Tuesday, December 25, 2012

เรื่องของจิตใจ

น้ำถ้วยหนึ่งกับน้ำสระหนึ่ง

         ศิษย์ขี้บ่นคนหนึ่ง ชอบโทษโน่นโทษนี่ วันหนึ่ง พระอาจารย์จึงบอกให้ศิษย์ขี้บ่นใส่เกลือลงไปในถ้วยที่มีน้ำ แล้วดื่มดู

         " รสชาติเป็นยังไง " อาจารย์ถาม

         " เค็มปี๋ เค็มจนกินไม่ได้เลยอาจารย์ " ศิษย์ขี้บ่นตอบ

         วันต่อมา อาจารย์พาศิษย์ขี้บ่นไปริมสระน้ำ แล้วบอกให้ศิษย์เทเกลือปริมาณเท่าเมื่อวานลงไปในสระน้ำ แล้วตักน้ำในสระขึ้นมาดื่ม

          " รศชาติเป็นยังไง " อาจารย์ถาม

          " ปกติดี ไม่เค็มเหมือนเมื่อวาน " ศิษย์ขี้บ่นตอบ

          อาจารย์พยักหน้าหงึกๆ พูดกับศิษย์ว่า " ความลำบาก ทุกข์ยากหนักเหนื่อยในชีวิต ก็เหมือนกับเกลือ เค็มหรือไม่เค็ม ขึ้นอยู่กับความใหญ่ - เล็กของภาชนะที่เราใส่ลงไป... เจ้าอยากจะเป็นน้ำถ้วยหนึ่งหรือน้ำสระหนึ่ง "

แง่คิด

           จิตใจกว้างขวาง ย่อมรับเรืองต่างๆ ได้มากมาย

           รสเค็มเปรียบเสมือนอุปสรรคขวากหนาม ความขมขื่นไม่น่าอภิรมย์ต่างๆ ในชีวิต

           ทุกชีวิตหนีไม่พ้นรสเค็ม แต่ทำไมคนบางคนจึงสามารถเดินผ่านรสเค็มเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกท้อแท้ห่อเหี่ยว ในขณะที่บางคนเดินผ่านรสเค็มเหล่านั้นไม่ค่อยได้

           พระอาจารย์ในนิทานเซนเรื่องนี้อุปมาอุปไมยได้อย่างแยบคายนัก เกลือถุงหนึ่ง หากใส่ลงไปในน้ำถ้วยหนึ่ง น้ำถ้วยนั้นย่อมเค็มปี๋ แต่ถ้าโรยลงไปในสระน้ำสระหนึ่ง ย่อมหารสเค็มจากน้ำในสระไม่ได้

           น้ำถ้วยเล็ก กับน้ำสระใหญ่ ก็คือจิตใจของคนเรา น้ำถ้วยเล็กหมายถึงจิตใจของคนที่ใจคอคับแคบ วิสัยทัศน์ไม่กว้างไกล ความรู้ไม่มากพอ น้ำสระใหญ่หมายถึงจิตใจของผู้ที่ใจคอกว้างขวาง วิสัยทัศน์กว้างไกล รู้มากรู้จริง

           น้ำถ้วยเล็กสามารถกลายเป็นสระน้ำใหญ่ได้ หากศึกษาพัฒนาตนอย่างถูกต้องและไม่หยุดหย่อน



By สุภาณี  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

No comments:

Post a Comment