั้งธนาคาร รัฐวิสาหกิจ บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ให้เป็นบริษัทมหาชนที่บริหารงานแบบมืออาชีพแทนระบบครอบครัวและการเล่นพรรคพวก มีการตรวจสอบดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินงานเพื่อประโยชน์แก่คนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว

             1.7 เร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานอย่งมีประสิทธิภาพของแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง ธุรกิจเพื่อส่งออก โดยปฏิรูประบบการวิจัยและการพัฒนา เรื่องการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเน้นการใช้แรงงาน ฝีมือ สติปัญญาและใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นสัดส่วนสูง เพื่อเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มประสิทธภาพการทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยรัฐต้องให้ความสนับสนุนช่วยเหลืออย่างครบวงจรทั้งเรื่องสินเชื่อ การผลิต และการตลาด

             2. การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและสังคมให้ประชาธิปไตย เป็นธรรม มีภูมิปัญญา และมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

             เป้าหมาย คือ การสร้างภูมิปัญญาใหม่ การกระจายสิทธิอำนาจทางการเมืองและสังคม สู่ประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ภาคการเมืองและภาคราชการเล็กลง ภาคสังคมประชาเข้มแข็งขึ้น เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมี่ส่วนร่วมมากขึ้น สังคมมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสันติวิธี เพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีชีวิตที่มีคุณภาพในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เน้นแต่การพัฒนาทางวัตถุนิยมเหมือนรัฐบาลที่ทำอยู่

              2.1 ปฏิรูปการบริหารจัดการเพื่อเน้นการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขวิกฤติแห่งชาติ เป็นองค์กรประสานงานในการบริหารจัดการในยามวิกฤติ( CRISIS MANAGEMENT ) อย่างเห็นภาพองค์รวมของระบบทั้งหมด และสามารถดำเนินงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วน เช่น ปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ภาคเอกชน การสร้างสภาพคล่องทางการเงิน การฝึกฝนอบรม ส่งเสริมให้คนว่างงานและคนจนให้มีทักษะ ทุน และช่องทางมีงานทำ หรือพัฒนาอาชีพของตนให้ดีขึ้น

               การผ่าตัดแก้ปัญหาทุจริตฉ้อฉลในหมู่นักการเมืองและข้าราชการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสังคม เช่น ยาเสพย์ติด โสเภณี การขูดรีดแรงงานเด็ก อาชญากรรม การทุจริตฉ้อฉล ข่มขู่รีดไถ ฯลฯ อย่างเข้มข้น ทุ่มเทเอาจริงเอาจัง มุ่งแก้ที่ต้นตอของปัญหา และอย่างครอบคลุมถึงระบบโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การใช้วิธีสั่งให้หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้แก้ปัญหาตามหน้าที่ไปวันๆ ซึ่งมักไม่ได้ผล หรือแก้ปัญหาเฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอื่นๆ อย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบ

               2.2 การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูประบบราชการ แบบลดขนาดลดอำนาจนักการเมือง และราชการลง กระจายอำนาจบริหารสู่องค์กรท้องถิ่นที่ต้องพัฒนาให้เห็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งเสริมให้องค์กรประชาชนเข้มแข็ง และตรวจสอบภาครัฐได้เพ่ิมมากขึ้น เพื่อจัดการบริหารบุคคลในระบบราชการใหม่ โยกย้ายคนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพออก รณรงค์เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ในการบริหารจัดการทั้งภาครัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาครัฐ

               รณรงค์ลดการคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อภิสิทธิและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม อย่างเป็นหลักการทั่วไป ที่ใช้กับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม และเพื่อแก้ปัญหา หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกทั้งระบบ ไม่ใช่การเลือกแก้ปัญหาเฉพาะส่วน เฉพาะบุคคล อย่างที่ทำกันอยู่

              2.3 ปฏิรปการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และการสื่อสารมวลชน กระจายโอกาสสู่ประชาชนส่วนใหญ่ ส่งเสริมให้คนรักการเรียนรู้ มีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีจิตสำนึกทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

             ทำให้สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เป็นของประชาชนและควบคุมดูแลโดยประชาชนมากขึ้น รณรงค์เปลี่ยนวิถีชีวิตและค่านิยมใหม่ให้สอดคล้องกับการเลือกแนวทางพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน แทนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่าที่เน้นการบริโภคสินค้า การแสวงหากำไรส่วนเอกชน

             ใช้มาตรการทั้งทางภาษี การจัดสรรงบประมาณ และการรณรงค์ทางสังคมให้ประชาชนสนใจการเรียนรู้และการคิด การค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม อย่างวิพากษ์วิจารณ์ เปลี่ยนแปลงค่านิยมแบบเห็นเงินเป็นพระเจ้า และนิยมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย หันมายกย่องค่านิยมที่ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกเห็นแก่ประชาคม และลูกหลาน ให้มีการใช้ชีวิตอย่างประหยัด เรียบง่าย เอื้ออาทรต่อกันและกัน

             ส่งเสริมให้คนลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน มาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง ใช้รถสาธารณะ จักรยาน ฯลฯ มากขึ้น การพัฒนาจิตสำนึกให้คนเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาของทั้งสังคมอย่างคนที่มีวุฒิภาวะ สามารถตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ด้วยสติปัญญา และสันติวิธี

              2.4 ปฏิรูประบบกฏหมาย ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ราชทัณฑ์ การประชาสงเคราะห์ การพัฒนาสุขภาพจิต การพัฒนาความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว อย่างเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำงานตามหน้าที่ไปวันๆ โดยควรเน้นการส่งเสริมให้คนทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการลงโทษ ซึ่งมักจะทำให้เกิดการทุจริต ฉ้อฉล เป้าหมายคือ เพื่อเน้นให้เกิดความเป็นธรรม คววามโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันสมัยต่อสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น

              2.5 ระดมกำลังความคิด ทรัพยากร บุคคล ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพย์ติด และปัญหาการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิง เด็กและเยาวชน ให้ได้ผลอย่างถึงรากเหง้า โดยถือเป็นเรื่องวิกฤติเร่งด่วน ที่ต้องแก้ไขในหลายๆ ด้านพร้อมกันอย่างเชื่อมโยง และต้องลงมือผ่าตัดปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก ผ่อนปรนให้กับผู้ที่มีอำนาจหนุนหลัง

              ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจด้วยว่า ทางแก้ไขไม่ได้อยู่ที่การไล่จับยาเสพย์ติดอย่างเดียวต้องแก้ไขปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ควบคู่กันไป เช่น ต้องช่วยให้เยาวชนมีโอกาสได้เรียน ทำงาน มีที่เล่นกีฬา ดนตรี ทำงานศิลปะ และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ต้องส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง มีความอบอุ่น ผู้ปกครองเข้าใจจิตวิทยาใรการดูแลลูกหลานเพิ่มมากขึ้น ขยายบทบาท หรือจัดตั้งสถานที่ช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยาเสพย์ติด ที่เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างได้ผลเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

              2.6 ปฏิรูประบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และการพัฒนาสังคมในด้านเกี่ยวกับสุขภาพ และสุขภาพจิต รวมทั้งการพัฒนาสถาบันครอบครัว สถาบันองค์กรประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง เน้นการป้องกันและกรารวางแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ลดการใช้ยาสมัยใหม่มากเกินไป ลดการติดบุหรี่ เหล้า ยาเสพย์ติดต่างๆ ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสมันไพรที่ผลิตได้ในประเทศ

              การให้การศึกษาประชาชนได้รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุภาพ ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนในสังคม มากกว่าการตามรักษา ตามแก้ปัญหาเฉพาะทางไปวันๆ ซึ่งมักจะแก้ได้เพียงบางส่วน สิ้นเปลือง หรือก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา พัฒนาองค์กรรัฐที่ทำงานด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพ แบบองค์กรเอกชน สามารถเอาใจใส่ดูแลเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ

              2.7 ปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรคณะสงฆ์ และมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ ใหม่ ให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นประชาธิปไตย สามารถที่จะให้มีบทบาทในการพัฒนาจิตใจ และคุณธรรมของประชาชนได้อย่างสร้างสรรค์ ปฏิรูปการจัดการศึกษาขอสงฆ์ ให้สงฆ์มีความรู้ที่เป็นประโยชน์ สามารถมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจ แก้ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาด้านจิยธรรมของประชาชนตลอดจนส่งเสริมให้วัด และมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ ขยายบทบาทในการให้สวัสดิการทางสังคม ช่วยพัฒนาการศึกษา ช่วยพัฒนาชุมชนอย่างมุ่งให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ในระยะต่อไป มากกว่าการสงเคราะห์ชนิดให้ประชาชนต้องพึ่งพาผู้ให้การสงเคราะห์แบบผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ตลอดชีวิต






By  วิทยากร เชียงกูล ( ทางออกประชาชน, หนังสือระลึกถึง อานนท์  อัศนธรรม, สำนักพิมพ์ บริษัท ชน    นิยม จำกัด

         

No comments:

Post a Comment