Saturday, December 29, 2012

ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ ( บทที่ ๒ )

ธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ ( บทที่ ๒ )
สังคมนิยม : ความหมายและรากฐาน

สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา

          " สำหรับคำว่า " สังคมนิยม " คำนี้ ทุกคนได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้ว และรู้จักกันในฐานะที่เป็นชื่อของระบบการเมือง หรืออุดมคติทางการเมืองอย่างหนึ่ง และโดยส่วนใหญ่ก็เล็งถึงระบบที่เป็นข้าศึกต่อเสรีประชาธิปไตย พอพูดถึงสังคมนิยมความคิดของคนสมัยนี้ก็แล่นไปถึงคอมมิวนิสต์หรืออะไรทำนองนั้น แต่ที่เราจะพูดกันในวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกันกับคำนั้น ในความหมายอย่างนั้น คือเป็นสังคมตามหลักแห่งพระศาสนา

           ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัดนี้เราจะพูดกันถึงสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งจะเป็นศาสนาไหนก็ได้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ตามหลักของธรรมชาติ ขอให้ทำความรู้สึกสำหรับจะฟัง ความหมายของคำๆ นี้ ตามหลักแห่งพระศาสนาโดยตรง ความรู้สึกของผู้ฟังขณะนี้ควรจะเกลี้ยงเกลาไปจากความคิดเรื้อรังต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนว่า ขึ้นชื่อว่าสังคมนิยมละก็ ต้องเป็นระบบชนกรรมชีพที่ยื้อแย่งนายทุน หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกันเลย

            ทีนี้ขอให้ทบทวนถึงเรื่องที่เราพูดกันในครั้งที่แล้วมา คือ เรื่องศีลธรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้วก็จะเข้าใจเรื่องนี้โดยถูกต้องสมบูรณ์ และโดยง่ายเราจะต้องนึกถึงคำว่า " ศีลธรรม " ในแง่ที่ว่าศีลธรรมเป็นเหตุให้เกิดความปรกติ และเป็นภาวะแห่งความปรกติ นี่ก็แล้วแต่ว่าจะเล็งกันในฐานะที่เป็นเหตุ หรือเป็นผล ถ้าศีลธรรมถูกมองไปในลักษณะที่ เป็นเหตุหรือเครื่องมือหรืออะไรก็ตามที่จะทำความปรกติ แต่ถ้า เป็นผล ก็คือแสดงออกมาแล้วก็เป็นภาวะแห่งความปรกติ...


            เราจะดูกันว่าสังคมนิยมเป็นศีลธรรมระบบหนึ่งอย่างไร ? ถ้าพูดอย่างเอาเปรียบกว้างๆ ไว้ทีก่อนก็คือว่า การจัดระบบที่ทำให้สังคมเป็นปรกติหรือเป็นปรกติสุขนั่นแหละจึงเรียกว่าสังคมนิยม ถ้ามันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายก็จะเป็นเรื่องความไร้ศีลธรรมในสังคม แต่ก็ยังเป็นปัญหาของสังคมอยู่นั่นเอง "

เจตนารมณ์ของสังคมนิยมเป็นธรรมสัจจะที่มีอยู่ในธรรมชาติ

            " พูดกันอย่างธรรมสัจจะอย่างตั้งต้นไปไหม่... ธรรมสัจจะนี่คือตัวแท้ตัวจริงของธรรม ของธรรมะก็ได้ ของธรรมชาติก็ได้ เป็นสิ่งเดียวกัน ตัวแท้ตัวจริงของธรรมชาตินั้นก็เป็นสังคมนิยม คือว่ามันไม่มีอะไรที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ มันต้องอาศัยกันและกัน ไม่มีแผ่นดินต้นไม่จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีต้นไม้แผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร หรือว่าน้ำจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีแผ่นดิน

            ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมที่มนุษย์จะอยู่เป็นสุขสบายนี้ มันมีอะไรแต่เพียงสิ่งเดียวไม่ได้ มันต่อเนื่องกันหลายๆ อย่าง ดูให้ลึกลงไปอีกว่า ถ้ามันมีแต่ธาตุดินมันจะมีประโยชน์อะไร มันต้องมีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เป็นต้น ถ้ามันเนื่องกันสัมพันธ์กันอย่างดี มันถึงจะมีอะไรขึ้นมาได้และเป็นธรรมชาติดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่นี้ ว่าเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นต้นไม้บ้าง เป็นแผ่นดินบ้าง เป็นห้วย หนอง คลอง บึง บางอะไรต่างๆ อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ความชื้นพอดี มีความบอุ่นพอดี มีอะไรพอดี มันจึงมีชีวิตอยู่อย่างนี้ได้

            หรือว่าในคนๆ หนึ่งนั้น ก็มีเจตนารมณ์ของสังคมนิยม คือต้องมีอะไรๆ หลายๆ อย่าง ทำงานสัมพันธ์กันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ เรื่องนี้พวกที่ได้เล่าเรียนมาในทางสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์การหมอก็รู้เรื่องดี ตาก็เนื่องกับหู หูก็เนื่องกับจมูก จมูกก็เนื่องกับปาก ไม่มีอะไรที่จะแยกอยู่ตามลำพังได้ แต่ว่าถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้ เพราะจะสังเกตเอาเองก็จะเห็นได้ยากเต็มที แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าไม่มีทางผิด ที่เราจะพูดว่าอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายต้องร่วมกันทำงาน ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายจึงจะอยู่ได้ ดังนั้น วิญญาณแห่งสังคมนิยมมีอยู่ในตัวคนทุกคน จะต้องอยู่กันด้วยความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง

            ที่เราเรียกว่าความรักความสามัคคีนั้น นั้นจึงจะเป็นสังคมนิยมที่เป็นที่พึ่งได้ ถ้าเป็นการเกี่ยงงอนเกี่ยงแย่ง ทะเลาะวิวาทกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน สำหรับจะประหัตประหารกัน ก็จะเป็นสังคมนิยมบ้าอยู่ในโลกนี้

            แม้ในหมู่สังคมนิยมเองมันก็ยังแข่งฆ่ากัน เพราะมันมีหลายแบบแต่ถ้าเป็นความถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติแล้วมันจะมีแต่เพียงแบบเดียว ก็เลยไม่รู้จะฆ่าใครเพราะไม่มีข้อขัดแย้ง

            ที่ว่าสังคมนิยมก็ต้องหมายถึงว่า มันอยู่ด้วยกันได้ เพราะว่าสังคมนิยม คือ ความรวมอยู่กันได้ไม่มีข้อขัดแย้ง ถ้ามีข้อขัดแย้งมันก็มีไม่ได้ คือมนุษย์พวกหนึ่งเอาเปรียบ พูดเอาข้างเดียว ให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดเสมอ ยกตัวเองเป็นฝ่ายถูก นี้ไม่มีวิญญาณแห่งสังคมนิยมเลย

            นี่เรียกว่าเราดูโดยทรรศนะกว้างๆ ในธรรมสัจจะของธรรมชาติ ว่าสิ่งที่มันมีอยู่ได้นี่มันก็มีวิญญาณแห่งสังคมนิยมทั้งนั้น และที่มันเนื่องกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ก็มีอยู่มาก เราก็ยังไม่รู้สักทีไม่ค่อยมองเห็นสักที เรียกว่ายังขาดความรู้ด้านนี้อยู่มากทีเดียว

             ยกตัวอย่างเช่น จะพูดขึ้นมาสักข้อหนึ่งว่า ถ้าไม่มีพวกนกเล็กๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในวัดนี้ ไม่มีนกประเภทนี้แล้วคนก็จะตายหมด พูดอย่างนี้ถ้าเป็นนักพฤกษศาสตร์อยู่บ้างก็คงจะฟังออก แต่คนทั่วไปคงฟังไม่ออกว่า ถ้าไม่มีนกเล็กๆ นี้แม้แต่สักตัวเดียวแล้วคนจะต้องตายหมด นั่งดูเถอะจะเห็นว่าพวกนกเล็กๆ นี้มันช่วยปราบศัตรู คือ หนอนที่จะคอยกินยอดไม้ หนอนที่จะกัดกินยอดไม้ นกเล็กๆ มันเป็นผู้ปราบวันหนึ่งตั้งพันตัวหมื่นตัวแสนตัว นกตัวหนึ่งจะทำลายหนอนชนิดนี้นับเป็นร้อยๆ ตัวพันๆ ตัวต่อวัน แล้วนกเท่าไร แล้วหนอนกี่ล้านเล่าที่ปราบไปแล้ว ต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี ถ้าว่ามันไม่มีนกพวกนี้มันก็มีแต่หนอน ความไม่สมดุลได้เกิดขึ้น ก็มีแต่หนอนก็กัดกินยอดไม้ จนต้นไม้ทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกกัดกินยอดอ่อนหรือกินบางส่วนของมันหมด จนต้นไม้จะต้องตายลงทั้งแผ่นดิน ถ้าต้นไม้ตายหมดทั้งแผ่นดินแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือความร้อนระอุแห้งแล้ง หรือว่าโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดอย่างหนึ่งจะประดั่งกันเข้ามาทีเดียว แล้วมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้จะต้องตาย ถ้าไม่มีนกเล็กๆ เหล่านี้แล้ว ฝนก็ไม่ตกลงมา นี่พูดสั้นๆ ว่าถ้าไม่มีนกเล็กๆ เหล่านี้แล้วมนุษย์จะตายหมด นี่บางคนก็จะฟังไม่ถูก

             ปู่ย่าตายาย บรมโบราณเขาก็รู็เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงสอนไปในทางที่ว่าให้กระทำไปในทางที่ชีวิตทั้งหลายมันอยู่ด้วยกันได้ และเมตตาปรานีกันให้ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มันมีอยู่ในเวลานี้ได้มันก็เพราะว่ามันทำสังคมกัน สหกรณ์กัน ประพฤติประโยชน์ร่วมกัน นี่เป็นฝีมือของธรรมชาติ หรือว่าถ้ามันไม่มีธรรมชาติข้อนี้ มันก็ตายหมดแล้ว เราก็ไม่ได้มานั่งพูดกันอย่างนี้ ทีนี้ธรรมชาติมันมีของอย่างนั้นมันจึงรอดอยู่ได้ แล้วเราก็ได้มานั่งพูดอยู่นี้

             สำหรับผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีก็จะยึดหลักนี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คือช่วยประคับประคองให้ทุกอย่างมันมีอยู่ตามที่ธรรมชาติต้องการหรือที่พระเจ้าต้องการ เพราะฉะนั้นเขาจึง ทำนาเผื่อลิง เขาคิดว่าลิงนี้จะต้องมีอยู่ในโลก  จึงจะมีความสมดุลในโลก นี่มันสังคมนิยมลงไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงคนด้วยกันก็ได้

จุดตั้งต้นของอุดมคติสังคมนิยม

            " ...ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ขอให้อดทนหน่อยในการที่จะย้อนกลับไปพิจารณา คือ ถอยหลังเข้าไปให้มากๆ จนไปพบว่าจุดตั้งต้นของอุดมคติที่ว่า " สังคม " นั้นคืออะไร ? อยู่ที่ไหน ? เมื่อไร ?

            คำว่า สังคมนิยม ควรจะเป็นความหมายของคำว่า politics เพราะ politics นี้หมายถึง ปัญหาของคนมาก สังคมก็คือคนมาก แล้ว " นิยม " ก็คือการเพ่งเล็งเรื่องที่เกี่ยวกับคนมากนั้น อาตมาอยากจะขอร้องให้มองไกลลิบลงไปจนถึงเรื่องของธรรมชาติว่า ธรรมชาติอันบริสุทธินั้นเป็นเรื่องของสังคมนิยม ไม่ใช่เสรีนิยม ถ้าเป็นเสรีนิยมแล้วจะวินาศหมดตั้งแต่แรกสร้างโลก จะตายหมด แล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ แต่เพราะความที่มันเป็นสังคมนิยมอยู่ในตัวมันโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ ที่ยังไม่มีชีวิตจิตใจอะไร ไม่มีความคิดนึกอะไร มันจึงอยู่รอดมาได้

           ขอให้นึกถึง " ธรรมชาติ " มาตั้งแต่เมื่อแรกโลกนี้ออกมา จะมาจากดวงอาทิตย์หรือมาจากอะไร ก็ตามนั้น มันมาเย็นลงเป็นก้อนหินอะไรก้อนหนึ่ง แล้วมันค่อยสลายตัวไปเป็นฝุ่นเป็นละอองไป แล้วรวมตัวกันเป็นธาตุนั้นธาตุนี้ มันเป็นเรื่องของสิ่งที่มาก ไม่ใช่เรื่องของสิ่งเดียว กระทั่งมามีการหมักหมมเกิดสิ่งที่เรียกว่า " ชีวิต " ขึ้นมาในน้ำ เป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นสัตว์หลายเซลล์ขึ้นมาตามลำดับ

            สิ่งที่จะต้องมองดูให้เห็นก็คือ มันมีความลับอันหนึ่งที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ คือ ข้อที่ว่ามันจะต้องมีอะไรที่พอเหมาะพอดี ที่สิ่งมากๆ เหล่านั้นมันจะอาศัยใช้ร่วมกันอยู่ได้ นี่คือ " เจตนารมณ์ของสังคมนิยม " ที่ธรรมชาติจัดให้มา สำหรับให้ถือเอาส่วนสัดกันพอดี เกิดพอดีไม่ได้ คือกอบโกยไม่ได้นั่นแหละ ดังที่จัดท้องสำหรับใส่อาหารให้มาเพียงเท่านี้ สำหรับร่างกายเพียงเท่านี้ ไม่มีการกอบโกยอย่างเสรีมาใส่ไว้ในยุ้งฉาง เสรีภาพในการกอบโกยถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างเฉียบขาด

            สัตว์เซลล์เดียวหรือสัตว์ของเซล์เกิดแล้ว แบ่งออกได้เป็นกี่เซลล์ จนกระทั่งออกมาเป็นพืชพันธ์ไม้กระทั่งออกมาเป็นสัตว์เล็กๆ กระทั่งออกมาเป็นสัตว์เดรัจฉานทั่วไป กระทั่งมาเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งสัตว์ เช่น ลิงหรืออะไรก็ตาม กระทั่งมาเป็นคนในอันดับแรกสุด เป็นคนป่าที่ยังไม่มีวัฒนธรรมอะไรเลย เหล่านี้มีลักษณะเป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ คือ ธรรมชาติไม่อำนวยให้ใครกอบโกยได้ เพราะทำไม่ได้ เพราะไม่มียุ้งไม่มีฉาง

            เราดูนก จะเห็นมันกินอาหารเฉพาะที่กระเพาะมีไว้ให้เท่านั้นแหละ มันเก็บกินกว่านั้นไม่ได้ มันไม่มียุ้งฉางดูลงไปถึงแมลง มันก็ทำได้เพียงเท่านั้น ดูไปถึงต้นไม้ ต้นไม้ก็กินอาหารกินน้ำไม่ได้ เท่าที่ลำต้นมันมีอยู่ มันจะทำให้เกินนั้นไม่ได้ ฉะนั้นระบบที่ใครไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่กอบโกยอะไรของใครได้ดังนี้ เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปโดยอัตโนมัติจึงทำให้เป็นสังคมอยู่ได้ และเป็นสังคมมาเรื่อยๆ จนมีต้นไม้มากมาย จนมีสัตว์เดรัจฉานมากมาย จนกระทั่งมีคนขึ้นในโลกมากมาย เสรีภาพแห่งการกอบโกย ถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น ในรูปแบบของสังคมนิยม โดยน้ำมือของธรมชาติเช่นนี้

           คนป่าในระยะแรก ครึ่งคนครึ่งสัตว์หรือว่าเป็นคนๆ พอที่จะเรียกว่าเป็นคนป่า นี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งธรรมชาติคุมไว้ ไม่ให้เอาส่วนเกินควบได้ ก็เลยไม่มีปัญหาทางสังคม เพราะเป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ เป็นความถูกต้องจึงรอดชีวิตมาได้หลายแสนปีหรือ กี่ปีก็ตามใจ มาเป็นพวกเราสมัยนี้เพราะว่าได้อยู่มาในลักษณะที่ถูกต้องของธรรมชาติที่มันจุนเจือกัน

           ทีนี้ปัญหาเริ่มต้นที่ตรงไหน ? ก็เริ่มตั้งต้นตรงที่มีมนุษย์อุตริบางคนเริ่มรู้จักกอบโกย ก็เป็นมนุษย์คนแรกในโลกที่รู้จักสร้างยุ้งฉางสำหรับกอบโกย แล้วมีสติปัญญาสำหรับผลิต ก็แย่งผลิตแย่งเก็บ แย่งอะไรต่างๆ มาไว้ที่ตัวมากเกินไป เกินความจำเป็น ปัญหาก็ตั้งต้นที่ตรงนี้

           ปัญหาสังคมมันตั้งต้นตรงที่เริ่มมีการกอบโกย เริ่มมียุ้งฉาง เริ่มมีความคิดนึกที่จะสะสมกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจ กำลังอะไรต่างๆ เพื่อจะเอาเปรียบคนอื่น ฉะนั้น ปัญหาทางสังคมนิยมก็เกิดขึ้นทันที เพราะว่า มนุษย์แยกทางเดินเสียจากทางที่ " พระเจ้า " กำหนดให้แล้ว ส่วนที่ธรรมชาติหรือ " พระเจ้า " กำหนดให้ นั้นเป็นไปในรูปของสังคมนิยมที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้อยู่กันมาได้

            เดี๋ยวนี้คนเริ่มใช้เสรีนิยม ต้องการจะเอาให้มาก แม้เรื่องภาษาบาลีก็มีอยู่ว่า คนๆ หนึ่งอุตริคิดว่า " การที่จะไปเก็บข้าวสาลีในป่ามากินอย่างนี้ประจำวันนั้นไม่ถูกต้องและไม่ดี เราจะไปเอามาไว้ทีละมากๆ เลย " แล้วคนนั้นก็เลยไปเอามากักตุนมากๆ มากยิ่งขึ้นทุกทีจนคนอื่นขาดแคลน มันก็มีปัญหาที่แต่ละคนจะต้องต่อสู้กันต่อไปอีก จนมีระบบเศรษฐกิจระบบอะไรขึ้นมาในโลกเพื่อสังคมหนึ่งๆ ซึ่งมันเป็นเรื่อง ปั่นป่วนรวนเรทางศีลธรรมของธรรมชาติ

            ทีนี้ขอให้นึกถึงคำว่า " ศีลธรรมตามธรรมชาติ " อีกทางหนึ่งเถิดว่า ที่เป็นปรกติอยู่ได้ตามธรรมชาตินั่นแหละคือรากฐานแห่งคำว่าศีลธรรม นับตั้งแต่ก้อนหินมันปรกติอยู่ได้ เม็ดกรวดเม็ดทรายกระทั่งต้นไม้ก็ปรกติอยู่ได้ มดแมลงเป็นปรกติอยู่ได้ นี่เป็นเรื่องศีลธรรมโดยธรรมชาติโดยไม่มีเจตนาของผู้ใด แล้วนั่นแหละคือรากฐานอันแท้จริงของศีลธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมนิยมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ

วิญญาณแห่งสังคมนิยม ธรรมสัจจะแห่งสังคมนิยม

           " คำว่าสังคมนิยมได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า มันเป็นสิ่งที่ธรรมะจัดขึ้น หรือเป็นธรรมสัจจะของธรรมชาติมันจัดขึ้น ไม่ใช่ใครจัด ส่วนมนุษย์เรานี่ไม่ต้องพูดละ ไม่มีความสามารถอะไรที่จะไปจัด จัดคนหรือว่าจัดโลก หรือว่าจัดธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมชาติอันลึกซึ้ง อันใหญ่หลวง มันจัดให้เป็นมาอย่างนี้ ให้รอดกันมาได้ในลักษณะอย่างนี้ ด้วยวิญญาณแห่งสังคมนิยม ถ้าไม่มาในรูปนี้มันตายหมดแล้ว ไม่เหลืออยู่จนถึงบัดนี้ โดยเหตุที่มันมาในรูปนี้ โดยการจัดของธรรมชาติ มันจึงเหลืออยู่ ฉะนั้นควรจะขอบคุณสิ่งที่เรียกว่า สังคมนิยมที่เป็นเจตนารมณ์ของธรรมชาติ จะเรียกว่าสัจธรรมของธรรมชาติก็ได้ ที่จะจัดให้สิ่งต่างๆ เป็นมาในแบบนี้ในรูปนี้ มีความหมายเป็นสังคมนิยมโดยสมบูรณ์

           ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ในร่างกายคนนี้ก็ต้องมีระบบสังคมนิยมมันจึงรอดมาได้ ในหมู่บ้านก็มีระบบสังคมนิยมมันจึงรอดอยู่ได้ กระทั่งทั่วทั้งโลก มันจะน่าหัวมากที่เดียว ถ้าเราจะพูดว่า ในระบบจักรวาลมันเป็นสังคมนิยม ถ้าไม่เป็นเมื่อไหร่มัจะต้องวินาศ เราก็เรียนวิทยาศาสตร์เรื่องโลกเรื่องจักรวาล เรื่องจักรวาลทั้งหมดในโลก ในสากลจักรวาล มันก็เป็นระบบสังคมนิยม ดวงดาวไม่รู้ว่ามีมากมายเท่าไหร่ในท้องฟ้านั้น มันอยู่กันด้วยระบบสังคมนิยมมันถูกต้องอยู่ตามระบบสังคมนิยม จักรวาลนั้นมันจึงอยู่รอดได้ จักรวาลของเราเล็กๆ นี้มีพระอาทิตย์เป็นแม่ มีดาวเคราะห์นั้นนี่รวมทั้งโลกนี้ด้วยเป็นบริวาร มันก็อยู่กันอย่างระบบสังคมนิยม แบบอธรรมไม่เป็๋นอธรรม ไม่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่รู้จักธรรมสัจจะของธรมชาติ "

พิจารณาสังคมนิยมของคาร์ลมาร์กซ

           "... สังคมนิยมอย่างที่เรามีอยู่ในโลกนี้มันเป็นเพียงสัจจาภินิเวส ความคิดเห็นที่เชื่อว่าเป็นความจริงเฉพาะถิ่น เฉพาะกาล เฉพาะปัญหา ไม่ใช่ของธรรมชาติ ไม่อาจจะใช้ได้ตลอดกาล เราจะยกตัวอย่างสักรายหนึ่งก็ได้ ที่เป็นเจ้าตำรับสังคมนิยม อย่างที่คนเราเรียกว่า คาร์ลมาร์กซ ที่ตั้งลัทธิมาร์กซิสม์ ก็เป็นต้นตอของสังคมนิยม กระทั่งสังคมนิยมเข้มข้นที่สุด เป็นคอมมิวนิสซัม นี้ก็เป็นสังคมนิยม เพราะทำด้วยเจตนาที่จะทำสังคมให้มีสัติภาพหรือสันติสุข แต่เราจะต้องดูให้ดีว่า ปัญหามันเกิดขึ้นอย่างไร ? แล้วเขามองเห็นปัญหาเหล่านั้นลึกซึ้งถึงกฏเกณฑ์ของธรรมชาติหรือไม่ ?

           ข้อแรกที่จะต้องดูก็คือว่า สถานการณ์ในยุคสมัยที่ คาร์ลมาร์กซ เกิดขึ้นนี้มันเป็นอย่างไร ? สถานการณ์อันเลวร้ายนั้น มันเกิดมาจากสังคมที่มันทิ้งพระเจ้า สังคมมันทิ้งพระเจ้า ทิ้งธรรมะ ทิ้งศาสนามาแล้วตามลำดับแล้วมันก็รุนแรงขึ้น ในยุคที่คนๆ นี้เกิด คือ ในยุคที่เกิดช่องว่างระหว่าง คนมั่งมีกับคนยากจนเป็นไปสุดเหวี่ยง หรือคนมีอำนาจกับคนไม่มีอำนาจห่างกันสุดเหวี่ยง คนฉลาด กับคนโง่เกิดห่างกันสุดเหวี่ยงเป็นปัญหาสังคม

            เวลานั้นมันเลวร้ายอย่างกับว่าไฟไหม้บ้าน ก็น่าเห็นใจ ที่ว่าจะดับกันทันทีเฉพาะกาลหรือ เฉพาะหน้าอย่างไร เพราะว่าคนส่วนใหญ่นั้น มันเริ่มเป็นทาสของวัตถุนิยมมาแล้ว มันไม่มีจิตสงพอ ที่จะย้อนหลังไปหาพระเจ้า หรือไปหาพระธรรม ไม่ทันเวลาที่จะรอการแก้ไข ด้วยวิธีสังคมนิยมตามแบบ ของพระเจ้า มันก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องแก้ไขอย่างขอไปที นี้คือชนิดที่ว่าจะใช้อำนาจ พละกำลัง อะไรแก้ปัญหาไปที...

            ถ้าเราจะดูกันให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ในยุค คาร์ลมาร์กซ นี้ พวก idealism มันคงบ้ามากเกินไป คือ พวกอุดคติมันเพ้อเจ้อจนใช้อะไรไม่ได้ ฉะนั้น เขาจึงไม่คิดแก้ปัญหาด้วยอุดมคติ หรือเรื่องทาง จิตตนิยม มันก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่ แม้ว่าในยุคนั้นจะมีพุทธศาสนาแผ่ไปในโลก มันก็ไม่ไปถึงที่นั่น...

            ทีนี้ยังมีความเหลวแหลกของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเสียเอง เข้ามาแทรก ศาสนาคริสเตียนนั้น เป็นแน่นอนศาสนาหนึ่ง ทุกศาสนา ก็มีเจ้าหน้าที่ทางศาสนา ที่กบฏต่อศาสนาโดยไม่รู้สึกตัว มันเป็นยุคที่ กำลังเหลวแหลกทางศาสนาในยุโรป ไม่มีช่องทางที่ว่า ระบบพระธรรมหรือของพระเจ้านี้ จะมาแสดงให้เห็นว่า มนุษย์จะรอดได้โดยระบบนี้ ทุกคนมันหูอื้อตาลายไปหมด ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นธรรมะ หรือกฏของธรรมชาติ ก็ต้องใช้วิธีเฉพาะกาลเฉพาะหน้า            

           นอกจากความเหลวไหลของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาในส่วนตัวแล้ว มันยังทำให้ถูกมองไปในระบบ ที่เรียกว่าเป็นศักดินาไปเลย อุดมคติและเจ้าหน้าที่ของศาสนาถูกมองไปในระบบศักดินา เห็นแก่ตัว มีอำนาจมีโอกาสที่จะเห็นแก่ตัว มันสูญความหมายของคำว่า " ศาสนา " พระเจ้าไม่มีวี่แวว...

            เพราะฉะนั้น เมื่อพระก็กลายเป็น royalist หรือเป็น royal priest เป็นพระของเจ้านายไปเลย เป็นพระที่เป็นเจ้านายเสียไปเอง แล้วเขาจะเข้าใจอย่างไร ? เขาก็ต้องเข้าใจว่า มันใช้ไม่ได้ ศาสนา มันใช้ไม่ได้

            ทีนี้ทางฝ่ายชนกรรมาชีพในขณะนั้น มันก็แสนหิว แสนจะเดือดร้อนใครจะช่วยปัดเป่า มันก็ต้องมีลัทธิขอไปที ที่จะต้องใช้อำนาจใช้กำลัง ที่จะแก้ไขปัญหาข้อนี้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่า เป็นความคิดที่ มันเกิดมาจากเหตุผลเฉพาะหน้า มันจึงไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นสังคมนิยมสมบูรณ์ตามแบบของพระเจ้า หรือของ
ธรรมชาติไปได้เลย นี่มันไม่ใช่ระบบของพระเจ้า มันไม่ใช่ระบบของธรรมชาติอันแท้จริง

            สรุปความว่า ชนชั้นปกครองในขณะนั้น ก็ไม่ประกอบไปด้วยธรรม แล้วการศึกษาก็ไม่ระกอบ ไปด้วยธรรม แม้แต่ศาสนาก็ไม่เป็นที่พึ่ง เพราะว่าละทิ้งคุณค่าอันแท้จริงของศาสนาเสียหมดแล้ว ฉะนั้น เราจึงยอมรับว่า มันก็จำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนั้น มันทำได้ดีเพียงเท่านั้น ที่มนุษย์ในโลกนี้ จะมีระบบ สังคมนิยมขึ้นมาแก้ปัญหาชนิดรุนแรงด้านเดียว มันไม่ใช่ระบบสังคมนิยมของพระเจ้า แต่เป็นระบบสังคมนิยม ตามความนึกคิดของคนบางคน ในลักษณะที่เป็นสัจจาภินิเวส ไม่สูงสุดถึงธรรมชาติเลย "






By พุทธทาสศึกษา

No comments:

Post a Comment