Saturday, December 29, 2012

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 9 )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 9 )

          เมื่อ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กระโดดขึ้นหลังอาชาแล้วับปากกาแทนอาวุธครั้งใด มักมีอะไรต่อมิอะไรชวนให้ติดตามสม่ำเสมอ ครั้งเมื่ออ่านเจอขุนช้างขุนแผน ( ฉบับอ่านใหม่ ) ในคอลัมน์ซอยสวนพลูซึ่งอยู่ประจำ นสพ. สยามรัฐรายวันนั้นก็น่าสนใจเป็นอันมาก หากแต่มิได้ปะติดปะต่อ พอมารวมเล่มถึงเสพเต็มๆ และคิดว่าน่าสนใจไม่น้อยทว่าความอร่อยเอร็ดล้วนๆ ถูกส่วนแห่งทัศนคติส่วนตัวของคนแต่งคนเขียนเบียดเบียนเสียส่วนหนึ่ง จึงจำต้องขอลองแสดงความคิดเห็นเป็นเชิงคัดค้านบางด้านบางมุมบ้าง อย่างถูๆ ไถๆ ก็อาจจะได้แตกตุ่มในภูมิปัญญาสำหรับผู้ศึกษาวรรณคดีโดวิเคราะห์

           เพราะว่านี่คือความเป็นสากล จักปะปนเอาอัตตาคติมาถือใช้มิได้เลย

           มรว.คึกฤทธิ์ เผยความในใจไว้ตอนหนึ่งดังนี้

           " ขุนช้างขนแผนได้บอกให้เรารู้ถึงอดีตตอนหนึ่งของคนไทยในรายละเอียดที่ถี่ถ้วนเป็นอย่างยิ่ง เป็นรายละเอียดชีวิตประจำวัน และรายละเอียดในกิจการงานตลอดอาชีพ ความเชื่อถือและประเพณีทั้งปวงของคนไทย ในสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาสิ้นสุดลงเอาในรัชกาลที่ 5 "

           เรื่อยมากระทั่งเข้าถึงเรื่อง

            " เมืองไทยเราแต่ก่อนมานั้นเป็นสวรรค์ของคอมมิวนิสต์ เพราะไม่มีชนชั้นกลางมีแต่ชนชั้นสูง ซึ่งอาจจับมาฆ่าทิ้งเสียเมื่อไหร่ให้หมดก็ได้เหมือนกับผึ้งตัวผู้ในรังผึ้ง และชนชั้นกรรมาชีพคือคนที่ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยมือและกำลังของตนเองซึ่งเหมือนกับผึ้งทำงาน

            มีแต่เจ้ากับไพร่ว่างั้นเถอะ แต่เจ้ากับไพร่นั้นถ้ารู้จักให้ดีจริงในสมัยที่ยังมีอยู่ให้เห็นได้ในเมืองไทยนั้นจะเห็นว่า มีความเป็นอยู่แม้แต่อาหารการกินใกล้เคียงกันเป็นที่สุด ไพร่กินน้ำพริก เจ้าเสวยน้ำพริกแกงต้มโคล้ง แกงเลียง แกงส้ม ซึ่งเป็นอาหารไพร่ ก็ใส่ในเครื่องเจ้านาย ขาดมิได้


            ไพร่ที่เคยอยู่ตามป่าดง กินแต่ข้าวเหนียวนั้น เมื่อถูกจับตัวมาเป็นข้าเจ้าอยู่ในเมื่องหลวง ก็ต้องกินข้าวเหลือเจ้า คือข้าวที่เรียกกันว่าข้าวเจ้า ในที่สุดก็กินเหมือนกันอีกนั่นแหละ

            ทางด้านศีลธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศ ไพร่กับเจ้าเหมือนกันคือพูดถึงเรื่องนี้ด้วยคำพูดอย่างเดียวกัน มีอารมณ์ขันที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อพูดจากันเรื่องเพศมักจะพูดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ใช้ศัพท์ที่ตรงไปตรงมา กล่าวคือใช้ถ้อยคำในภาษาอังกฤษของชนชั้นกลางเรียกว่า คำสี่อักษรแล้วก็ไม่ต้องใช้คำอื่นแทน "

             ( ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ 1-2-3 )

             ข้อความทั้งหมดที่เห็นจับประเด็นได้ว่า ฐานันดรสมัยก่อนของเรามีแต่เจ้ากับไพร่และมีความเป็นอยู่ใกล้เคียงไม่ว่าเรื่องบนเตียงหรืออาหารการกินต่างๆ นานา

              คงต้องมาว่ากันถึงรายละเอียดอันยาวเหยียดทีละเปราะๆ เพราะมันเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่แต่ละข้อๆ พอดิบพอดี

              ที่ มรว.คึกฤทธิ์คิดและกล่าวว่ามีเจ้ากับไพร่ในสมัยก่อน ค่อนข้างจะผิดลักษณะวิสัยด้วยสมัยนั้นมีชนชั้นอยู่ 3 สถานะ แต่มักจะปะปนชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางแท้ๆ ของไทยคือไพร่นี่แหละ และคนระดับสูงก็คือฝูงข้าราชบริพารซึ่งมีการงานตามระบบศักดินาครบ 400 ไร่ขึ้นไปจรด 10,000 ไร่ ไพร่นั้นต้องมีนาย ในขณะเดียวกันไพร่อาจเลื่อนขั้นเลื่อนฐานะอาจจะมีทาสเป็นบ่าว พวกระดับเจ้ามักจะผสมผสานเป็นบ่าวไพร่ไป พูดง่ายๆ ไพร่พื้นๆ อาจเลื่อนขึ้นเป็นคนชั้นสูงได้แต่ทาสนั้นไม่ได้เลย ลองยกเทียบเปรียบเปรยจากขุนช้างขุนแผนดูเป็นตัวอย่าง ขุนช้างขุนแผนฐานะเหนียวแน่นคือไพร่มีระดับ ยิ่งขุนช้างมีสินทรัพย์จับจ่ายมากมาย จึงมีทาสหลายนายคอยรับใช้ไม่ขาดตอนพิเคราะห์ดูบทกลอนช่วงนางพิมอาบน้ำริมตลิ่งแล้วขุนช้างยืนยิงฟันแยกเขี้ยวลอดเลี้ยวแอบดู ดังนี้

พร้อมด้วยข้าไทอยู่ก่ายกอง

กับนางสายทองผู้เป็นพี่
ถึงท่าผลัดผ้าด้วยยินดี
ลงน้ำแล้วก็สีซึ่งเหงื่อไคล


อีมาอีมีอีสีเสียด

อีเขียดชักชวนกันเล่นไล่
ใครจะซ่อนใครจะหาก็ว่าไป
เปรียบหนีเปรียบไล่ให้อยู่โยง


ปะเปิงเริงแมวแอวออก

นอกซ่อนนางจันกระโต้งโห่ง
จำเพาะลงที่อีโคกโยกโก้งโค้ง
กระโดดโผงลงน้ำดำผุดไป


อีมาอีมีอีสีเสียด

อีเขียดดำหนีอีโคกไล่
อีรักหนักท้องไม่ว่องไว
อีโคกกระโชกใกล้เข้าทุกที


อ้ายโห้งโก้งโค้งอยู่กอแขม

แพลมหัวปอหลอหัวร่อฉี่
ขุนช้างขัดใจคว้าไม้ตี
อ้ายโห้งจึงชี้ให้นายดู


นั่นแน่แม่พิมอยู่ริมตลิ่ง

นมโตจริงจริงสีตัวอยู่
ขุนช้างด่ามึงอย่าว่าแม่ของกู
อีปูแสมนั่นแหละแม่ของมึง

            พึงรู้ว่าบรรดาอ้ายและอีที่กล่าวชื่อยาวย้ำหลายคำกลอนล้วนมีฐานันดรเป็นทาส อาจพูดจาประสาเดียวกับนายได้ แต่ขืนไปทะลึ่งตึงตังกับฝูงชั่นสูงมีหวังยุ่งยาก โดนถูกลากลิ้นปลิ้นเหงือกเอาง่ายๆ

             การเป็นมูลนายสบายเพียงไร ไพร่จึงต้องตะกายให้ถึงเพื่อจะรับเอาอภิสิทธิ์นั้นบ้าง ต้องให้ทางท่านสมภารคงบ่งชี้เอา ( ตอนเณรแก้วเข้าหาจะลาสึก )

ฆราวาสชาตินี้มันชั่วนัก

จะสึกไปให้เขาสักเอ็งหรือหวา
ข้อมือดำแล้วระกำทุกเวลา
โผล่กับบ่าแบกกันจนบรรลัย


ถ้ามูลนายรักมั่งจะยังชั่ว

เอ็นดูตัวหาให้ทำงานหนักไม่
แม้นชังก็จะใช้ให้เจ็บใจ
เลื่อยไม้เลื่อยซุงสาละพา "

             มรว. คึกฤทธิ์ยังเปรียบว่าคนชั้นสูงเหมือนกับฝูงผึ้ง ตัวผู้อยู่ในรังเอาแต่นั่งกินเป็นที่หมิ่นแคลนของคอมมิวนิสต์ซึ่งคิดร้ายจะจับไปฆ่าตายให้หมด

             ขอนอกบทสักนิด ที่ มรว.คึกฤทธิ์เปรียบนั้นเปรียบกันมิได้เพราะใสังคมผึ้ง หน้าที่หลักซึ่งทุกตัวต้องมีและต้องที่กระทำคือให้ความสำคัญแก่พันธ์เผ่าแล้วรักษาเอาความแข็งแกร่งให้คงไว้ไม่ขาด บทบาทของตัวผู้อาจดูไม่มากหากแต่ถึงวันที่จะต้องปฏิบัติ มันจะสลัดชีวิตบินตามติดนางพญา ( ที่ใหญ่กว่า ) จนกว่าจะเหลือตัวผู้อยู่หนึ่งเดียวผู้เชี่ยวแกร่งเพื่อจะได้แฝงฝากความรักสำหรับอาณาจักรใหม่ ไม่มีตัวผู้ใดในรังจะเหลือรอดมานั่งๆ นอนๆ 

              ฐานันดรของผึ้งจึงไม่มี มีแต่หน้าที่ที่ต้องกระทำตามธรรมชาติเป็นทั้งทาสทั้งเจ้าของเผ่าพันธ์ประการแรก

              แต่ที่ดูแปลกแยกจริงๆ จังๆ คงเป็นคำพูดว่าทั้งเจ้าทั้งไพร่มีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันด้านการเสพ แล้วสังเขปคำว่าข้าวเจ้าว่ามาจากข้าวเหลือของเจ้า

              ขอให้เราหันมาภาษาทางภาคพายัพ เขาเรียกศัพท์ข้าวเจ้า ( จ้าว ) ต่างๆ ดังนี้ ข้าวเจ้า ( จ้าว ) หมายถึงข้าวที่พองตัวได้มากหากถูกน้ำ ( คำว่าจ้าวแปลว่าพองขึ้น ) ตรงข้ามกับข้าวอื่นๆ เช่น ข้าวเหนียวซึ่งพองตัวได้น้อยนิดเดียว

              ( อนึ่งข้าวจ้าวที่สุกแล้วเขาเรียกว่าข้าวหุง ) การกินกับข้าวของทาสไพร่จะไม่ยุ่งยากมาก หากมีการรณรงค์สงคราม พวกไพร่ทาสต้องฟาดน้ำฟาดข้าวปลาที่หาเองทั้งสิ้น อาหารการกินก็มีชื่อคล้ายๆ ของพวกเจ้านายแต่ไม่ได้วิลิศมาหราถึงขนาดภาชนะก็ธรรมดาๆ

             ที่ว่าใกล้เคียงน่าจะเป็นเพียงชื่อหรือไม่ก้อรสชาติฝาดๆ เท่านั้น

             จะสรรยกตำรับกับข้าวของเจ้านายว่าเป็นคนละฝ่ายคนละฝาจากคณาทาสไพร่อย่างไรบ้าง รวมถึงความแตกต่างทางเพศรส ซึ่งปลดเปลื้องกันคนละเรื่องคนละราว






By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )

No comments:

Post a Comment