Sunday, December 09, 2012

ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจงรวมตัวกันเข้า

ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจงรวมตัวกันเข้า
สากลที่หนึ่ง

         ที่ " แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ " เพิ่งประกาศต่อชาวโลกที่เกิดการปฏิวัติปี 1848 การปฏิวัติครั้งนั้นลุกลามไปถึงหลายประเทศในยุโรป ภาระหน้าที่แห่งการปฏิวัติที่สำคัญคือ กวาดล้างสิ่งกีดขวางที่เป็นศักดินา เพื่อปูทางให้แก่การพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของทุนนิยม การปฏิวัติที่กล่าวนี้เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นสู่เวทีประวัติศาสตร์นั้น เป็นกำลังหลักของการปฏิวัติครั้งนี้ แต่ว่าดอกผลของการปฏิวัติกลับถูกชนชั้นนายทุนแย่งยึดไปหรือขายไป ชนชั้นนายทุนพยายามปราบปรามปฏิบัติการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทุกวิถีทาง ในเดือนมิถุนายนปี 1848 กรรมกรปารีสก่อการลุกขึ้นสู้ ที่คัดค้านชนชั้นนายทุนอย่างขนานใหญ่ " นี่เป็นการสู้รบที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกระหว่างชนชั้นใหญ่สองชนชั้นที่เป็นปฏิปักษ์กันในสังคมยุคปัจจุบัน เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพยังไม่สุกงอม ยังไม่มีการนำพรรคการเมืองปฏิวัติที่เป็นอิสระ ยังมิได้ยึดกุมทฤษฎีปฏิวัติที่ถูกต้อง ดังนั้นการต่อสู้ปฏิวัติของพวกเขาจึงถูกชนชั้นนายทุนและพวกปฏิกิริยาปราบปรามลงไป

          แม้ว่าการปฏิวัติจะพ่ายแพ้ไปแล้วก็ตาม แต่มันก็ได้รับการจารึก เป็นหน้าที่รุ่งโรจน์หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพมาร์กซกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า " การปฏิวัติตายแล้ว การปฏิวัติจงเจริญ " ในการปฏิบัติที่ปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพทำการสรุปบทเรียนความจัดเจนท่ามกลางการปฏิบัติที่ปฏิวัติอยู่ไม่ขาด ในที่สุดก็จักต้องได้รับชัยชนะในการปฏิวัติอย่างแน่นอน มาร์กซและเองเกลส์ได้ตรวจสอบลัทธิมาร์กซ และทำให้ทฤษฎีนี้อุดมสมบูรณ์ขึ้นจากการปฏิบัติการปฏิวัติในครั้งนี้ โดยเฉพาะคือความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ท่านทั้งสองยังได้สนใจเป็นพิเศษว่า จักต้องเผยลัทธิมาร์กซในหมู่กรรมกรอย่างเต็มที่ ทำให้ลัทธิมาร์กซประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของกรรมกร และก่อตั้งพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพไปสู่ชัยชนะได้ ท่านทั้งสองเรียกร้องชนชั้นกรรมาชีพ " พึงเข้าใจผลประโยชน์ทางชนชั้นของตนให้แจ่มชัดและยืนอยู่บนจุดยืนแห่งการเมืองที่เป็นอิสระของตนโดยเร็วที่สุด "

การก่อตั้งสากลที่หนึ่ง

           ภายหลังการปฏิวัติปี 1848 ได้พ่ายแพ้ไปแล้วอิทธิพลปฏิกิริยาฮึกเหิมอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักปฏิวัติชนชั้นนายทุนน้อยจำนวนมากพากันท้อแท้ผิดหวัง และแยกตัวออกจากการปฏิวัติไปตามๆ กัน ภายในขบวนของชนชั้นกรรมกรก็มีแนวโน้มที่ผิดอยู่สองชนิดปรากฏขึ้น ซึ่งก็คือแนวโน้มเอียงขวาที่ให้ละทิ้งองค์การจัดตั้งเป็นอิสระและโน้มเอียง " ซ้าย " ที่ให้ " ปฏิวัติทันที " มาร์กซและเองเกลส์ นักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นกรรมาชีพ ได้ต้านกระแสทวนทั้งสองกระแสนี้เอาไว้อย่างเด็ดเดี่ยว เรียกร้องให้ชนชั้นกรรมกรก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นอิสระ กุมอำนาจการนำในการปฏิวัติไว้ในมือของตนอย่างแท้จริงสะสมกำลัง รอคอยโอกาส ท่านทั้งสองได้เสนอคำขวัญ " ปฏิวัติไม่ขาดสายออกมา ขณเดียวกันก็เตือนพวกลัทธิเสี่ยงภัยเอียง " ซ้าย " ว่า " อย่าริเล่นก่อการลุกขึ้นสู้ " ท่านทั้งสองได้คาดการณ์ไว้ด้วยความเชื่อมั่นว่า " การมาถึงของการปฏิวัติครั้งใหม่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น " เช่นเดียวกับการมาถึงของวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ เหตุการณ์ก็ได้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อทุนนิยมพัฒนาไปอย่างรวดเร็ววิกฤิตทางเศรษฐกิจโลกทุนนิยมก็ตามมาและได้ระเบิดขึ้นในปี 1857 ชนชั้นนายทุนทำการขูดรีดประชาชนผู้ใช้แรงงานหนักมือยิ่งขึ้น ความขัดแย้งทางชนชั้นและความขัดแย้งทางประชาชาติก็นับวันเพิ่มพูนมากขึ้น การเคลื่อนไหวปฏิวัติขึ้นสู่กระแสครั้งใหม่ ในปี 1895 กรรมกรก่อสร้างของอังกฤษได้ก่อการนัดหยุดงานขึ้นก่อน ถัดจากนั้นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงสิทธิทางการเมืองของชนชั้นกรรมกรฝรั่งเศสและเยอรมันนี้ก็ได้รับผลสำเร็จอย่างเด่นชัด เยอรมันและอิตาลีต่างเรียกร้องความเป็นเอกภาพของประชาชาติ การเคลื่อนไหวประชาชาติ - ประชาธิปไตยของประชาชนโปแลนด์ที่คัดค้านการกดขี่ทางประชาชาติของพระเจ้าซาร์รัสเซีย ก็มีกระแสสูงใหม่ สถานการณ์ปฏิวัติเช่นนี้ได้ยกระดับความตื่นตัวของชนชั้นกรรมกรสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ผลักดันให้ชนชั้นกรรมกรสามัคคีกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น



            แต่ว่าเนื่องจากผลสะเทือนของลัทธิฉวยโอกาสนานาชนิดเป็นเหตุขัดขวางอย่างหนักหน่วงต่อการที่ชนชั้นกรรมกรจะจัดตั้งกันเป็นกองทัพใหญ่ที่เป็นเอกภาพ มาร์กซชี้ว่า : " การก่อตั้งสากล ก็เพื่อใช้องค์การจัดตั้งที่สู้รบอย่างแท้จริงของชนชั้นกรรมกรไปแทนองค์การจัดตั้งที่เป็นแบบพรรคพวกแห่งสังคมนิยมหรือกึ่งสังคมเหล่านั้น เพื่อขจัดผลสะเทือนของลัทธิฉวยโอกาสเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในหมู่ชนชั้นกรรมกร นำการเคลื่อนไหวของกรรมกรไปสู่วิถีทางที่ถูกต้องเพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับจัดตั้งพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ มาร์กซและเองเกลส์จึงดำเนินงานตระเตรียมงานก่อตั้งสากลที่ 1 อย่างเอาการเอางาน ในทศวรรษที่ 5 ที่ 6 ท่านทั้งสองได้ทุ่มเทกำลังสติปัญญาอย่างมากมายในการศึกษาค้นคว้าหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างลึกซึ้ง ได้เผยให้เห็นถึงความลับที่ชนชั้นนายทุนขูดรีดกรรมกร และความขัดแย้งพื้นฐานของสังคมทุนนิยม ได้พิสูจน์ยืนยันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าทุนนิยมจักต้องพินาศหายนะและสังคมนิยมจักต้องได้รับชัยชนะ ให้อาวุธทางความคิดอันเข้มแข็งเกรียงไกรแด่ชนชั้นกรรมาชีพ ขณะเดียวกันท่านทั้งสองยังได้สามัคคีผู้นำกรรมกรจำนวนหนึ่งและได้รักษาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับขบวนการกรรมกรในประเทศต่างๆ ในปี 1850 - 1851 มาร์กซยังได้เปิดอบรมวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองขึ้นโดยตัวท่านเอง แนะนำคำสอนให้นักการเมืองเคลื่อนไหวกรรมกรทั้งหลายพากเพียรศึกษาทฤษฎี ตระเตรียมการสู้รบครั้งใหม่ เช่นนี้แล้วมาร์กซและเองเกลส์ก็ได้ปูพื้นฐานให้แก่การก่อตั้งสากลที่หนึ่งไม่เฉพาะทางความคิดและทฤษฎีเหล่านั้น หากยังรวมทั้งทางการจัดตั้งอีกด้วย

            เพื่อสนับสนุนการก่อการลุกขึ้นสู้ของประชาชนโปแลนด์ในปี 1863 และประท้วงการปราบปรามการลุกขึ้นสู้อย่างนองเลือดของพระเจ้าซาร์ ผู้แทนกรรมกรบรรดาประเทศในยุโรปได้ประชุมกันที่ลอนดอนเมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี 1864 ที่ประชุมได้ลงมติให้จัดตั้ง " สหบาลกรรกรสากล " ซึ่งก็คือสากลที่หนึ่งขึ้น ทั้งได้เลือกตั้งคณะกรรมการชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกรรมกรในประเทศต่างๆ ขึ้นชุดหนึ่ง อันเป็นองค์การนำที่ต่อมาเรียกว่า " คณะกรรมการทั่วไป นั่นเอง มาร์กซได้รับเลือกให้เป็นกรรมการคนหนึ่ง ทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่าง " แถลงการณ์ก่อตั้ง " และ " ระเบียบการชั่วคราว " เอกสารทั้งสองฉบับนี้ได้เผยให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่่ว่า ทุนนิยมยิ่งพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรก็ยิ่งยากแค้น และพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์โดยมูลฐานระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ มาร์กซได้เสนอแนวทางปฏิวัติที่คัดค้านลัทธิฉวยโอกาสขึ้นแนวทางหนึ่ง โดยชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า " การเข้ายึดอำนาจรัฐได้กลายเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของชนชั้นกรรมกรแล้ว " การปลดแอกของชนชั้นกรรมกรควรให้ชนชั้นกรรมกรช่วงชิงเอาเอง " ระเบียบ " ยังได้กำหนดหลักการจัดตั้งที่เป็นระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ สากลที่หนึ่งเป็นองค์การจัดตั้งสากลองค์การแรกของชนชั้นกรรมาชีพที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของมาร์กซ เป็นผลิตผลแห่งการประสานระหว่างลัทธิมาร์กซกับขบวนการกรรมกร การก่อตั้งสากลที่หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าขบวนการกรรมกรสากลได้ย่างเข้าสู่ขั้นใหม่ขั้นหนึ่งแล้ว

การต่อสู้ที่คัดค้านลัทธิฉวยโอกาส

            มาร์กซได้นำการเคลื่อนไหวที่สำคัญๆ ทั้งปวงของสากลโดยตรง : เขียนเอกสารที่สำคัญของสากลด้วยตนเองใช้ลัทธิสากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพมาให้การศึกษาแก่กรรมกร ดำเนินการต่อสู้กับลัทธิฉวยโอกาสอย่างไม่ลดละในยามหน้าสิ่วหน้าขวานท่านมักจะยืนอยู่แนวหน้าสุดแห่งการต่อสู้ ชี้ทิศทางให้แก่สากล ดังนั้น เลนินจึงชี้ว่า : มาร์กซคือวิญญาณของสหพันธ์นี้ แต่จะต้องมองเห็นว่าลัทธิมาร์กซสามารถอยูในฐานะครอบครองในสากลนั้นเป็นผลมาจากการต่อสู้กับลัทธิฉวยโอกาสนานาชนิดอย่างเด็ดเดี่ยว และเป็นเวลานานดังที่เหมาเจ๋อตงได้กล่าวว่าแนวทางที่ถูกต้องนั้น " มิใช่เกิดขึ้นและพัฒนาไปโดยธรมชาติอย่างราบรื่น หากแต่เกิดขึ้นและพัฒนาไปท่ามกลางการต่อสู้ ประวัติของสากลที่หนึ่งก็คือประวัติการต่อสู้ที่ลัทธิมาร์กซคัดค้านลัทธิฉวยโอกาสชนิดต่างๆ

1. การต่อสู้ที่คัดค้านลัทธิปรูดอง

           ในระยะต้นของสากลที่หนึ่ง ( ปี 1864 - 1868 ) ปลายหอกสำคัญของการต่อสู้พุ่งไปยังลัทธิปรูดอง ลัทธิปรูดองเป็นกระแสความคิดลัทธิปฏิรูปและลัทธิอนาธิปไตยชนิดหนึ่งที่แพร่ระบาดอยู่ในยุโรปตะวันตกในกลางศตวรรษที่ 19 มันไม่สนับสนุนการยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชน เพ้อฝันที่จะอาศัยวิธีการจัดตั้งสหกรณ์ สร้างสังคมที่ผู้ผลิตน้อยดำรงอยู่ตลอดกาล ความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ภายใต้ระบอบทุนนิยม มาร์กซได้ชี้ออกมาอย่างแหลมคมว่า " พวกเขาทำการเผยแพร่ตำราการค้าที่สามานย์ของชนชั้นทั้งปวงของชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งคัดค้านการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งปวงของชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งคัดค้านการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องทางเศรษฐกิจ และยิ่งจะคัดค้านการต่อสู้ทางการเมืองและการปฏิบัติด้วยความรุนแรง พวกเขามุ่งหวังที่จะใช้ลัทธิอนาธิปไตยและทฤษฎีประนีประนอมทางชนชั้นที่ปฏิกิริยามาคัดค้านทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพของลัทธิมาร์กซ พวกเขาพยายามอย่างสุดเหวี่ยงที่จะยัดเยียดแนวทางลัทธิฉวยโอกาสให้แก่สากลมาร์กซและเองเกลส์ได้ยืนหยัดในแนวทางปฏิวัติ ทำการต่อสู้กับพวกเขาอย่างไม่ปรานี

            เพื่อมุ่งตรงต่อ " ทฤษฎีสหกรณ์สารพัดนึก " ของลัทธิปรูดอง ที่ประชุมสมัชชาสากลที่เจนีวาในปี 1866 ได้มีมติว่า : การเคลื่อนไหวสหกรณ์ไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงระบอบทุนนิยมได้อย่างเด็ดขาด ถ้าหากไม่ยึดอำนาจรัฐแล้ว ระบอบสหกรณ์การใช้แรงงานที่กว้างขวางและปรองดองก็ไม่อาจก่อตั้งขึ้นได้ ทว่านักลัทธิปรูดองไม่ยอมรับมติข้อนี้ มิหนำซ้ำยังได้แสดงคัดค้านการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย ในที่ประชุมสมัชชาที่โลซานในปี 1867 ที่ประชุมได้โจมตีการรุกอย่างบ้าคลั่งของพวกเขาอีกครังหนึ่ง มตินี้ว่า การปลดแอกทางการเมืองเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่กรรมกรจะช่วงชิงให้ได้มาซึ่งการปลดแอกทางสังคม การต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

            นักลัทธิปรูดองยังยืนยันในความคิด ที่จะรักษาระบอบถือครองที่ดินโดยบุคคลดื้อรั้น โดยเห็นว่านี้เป็นเงื่อนไขล่วงหน้าอันสำคัญของความเจริญก้าวหน้าและความผาสุก การประชุมสมัชชาสากลที่ปรัสเซลส์ในปี 1888 ได้ทำการวิพากษ์ระบบความคิดที่ปฏิกิริยานี้อย่างถึงที่สุดได้ผ่านมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ที่ดินก็เช่นเดียวกับปัจจัยการผลิตอื่นๆ ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของทั่วทั้งสังคม ซึ่งเป็นความต้องการแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ มติข้อนี้ได้โจมตีนักลัทธิปรูดอง เริ่มเกิดการแยกตัวขึ้น ส่วนหนึ่งที่เป็นฝ่ายซ้ายได้แยกตัวออกมาเข้ากับฝ่ายลัทธิมาร์กซ ในจำนวนนี้มีวาร์ลังซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำที่ดีคนหนึ่งของคอมมูนปารีส

2. การต่อสู้่ที่คัดค้านลัทธิสหบาลและลัทธิซาลล์

            ลัทธิสหบาลเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษก่อนสุดลัทธินี้เป็นตัวแทนผลปะโยชน์ของขุนนางกรรมกรที่มีจำนวนน้อย พวกเขาถูกชนชั้นนายทุนหว่านซื้อ โดยให้ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ พยายามเผยแพร่ทฤษฎีประนีประนอมทางชนชั้น และลัทธิเห็นแก่ตัวทางชาติพวกเขาคัดค้านการนัดหยุดงานของกรรมกร ปกป้องการปกครองของชนชั้นนายทุน เพื่อประกันฐานะการครองชีพอันสุขสมบูรณ์ของพวกตนคนส่วนน้อย คำขวัญอันเป็นแบบฉบับของพวกเขาก็คือ " ทำงานที่ยุติธรรมหนึ่งว้น ได้รับค่าแรงยุติธรรมหนึ่งวัน " มาร์กซโกรธแค้นคำขวัญนี้เป็นอย่างยิ่ง ท่านเรียกร้องให้กรรมกรทอดทิ้งคติอนุรักษ์นี้เสีย " ควรจะเขียนคำขวัญปฏิวัติลงบนผืนวงของตนว่า " ทำลายระบอบแรงงานจ้าง " พวกหัวใจลัทธิสหบาลแก้ต่างให้แก่นโยบายล่าเมืองขึ้นอย่างไร้ยางอาย โดยกล่าวว่า ที่รัฐบาลอังกฤษปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของประชาชนไอร์แลนด์เป็นเมืองขึ้นอังกฤษในทศวรรษที่ 6 แห่งศตวรรษที่ 19 ไอร์แลนด์ได้เกิดการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่ช่วงชิงเอกราชของชาติขึ้น มาร์กซและเองเกลส์สนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้อย่างเด็ดเดี่ยว หัวหน้าของสหบาลกรรมกรคนหนึ่งชื่อ ยอร์ช ออดเกอร์ คัดค้านการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชนไอร์แลนด์อย่างเปิดเผย มาร์กซได้อำนวยการการประชุมของคณะกรรมการทั่วไปหลายครั้ง และมีมติให้สนับสนุนการต่อสู้ทางประชาชาติ โจมตีนักลัทธิสหบาลอย่างหนักหน่วง ในการต่อสู้ครังนี้มาร์กซได้อรรถาธิบายอย่างแจ่มชัดถึงความหมายอันสำคัญยิ่งของการเคลื่อนไหวปลดแอกประชาชาติที่มีต่อภารกิจปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพท่านยังชี้ว่า : การปลดแอกทางประชาชาติของไอร์แลนด์เป็นเงื่อนไขล่วงหน้าของการปลดแอกชนชั้นกรรมกรอังกฤษเอง การต่อสู้อย่างมีชัยของมาร์กซประกันให้สากลก้าวหน้าไปตามแนวทางที่ถูกต้อง

            ในระยะที่กล่าวนี้ มาร์กซและเองเกลส์ยังได้ทำการต่อสู้กับลัทธิลาลซาลล์แห่งเยอรมันอย่างเด็ดเดี่ยวลาลซาลล์เห็นว่าลัทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เป็นอาวุธแต่เพียงอย่างเดียวที่ขนชั้นกรรมาชีพจะช่วงชิงให้ได้รับการปลดแอก เพื่อให้ได้มาซึ่งลัทธิในการออกเสียงเลือกตั้งที่ว่านี้แล้ว ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ขุนนางที่ดินปรัสเซียที่เป็นปฏิกิริยา ทำให้สังคมนิยมปรากฏเป็นจริงขึ้นได้อย่างสันติ ดังนั้น เขาจึงคัดค้านการต่อสู้ปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ และเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพอย่างสุดเหวี่ยงลัทธิลาลซาลล์เป็นกระแสความคิดชนิดหนึ่งของชนชั้นนายทุน เป็นลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวา มาร์กซ และเองเกลส์ได้สนใจในการวิพากษ์ความคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง เองเกลส์ได้ชี้ให้เห็นอย่างแหลมคมว่า ถ้าไม่ทำลายกลไกรัฐเก่าให้แหลกแล้ว ชนชั้นกรรมกรก็จะไม่มีแม้กระทั่งเสรีภาพขั้นต่ำสุด ในประเทศเยอรมันที่อยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นขุนนางศักดินานั้น " ลัทธิเลือกตั้งโดยตรงกล่าวสำหรับชนชั้นกรรมาชีพแล้วไม่ใช่อาวุธ หากเป็นหลุมพราง ท่านทั้งสองยังได้เปิดโปงนโยบายทรยศของลาลซาลล์ ข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ยืนยันว่าตัวลาลซาลล์เองเป็นไส้ศึกและผู้ขายกรรมกรที่เล็ดลอดเข้ามาในขบวนกรรมกร

3. การเริ่มต้นแห่งการต่อสู้ที่คัดค้านกลุ่มเล่นเล่ห์เพทุบายบาคูนิน

           ในระยะหลังของสากลที่หนึ่ง การต้อสู้ที่สำคัญคือคัดค้านลัทธิบาคูนิน บาคูนินถือกำเนิดจากขุนนางรัสเซียเล็ดลอดเข้ามาในขบวนปฏิวัติตั้งแต่วัยหนุ่ม เคยเขียนคำสารภาพผิดในคุกพระเจ้าซาร์ กลายเป็นคนทรยศที่น่าบัดสีต่อมาเขาได้เป็นหัวหน้าในองค์การชนชั้นนายทุนแห่งหนึ่งทั้งยังเคยกล่าวประกาศอย่างเปิดเผยว่า " เกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์ " บาคูนินเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เจ้าเล่ห์เพทุบายและตีสองหน้าแบบฉบับในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ภายหลังที่สากลได้ก่อตั้งขึ้น เขาก็เล็ดลอดเข้ามาใช้เล่ห์อุบายแย่งยึดอำนาจการนำขบวนในขบวนการกรรมกรสากลไป ในทางทฤษฎีเขาไม่กระดิกหูเลย แต่ในเรื่องเล่นเล่ห์เพทุบายก็นับว่ามีฝีมืออยู่

          ปี 1868 บาคูนินได้ก่อตั้ง " สันนิบาตสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์การพรรคพวกของตนขึ้น ทั้งยังมุ่งหวังที่จะดึงองค์การนี้เข้าไปอยู่ในสากล มาร์กซเปิดโปงองค์การนี้อย่างตรงเป้าว่าองค์การนี้เป็นเครื่องมือในการแยกสลายสากล ข้อความที่ว่า " เสมอภาคของชนชั้น " ในหลักนโยบายของสันนิบาตที่กล่าวนี้ เป็นคำขวัญของชนชั้นนายทุนโดยสิ้นเชิง บาคูนินจึงทำเป็นเห็นด้วยให้ยุบสันนิบาตและละทิ้งหลักนโยบายของสันนิบาตทันที เพื่อจะได้ให้พรรคพวกของตนปะปนเข้าไปในสากล แต่แท้จริงองค์การดังกล่าวยังคงดำรงอยู่อย่างลับๆ ปี 1869 สากลเปิดประชุมสมัชชาที่มาแซล บาคูนินเห็นว่าโอกาสที่จะะยึดอำนาจในที่ประชุมได้มาถึงแล้ว พวกเขาถึงกับปลอมแปลงวุฒิบัตรของผู้แทน มุ่งหวังที่ประกันความเป็นฝ่ายข้างมากของตนในที่ประชุม พวกเขาได้เสนอหลักนโยบาย " ยกเลิกสิทธิในการสืบทอดมรดก " ออกมาบีบบังคับให้สากลรับรอง ลูกคิดรางแก้วของบาคูนินก็คือใช้หลักนโยบายของตนแทนที่หลักนโยบายของสากล ซึ่งเท่ากับว่าสากลได้หันมาทางบาคูนินแล้ว และให้ย้ายที่ตั้งของคณะกรรมการทั้วไปไปอยู่ที่เจนีวา ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ควบคุมสากลไว้ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว จะได้บรรลุความโลภในการยึดอำนาจ แต่ทว่าที่ประชุมได้อ่านคำรายงานเกี่ยวกับปัญหาสิทธิในการสืบทอดมรดกที่มาร์กซเป็นผู้ร่างขึ้น ในคำรายงานชี้ว่า : ปัญหาสิทธิการสืบทอดมรดกเป็นปัญหาทางกฏหมาย ที่อยู่ในขอบเขตโครงสร้างชั้นบนของระบอบทุนนิยม ถ้าหากไม่โค่นล้มระบอบขูดรีด การยกเลิกสิทธิในการสืบทอดมรดกก็เป็นแต่เพียงคำพูดลมๆ แล้งๆ ขณะเดียวกันท่านก็ได้ชี้ว่า การโฆษณาความคิดเห็นเช่นนี้จะชักนำให้กรรมกรไปสู่วิถีทางที่ผิด แสวงแต่การปฏิรูปทางกฏหมาย แต่ไม่ไปแตะต้องระบอบกรรมสิทธิเอกชน ดังนั้นข้อเสนอที่ให้ยกเลิกสิทธิในการรับทอดมรดกนั้น " ในทางทฤษฎีจึงเป็นสิ่งที่ผิด ในทางปฏิบัติก็เป็นปฏิกิริยา ทัศนะที่ปฏิกิริยาของบาคูนินถูกวิพากษ์อย่างถึงที่สุด แผนการที่จะโยกย้ายที่ตั้งคณะกรรมการทั้วไปของเขาก็ประสบความล้มเหลว

          ภายหลังการประชุมครั้งนี้ บาคูนินได้เปลี่ยนกลอุบายในการรุกโจมตีสากลเสียใหม่ ก่อนหน้านี้เขาพยายามที่จะแย่งอำนาจการนำของสากล ดังนั้น ในที่ประชุมเขาจึงพยายามเสนอให้ขยายอำนาจของคณะกรรมการทั่วไป อย่างสุดกำลัง เมื่อแผนกโลบายของเขาประสบความล้มเหลวแล้ว เขาก็เริ่มแยกสลายและทำลายสากล ในชั้นแรกเขาก่อการแตกแยกในสาขาสวิสเซอร์แลนด์ของสากลในที่ประชุมสมัชชาสหพันธ์เขตผู้ใช้ภาษาโรมัน ที่เปิดขึ้นในเดือนเมษายนปี 1870 กลุ่มบาคุนินฉวยโอกาสจู่โจมอย่างฉับพลันหวังจะแย่งยึดอำนาจการนำในสาขาต่างๆ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และคิดจะย้ายสหพันธ์ไปอยู่ที่ยูลา ซึ่งเป็นเขตที่บาคูนิมีอิทธิพลมากอยู่ เมื่อกลอุบายนี้ประสบความล้มเหลวอีก บาคูนินจึงสั่งให้ลูกน้องถอนตัวออกจากที่ประชุม แล้วจัดตั้งคณะกรรมการของสหพันธ์เขตผู้ใช้ภาษาโรมันของตนเองต่างหากขึ้น บาคูนินก่อการแตกแยกขึ้นเอง ครั้นแล้วก็เล่นลูกไม้ตีสองหน้าทันที โดยชิงเขียนจดหมายเรียกร้องให้คณะกรมการทั่วไปออกหน้าไกล่เกลี่ย หวังจะปัดความผิดที่ก่อการแตกแยกนี้ไปให้ฝ่ายตรงกันข้าม ในขณะเดียวกันยังตะโกนเรียกร้อง " สามัคคี " เป็นการใหญ่ เพื่อบีบบังคับให้ผู้อื่นไปเป็น " เอกภาพ " ภายใต้องค์การจัดตั้งของเขา เขาคิดเองว่าคราวนี้คงบรรลุผลแน่ๆ ที่แท้คณะกรรมการทั่วไปเข้าใจดีในกรณีพิพาทครั้งนี้ จึงได้มีมติอย่างเด็ดขาดว่า : ให้คงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่เดิมของคณะกรรมการเจนีวา ให้คณะกรรมการใหม่ของพวกบาคูนินเปลี่ยนไปใช้ชื่อที่เป็นลักษณะท้องถิ่น กโลบายอันน่าอัปยศของพวกบาคูนินที่ต้องประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

บาคูนิน " ทฤษฎี " ที่สับสนยุ่งเหยิงและปฏิกิริยาอยู่ชุดหนึ่ง
       
           เขาเห็นว่ารัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด : รัฐได้มอบทรัพย์สมบัติให้กับนายทุนแล้ว ยังใช้กฏหมายว่าด้วยสิทธิในการสืบทอดมรดกมาทำให้สิทธิถือครองทรัพย์สมบัติเช่นนี้คงที่ถาวร ดังนั้นเขาจึงเสนอให้ยกเลิกรัฐทั้งปวง และถือเอาการยกเลิกสิทธิในการสืบทอดมรดกเป็นจุดริ่มต้นสังคมในอุดมคติของเขาคือ สังคมที่  " อยู่ในภาวะไร้รัฐบาล " ให้มีการร่วมมือกันทั่วไปโดยยึดถือ " หลักการแห่งเสรีภาพ " ด้วยเหตุนี้เขาจึงคัดค้านรัฐเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพด้วยเขาฝากความหวังที่จะทำให้อุดมคติเช่นนี้ปรากฏเป็นจริงขึ้นนั้นไว้กับการก่อการจราจลของพวกปฏิบัติการจำนวนน้อย เขามีความเห็นให้ละทิ้งการเมืองทั้งปวง ปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางการเมือง ลัทธิบาคูนินได้สะท้อนอารมณ์สิ้นหวังของผู้ผลิตน้อยที่ล้มละลายออกมา เบื้องหลังวาทะอันกึกก้องนั้นแฝงไว้ซึ่งแนวทางขวาสุดแนวทางหนึ่งที่ให้ยกเลิกการปฏิวัติเสีย

           ลัทธิมาร์กซเห็นว่า รัฐเป็นเครื่องมือการปกครองของชนชั้น ตราบใดที่ยังมีชนชั้นดำรงอยู่ ตราบนั้นก็จักต้องมีรัฐดำลงอยู่ บาคูนินเสนอให้ยกเลิกรัฐทั้งปวง อันที่จริงก็คือจะให้ยกเลิกเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ  ในทำนองเดียวกัน การเมืองย่อมต้องเป็นการเมืองของชนชั้น ดังเช่นที่เองเกลส์ได้ชี้ไว้ว่า " การโฆษณาต่อกรรมกรให้ละทิ้งการเมืองก็เท่ากับผลักให้พวกเขาไปสู่อ้อมอกของการเมืองชนชั้นนายทุน เดือนกันยายน ปี 1870 ในขณะที่การลุกขึ้นสู้ของกรรมกรที่เมืองเลอองในฝรั่งเศสได้รับชัยชนะนั้นบาคูนินก็วิ่งเต้นไปที่นั่น ประกาศกฤษฎีกาให้ " ยกเลิกรัฐอย่างร้อนรน ผลสุดท้ายชนชั้นนายทุนส่งกองทหารไปเพิ่มสองกองร้อยก็สามารถขับเขาออกไปได้แล้ว จะเห็นได้ว่าเนื้อแท้ในการ " ไม่เอาเมือง " และ " ยกเลิกรัฐ " ของบาคูนินนั้น ก็เพื่อรับใช้การเมืองของชนชั้นนายทุน และรักษาการปกรองของชนชั้นนายทุนเอาไว้นั่นเอง

สากลที่หนึ่งใน
สมัยสงครามปรัสเซีย - ฝรั่งเศส และคอมมูนปารีส

           สงครามระหว่างปรัสเซีย - ฝรั่งเศส ระเบิดขึ้นในปี 1870 สากลได้ประกาศแถลงการณ์ 2 ฉบับ ที่มาร์กซเป็นผู้ร่างตามลำดับ ชี้ทิศทางอันถูกต้องให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพทั้งสองประกาศว่าควรจะมีท่าทีต่อสงครามระหว่างราชสำนักครั้งนี้อย่างไร

           เดือนมีนาคม ปี 1871 อำนาจรัฐเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพรัฐแรก ซึ่งก็คือคอมมูนปารีสได้กำเนิดขึ้น มาร์กซได้สนับสนุนการต่อสู้ของคอมมูนอย่างเร่าร้อน ได้เขียนจดหมายตั้งหลายร้อยฉบับ เสนอความเห็นอันมีค่ามากมายต่อคอมมูน เรียกร้องให้สาขาของสากลในประเทศต่างๆ สนับสนุนคอมมูน ภายหลังที่คอมมูนประสบความพ่ายแพ้ ชนชั้นนายทุนและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนพวกลัทธิฉวยโอกาสได้สมคบกันอย่างใกล้ชิด " ดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีอย่างหยาบช้าสกปรกโสมมที่สุด " ต่อนักปฏิวัติคอมมูนปารีสเป็นการใหญ่ เบื้องหน้ากระแสทวนที่ปฏิปักษ์ปฏิวัตินี้มาร์กซอาศัยจิตใจต้านกระแสที่ไม่หวั่นพรั่นพรึงใดๆ " ประกาศแถลงการณ์เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองของฝรั่งเศสและประกาศว่าตนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทุกอย่างของคอมมูน ในนามของสากล มาร์กซได้ประณาม การใส่ร้ายป้ายสีต่อคอมมูนปารีสอย่างเร่าร้อน ในขณะเดียวกันมาร์กซยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสงเคราะห์ขึ้นโดยตนเองจัดการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในด้านชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพการงาน สมาชิกของสากลจำนวนมากได้เสี่ยงอันตรายไปยังฝรั่งเศสเพื่อช่วยเหลือสมาชิกของคอมมูนในการปฏิวัติครั้งนี้ สาขาของสากลในฝรั่งเศสได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่คอมมูนอย่างเอาการเอางาน ในระยะหลังวาร์ลังซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคนหนึ่งของสากลที่หนึ่งได้รับตำแหน่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการทหาร ด้านหนึ่งเขาเรียกร้องให้ประชาชนปารีสจับอาวุธขึ้นทำการสู้รบจนถึงที่สุด อีกด้านหนึ่งตัวเขาเองก็เข้าร่วมสู้รบในแนวรบส่วนหน้า จนกระทั่งถูกจับและเสียสละไป

          คอมมูน " เนื้อแท้ก็คือรัฐบาลของชนชั้นกรรมกรเป็นผลการต่อสู้ที่ชนชั้นกรรมาชีพคัดค้านชนชั้นนายทุน การปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบสัจธรรมปฏิบัติการเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบสัจธรรมปฏิบัติการปฏิวัติของคอมมูนได้พิสูจน์ว่ามาร์กซถูกต้องนักลัทธิฉวยโอกาสทั้งหลายล้วนได้เปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของตนออกมาในเหตุการณ์นั้น โดยเฉพาะกลุ่มบาคูนินได้เผยโฉมหน้าสากลอย่างเต็มที่ ในขณะที่พวกมันมุ่งหวังที่จะใช้สงครามระหว่างปรัสเซีย - ฝรั่งเศส มาดำเนินอุบายลับก่อจราจลนั้น มาร์กซก็ได้เตือนเขาว่า อย่าถือการปฏิบัติเป็นของเล่น เขาไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของมาร์กซยังไปเร่ขายสินค้าดำ ลัทธิอนาธิปไตยที่เลอองอีก แต่ว่าเขาอาฆาตการปฏิวัติคอมมูนปารีสที่ยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง ถึงกับพูดออกมาว่า " ที่นั่นเราไม่มีอะไรจะต้องไปทำ " หลังจากที่คอมมูนพ่ายแพ้ไปแล้วเขายิ่งทำการโจมตีคอมมูนอย่างขุ่นเคืองว่า " นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ภารกิจปฏิวัติ " เป็นอาชญากรรมเป็นเรื่องโง่เขลา " คำ พูดอันปฏิกิริยาเหล่านี้ได้เผยให้เห็นถึงโฉมหน้าอันน่าขยะแขยงที่เป็นปฏิวัติปลอม และที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติของเขาอย่างล่อนจ่อน

ชัยชนะในการบดขยี้กลุ่มเจ้าเล่ห์บาคูนิน

           ภายหลังที่คอมมูนพ่ายแพ้ไป อิทธิพลลัทธิฉวยโอกาสทั้งปวงได้สมคบกันประสานกับรัฐบาลปฏิกิริยาในยุโรปก่อการโจมตีสากลอย่างบ้าคลั่ง กลุ่มเจ้าเล่ห์บาคูนินทวีการเคลื่อนไหวบ่อนทำลายหนักมือยิ่งขึ้น มุ่งหวังที่จะฉวยโอกาสเค้นคอสากลให้ตายในวาระคับขันเช่นนี้ คณะกรรมการทั่วไปได้เปิดประชุมผู้แทนขึ้นที่ลอนดอนในปี 1871 ประณามอาชญากรรมที่บ่อนทำลายสากลของบาคูนินอาศัยบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดของคอมมูน ที่ประชุมได้มีมติให้ก่อตั้งพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น ซึ่งเป็นการวิพากษ์ความเห็นอันเหลวไหลของบาคูนินที่ว่า " ปฏิเสธการเมืองทั้งปวง " อย่างมีพลัง ที่ประชุมยังได้มีมติให่ส่งผู้แทนไปสำรวจการเคลื่อนไหวเล่นเล่ห์ของบาคูนินที่ซูริค เพื่อจะได้ทำการชำระสะสางอาชญากรรมของเขาให้ถึงที่สุดในที่ประชุมผู้แทนคราวหน้า บาคูนินรู้ตัวล่วงหน้าว่าแผนกโลบายทั้งหมดของตนกำลังถูกเปิดโปง ด้วยความตกใจกลัวจึงได้สั่งให้ลูกน้องคนสนิทลอบฆ่าตัวแทนของคณะกรรมการทั่วไปเพื่อปิดปากเสีย ถึงแม้ตัวแทนที่ไปสำรวจจะได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังคงสามารถบรรลุงานร่างคำรายงานผลการสำรวจได้ตรงตามกำหนดเวลามาร์กซได้ชี้ออกมาอย่างเดือดแค้นว่า : เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของตน กลุ่มคนพวกนี้ ไม่เลือกวิธีการ ไม่คำนึงถึงศีลสัตย์ใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยข่าว ใส่ร้าย ข่มขู่ ลอบฆ่า เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่พวกมันมักใช้เสมอมา "

           บาคูนินมิได้เข้าร่วมประชุมที่ลอนดอน ตัวเองไปจัด " ประชุมผู้แทน " ขึ้นอีกแห่งหนึ่งโดยมีผู้แทนเข้าร่วมเพียงสิบกว่าคน แล้วก็ออกคำแถลง คัดค้านการประชุมลอนดอนและคณะกรรมการทั่วไป พวกเขาโจมตีคณะกรรมการทั่วไปว่าเป็น " ลัทธิทรงอำนาจ " แหกปากด่ามาร์กซว่าเป็น " ผู้เผด็จการ " ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ว่า ที่บาคูนินเสนอให้ขยายอำนาจของคณะกรรมการทั่วไปก็ดี ที่บาคูนินเสนอให้ขยายอำนาจของคณะกรรมการทั่วไปก็ดี หรือที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเรียกตัวเองว่าเป็น " สานุศิษย์ของมาร์กซ " ก็ดี ล้วนเป็นคำเท็จที่หลอกลวงคน เป็นความต้องการที่เกิดจากความมักใหญ่ใฝ่สูงทางส่วนตัวของเขาทั้งสิ้น ในคำแถลงยังได้เรียกร้องให้เปิดประชุมสมัชชา ให้ " สาขาปกครองตนเอง " จะแยกตัวเป็นอิสระจากสากลอย่างเปิดเผยก่อการแตกแยกเป็นการใหญ่ จะเห็นได้ว่า ลัทธิอนาธิปไตยของบาคูนินนั้นไม่ใช่ไม่ต้องการรัฐบาล หากแต่ต้องการรัฐบาลส่วนตัวของเขา ในขณะที่ร้องตะโกนคัดค้าน " อำนาจ " อยู่นั้น บาคูนินที่มีท่วงทำนองนักเลงอันธพาลแบบพระเจ้าซาร์เก่าเต็มตัวผู้นี้ ก็ดำเนินการปกครองแบบเผด็จการในสันนิบาตของเขาเอง เขาได้เที่ยวแย่งชิงอำนาจในสากลฯ ต้องการวางตัวอยู่เหนือคณะกรรมการทั่วไปอย่างโอหัง การต่อต้านอย่างดื้อรั้นบ้าคลั่งของบาคูนิน แสดงให้เห็นว่าตัวเขาได้ประพฤติตนจนสากลไม่อาจอภัยได้แล้ว

            ปี 1872 สากลที่หนึ่งได้เปิดประชุมสมัชชาครั้งสุดท้ายที่กรุงเฮก ในคำรายงานการสำรวจ เองเกลส์ได้เปิดโปงการเคลื่อนไหวที่บ่อนทำลายและวิธีตีสองหน้าของบาคูนินและพรรคพวกออกจากสากลฯ มาร์กซและเองเกลส์ ชี้ว่า : วิธีที่จะจัดการกับแผนกโลบายทั้งปวง
เหล่านี้มีอยู่เพียงวิธีเดียว แต่ก็เป็นวิธีการที่มีพลังในลักษณะทำลายล้างนั่นก็คือเปิดโปงมันต่อสาธารณชนให้หมดสิ้นการถูกเปิดโปงและถูกชำระสะสางของกลุ่มบาคูนินเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของลัทธิมาร์กซ

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของสากลฯ ที่หนึ่ง

           เองเกลส์ชี้ว่า : การยุบเลิกสากลนั้น " เป็นเพราะความจำเป็นทางการเมืองมากกว่า มิใช่เพราะการพิพาทภายใน " ก่อให้เกิดการแตกแยก ภายหลังที่คอมมูนปารีสพ่ายแพ้และขบวนการกรรมกรได้เข้าสู่ยุคใหม่ซึ่งแต่ละประเทศต้องทำการก่อตั้งพรรคการเมือง ที่มีลักษณะมวลชนของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมา ระหว่างที่การนำสากลฯ ไปทำการต่อสู้ที่คัดค้านชนชั้นนายทุน โดยเฉพาะคือคัดค้านพวกลัทธิฉวยโอกาสนั้น มาร์กซและเองเกลส์ได้ขจัดการรบกวนของลัทธิฉวยโอกาสชนิดต่างๆ ได้กำหนดแนวทางที่ถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็ได้บ่มเพาะผู้เป็นแกนจำนวนหนึ่งให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพ ได้ให้ประสบการณ์อันมีค่าด้านต่างๆ ทั้งในทางจัดตั้งและทางยุทธวิธี " สากลได้บรรลุภาระหน้าที่ของตนแล้ว อนึ่งในขณะนั้น รัฐบาลปฏิกิริยาในยุโรปได้ทำการปองร้ายต่อสมาชิกของสากลอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งการก่อกวนเป็นการใหญ่ของกลุ่มบาคูนิน ไม่เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของสากลอย่างยิ่ง ดังนั้น เองเกลส์จึงได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาในกรุงเฮกให้ย้ายคณะกรรมการทั่วไป ไปตั้งที่สหรัฐอเมริกา ( จากนั้นการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงก็ได้ยุติลง ) นั่นเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง ปี 1876 สากลที่หนึ่งได้ยุบตนเองตามข้อเสนอของมาร์กซ

            ถึงแม้ว่าสากลที่หนึ่งได้ยุบเลิกไปแล้ว แต่คณูปการทางประวัติศาสตร์ขององค์การนั้นไม่อาจลบล้างได้ ภายใต้การนำของมาร์กซและเองเกลส์ สากลที่หนึ่งได้เอาชนะพวกลัทธิฉวยโอกาสและพวกลัทธิก่อการแตกแยกนานาชนิดที่ขัดขวางขบวนการกรรมกรอยู่ในขณะนั้น ทำให้ชนชั้นกรรมกรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้ ทางแนวทางอย่างลึกซึ้งครั้งหนึ่ง และก็ทำให้ลัทธิมาร์กซได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและพัฒนาไปอย่างมาก " ได้วางรากฐานอันมั่นคงให้แก่การต่อสู้ช่วงชิงสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพสากล ในการปฏิบัติต่อสู้ที่คัดค้านพวกลัทธิฉวยโอกาส คัดค้านพวกก่อการแตกแยกและคัดค้านพวกเล่นเล่ห์เพทุบายนั้น มาร์กซและเองเกลส์ได้สร้างแบบอย่างอันรุ่งโรจน์ไว้แก่พวกเราประสบการณ์ประวัติศาสตร์ในการเอาชนะลัทธิฉวยโอกาสชนิดต่างๆ และจิตใจที่ยืนหยัดปฏิวัติของสากลที่หนึ่งยังคงปลุกเร้าใจชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้





By กำเนิดลัทธิมาร์กซ
         

No comments:

Post a Comment