Saturday, October 13, 2012

เรียนรามเกียรติ์ รื้อเรียน เพื่อ รื้อรู้ ( ตอนที่ 3 )




เรียนรามเกียรติ์ รื้อเรียน เพื่อ รื้อรู้ ( ตอนที่ 3 )

        สิ่งที่น่าฉงนใจว่า เหตุใดอิสตรีในสายตาผู้ชายถึงกลายเป็นของโง่เง่า เข้าใจยากและมากเรื่อง หากจะฉลาดปราดเปรื่องก็จริตผิดสามัญหรือบรรณภพเก่าแก่ มีแต่เพศผู้เป็นผู้รจนาเลยลืมสาระความเป็นจริงว่าผู้หญิงย่อมคือคนมีเหตุมีผลที่จะกระทำหรือสำแดง การแต่งเรื่องผูกราวควรหรือที่จะกล่าวดัง

        " การกล่าวเท็จ, ใจง่าย, มายา, ละโมบ, ไม่เห็นคุณใคร, ลามก โทษเหล่านี้ฝังอยู่ในใจของสตรีเป็นสภาพ "

        และ


        " สตรีย่อมทราบกันว่ามีอาหาร 2 เท่า, มีเชาวน์ปัญญาแยบยล 4 เท่า, และเล่ห์กลมายา 6 เท่า, กามราคะถึง 8 เท่า "

        จากหิโตปเทศ

        นางสีดาแม้ว่าจะมิทำสมเพชร้ายแรงแต่เชาวน์ปัญญานางหายแน่นอน หลังจากตัดรอนตัดพ้อพระลักษณ์จนถูกทศกัณฐ์ลักไปสำเร็จนางมีเหตุอ้างว่า จะอยู่อย่างนี้รอพระรามมากรีธาทัพปราบทศกัณฐ์ เพื่อสร้างสรรค์สร้างเสริมส่งเกียรติ์องค์พะสวามีโดยไม่ยอมหนีไปกับหนุมาน...

        การยกโวหารเช่นี้ผิดกับท่วงท่าท่วงทีที่มีก่อนหน้า เพราะนางสีดาตั้งใจผูกคอตายด้วยถูกบรรดานางสนมร้ายของทศกัณฐ์รุมยรรเลงเพลงด่าเป็นว่าเล่น

        ไม่เห็นจะคิดรักษาอิสสรีระขององค์พระรามตรงใหน

         พูดกันอย่างไม่อีนังขังขอบว่า เนื้อหาวรรณคดีเราไม่เอาอ่าวเรื่องเนื้อหา แต่งขึ้นมาเพื่อจะยกศรัทธาบารมีเป็นที่ตั้ง จึงพลาดพลั้งความเป็นไปได้ทั้งมวลชวนเหลือเชื่อเบื่อหน่ายอยู่ร่ำไป

         ในรามเกียรติ์จะเห็นการเวียนวนเช่นนี้ อันมีตั้งแต่ต้นจนจบโดยตระหลบกระหวัดทัศนะเป็นประจำแห้งพราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเพียรติดฝังลึกรากสำนึกว่า ถ้าใครบูชาพระเจ้าเฝ้าเคารพนบน้อมย่อมได้ดีทุกรายไป ไม่ว่า อสูรรากษส นักพรต มนุษย์ นาคครุฑ หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ฯลฯ ความวิปริตพิสดารบางทีอาจฎีกาถึงขั้นสามานย์ของเหล่าพระเจ้าที่สุดจะเอารัดเอาเปรียบ พร้อมเพียบด้วยเล่ห์กลโฉดฉลจึงพากันถูกปล่อยปละ เช่นพระอินทร์เที่ยวเล่นชู้ พระอิศวรไม่ดูตาม้าตาเรือให้พรพร่ำเพรื่อ พระอุมาโหดเหลือดี แม้แต่ฤๅษีชีไพรก็ชิงความยิ่งใหญ่ต่ำกว่าทาสไพร่ในเรือนเบี้ยเสียอีก

         ถ้าจะฉีกรื้อตำราเรียน รามเกียรติ์สมควรจะถูกฉีกรื้อก่อนหนังสืออื่นใด ( มิได้หมายถึงการฉีกทิ้งฉีกเผา แต่รื้อฉีกเพื่อเราจักได้ทำความเข้าใจใหม่ ไม่ใช่รับเหมาเอามาทั้งดุ้นจนลืมดุลยพินิจ ลืมคิดลึกซึ้งถึงข้อเท็จจริง เช่นลิงคอสิ่งใด ทำไมถึงไล่ฆ่ายักษ์และภักดีพระเจ้าเท่าชีวิตเป็นต้น )

         แท้จริงลิงก็คือกลลวงสร้างทางการแบ่งชนชั้นวรรณะเพื่อมารับใช้กษัตริย์กับพราหมณ์ตามแนวแบ่งแยกแล้วปกครองเบื้องง่าย ลิงร้ายจึงแทบไม่มี ( และยักษ์ที่ดีก็มีไม่มากเช่นกัน )

         จุดสำคัญอีกอันหนึ่งของวรรณคดีเรื่องนี้คือ นอกจากจะมีเนื้อหาหลวมโพรกแต่ยกย่องบทโศลกเกินเลย แล้วยังควรจะเอ่ยกันตรงๆ ว่าด้านภาษาร้อยกรองของฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงให้นักปราชญ์ราชกวีประชุมแต่ง ยังกระพร่องกระแพร่งด้านความอลังการ์ ลีลาของกลอน และความอ่อนเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ ( มิได้ป็นการหมิ่นแคลนทรัพยากรแผ่นพื้นเพราะอาจมีสาเหตุอื่นๆ เป็นตัวบอกกล่าว เช่นแต่งเอาไว้เล่นละครเป็นหลัก, นักปราชญ์ราชกวียังไม่เข้าที่เข้าทางเพราะเพิ่งสร้างเมืองหลวง, เวลาที่ลุล่วงทำให้ไม่อำนวยและก็ความยืดยาวของตัวสารนั่นเอง )

          เอ่ยกันอย่างไม่เกรงใจอีกครั้ง กวีดังๆ พ.ศ. นี้ มีสำนวนลีลาดีกว่ามาก อยากให้อ่านตัวอย่างสาธิตสักนิดหน่อย


บัดนั้น
นกกระจาบตอบคำพระฤๅษี
พระองค์เป็นกษัตริบดี
ยังไม่มีโอรสและธิดา

ละสมบัติออกมาทรงพรต
บวชเป็นดาบสอยู่ในป่า
ให้ขาดวงกระษัตรขัตติยา
ซึ่งจะครองพาราสืบไป

อันบาปกรรมของพระมุนี
ข้อนี้จะเป็นโทษใหญ่
ข้าสาบานตัวด้วยกลัวภัย
จงตรึกไตรดูเถิดพะนักพรต

บัดนั้น
องค์พระมหาดาบส
ได้ฟังดังอมฤตรด
เห็นจริงด้วยทุกสิ่งไป

อย่าเลยกูจะตั้งพิธี
กองกูณฑ์อาหุดีโดยไสย
ให้เกิดเป็นนางขึ้นกลางไฟ
เลี้ยงไว้สู่สมภิรมยา

คิดแล้วชำระหนวดเครา
สะสางเศรียรเกล้าเกศา
ครั้นเสร็จก็เดินออกมา
ยังหน้าอารัญกุฎี

           สังเกตดูลีลาช้าๆ เฉื่อยๆ เอื่อยๆ อ่อนๆ ไม่สมกับการเล่นละครเท่าไหร่ อะไรก็ไม่น่าเชื่อเท่าเนื้อหาที่ว่าฤๅษี ( โคดม ) ผู้สั่งสมฌานมาพันปี มีอดีตประวัติเป็นถึงกษัตริยาธิราช ไฉนความฉลาดเฉลียวจึงสู้นกกระจาบตัวเดียวไม่ได้ สร้างพรตเท่าไหร่ไม่แจ้งธรรม พอนกพร่ำแถลงดันเกิดดวงตาแจ้งขึ้นมาดื้อๆ

           หรือ


ครั้นถึงน้อมเกล้าบังคมทูล
นเรนทรสูรสุริยวงศ์ทรงศร
ซึ่งพระองค์ให้ข้าวานร
ครอบครองพระนครอยุทธยา

ด้วยความเมตตาการุณย์
พระคุณใหญ่หลวงหนักหนา
ยิ่งกว่าแผ่นพื้นพสุธา
หวังว่าจะให้เป็นสวัสดี

อันยุทธยากรุงไกร
ไม่ควรแก่ข้าบทศรี
บันดาลร่ายร้อนทั้งอินทรีย์
ด้วยเศียรเกล้านี้จะแตกตาย

อันแสนสมบัติพัสถาร
ไปศูรย์ศฤงคารทั้งหลาย
กลับมหาเศวตฉัตรเพริศพราย
ขอถวายเบื้องบาทพระสี่กร

          เข้าใจว่าที่สุนทรภู่มุมานะใส่สร้างร่างสัมผัสในก็เพื่อความไพเราะเป็นเบื้องแรก ด้วยกลอนตัวอย่างมีช่องว่างแทรกใส่สัมผัสในได้หลายช่วง หลายวรรค ทว่าที่น่าใส่ไว้หนักคือความคิด...

          ทำไมพระยาอนุชิต ( หนุมานทหารคู่ใจ ) ถึงได้นั่งบัลลังก์เมืองอยุทธยาอันเป็นเอกอัครนัคราของพระราม... เป็นการตอบความชอบในผลงานของทหารกล้าว่าถ้าพลีกายถวายให้พลีใจถวายเห็นย่อมเป็นเช่นเดียวกับหนุมาน คือได้รับพระราชทานยศศักถาบรรดาศักดิ์หรือจักเอาถึงบัลลังก์ก็ยังไหว ( แต่นั่งรั้งไม่ได้ด้วยไร้บารมีที่จะเทียบทัน )





By คมทวน  คันธนู (วรรณวิพากษ์ )


No comments:

Post a Comment