Sunday, December 16, 2012

สัมมากัมมันตะ

สัมมากัมมันตะ

           พุทธศาสนาแบ่งการกระทำออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม สำหรับมรรคข้อ สัมมากัมมันตะ หมายและเน้นไปในส่วนที่เกี่ยวกับการประพฤติศีลทางกายกรรม พุทธศาสนาแนะนำข้อปฏิบัติให้บุคคลทั่วไปทั้งหญิงและชายอยู่ในกรอบแห่งศีล 3 ข้อที่เกี่ยวกับการกระทำทางกาย คือ งดเว้นจากการกระทำชั่ว ได้แก่ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักขโมย และการประพฤติผิดพรหมจรรย์

            นอกจากการละเว้นการกระทำที่เป็นบาปดังกล่าวแล้ว พุทธศาสนายังสอนให้ละเว้นการกระทำอันเนื่องมาจาก อคติ 4 ได้แก่ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักเพราะชอบ โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียดชัง โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลงผิดเพราะเขลา และ ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว นอกจากนี้ สัมมามันกัมมันตะที่สมบูรณ์ย่อมต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทที่ทางศาสนาเรียกว่า อัปปมาทะ อีกด้วย


            ปัญหาที่ส่าการกระทำเช่นไรจึงจะเรียกว่า บุญ หรือ กุศลกรรม กับ บาป หรือ อกุศลกรรม นั้นบางครั้งขึ้นอยู่กับความหมายที่เป็นอัตวิสัยอันเป็นเรื่องทางคุณค่าของแต่ละบุคคลในสังคม ประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงทางภววิสัยแล้ว กุศลกรรมย่อมหมายถึงการกระทำที่เป็นประโยชน์ ส่วนอกุศลกรรมหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดโทษ ทั้งต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อสังคมและต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะเป้าหมายทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อการเพาะบ่มยกระดับทางด้านจิตสิญญาณอีกด้วย

             นอกจากนี้ สัมมากัมมันตะ ยังเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช่ในการดำเนินชีวิตทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมือง พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ความยากไร้ คือแก่นของปัญหาที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมและการกระทำที่ไร้ศีลธรรม ซึ่งพุทธศาสนาเชื่อว่าสามารถจะกำจัดให้หมดไปได้ในระดับหนึ่งหากเราสามารถกำจัดความยากจนได้ ด้วยเหตุนี้การกระกอบสัมมากัมมันตะ คือการกระทำเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการให้กับทั้งตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และทางด้านวิญญาณ

            ในความหมายทางพุทธศาสนา การกระทำ การปฏิบัติถือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะคำว่า ธรรม หมายความได้หลายอย่าง อาจหมายถึง คำสอน หมายถึงธรรมชาติ และในพุทธศาสนานิกายเซน ธรรมะ หมายถึง ภารกิจ หรือ หน้าที่ ที่จะต้องกระทำอีกด้วย ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมย่อมหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และให้งานบรรลุเป้าหมายยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามารถเข้าใจถึงหลักความจริงตามธรรมชาติแห่งการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นไปตามกฏไตรลักษณ์ที่เน้นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่

            ดังนั้น การตระหนักและดำเนินชีวิตตามมรรคข้อนี้ จึงหมายถึง การปฏิบัติหน้าที่การงานของปัจเจกชน ที่มีความหมายในการส่งเสริมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและกลมกลืนกับระบบนิเวศน์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการประกอบผลบุญทางกุศลกรรม ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้าม ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นการทำบาป

            มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดีย เคยให้คำนิยาม " บาป ทางสังคม 7 ประการ " คือ "เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ หาความสุขสำราญโดยไม่ยังคิด ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงานมีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี ทำการค้าเสรีแต่ไม่มีศีลธรรม วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ "





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment