Wednesday, December 26, 2012

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 8 )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง "  ( ตอนที่ 8 )

        อันว่าบทอัศจรรย์ในวรรณคดีเข้าใจว่ามีที่มาอยู่แล้วในบทสังวาสตามนิราศช่วงแรก ซึ่งมักจะแทรกคำและความโลดโผนโจนทะยานผ่านตัวอัษร บางบทก็ซ่อนความเปรียบไว้ให้เห็นภาพพจน์เฉียบคมเฉียบขาด ขอให้ดูจากทวาทศมาสก่อน

          ฤดูไพศาขสร้อง                  ฝนสวรรค์
คิดสุมาลย์มาลัย                            แหล่งน้อง
ฤดูฤดีครรภ์                                   รมเยศ
เจ็บระอุแทบท้อง                           ที่ขวั้นสะดือนาง
        
           คระหึ่มฟ้าร้องคระ               โหยหา สวาทนา
ดลด่วนเจ็บแดกกลาง                    ขาดขว้ำ
แขไขข่าวไถนา                             ถะถั่น มานา
อกระแหงแล้งน้ำ                           เนตรนอง

           หรือดูจากลิลิตพระลอซึ่งพัฒนาการมาอีกขั้นตอน


พักตราใสใหม่หม้า
หน้าแนบหน้าโอ่หน้า
หนุ่มเหน้าสะสม

นมแนบนมนิ่มน้อง
ท้องแทบท้องโอ่ท้อง
อ่อนท้องทรวงสมร

สมเสน่ห์อรใหม่หมั้ว
กลั้วรสกลั้วกลิ่นกลั้ว
เกลศกลั้วสงสาร

บุษบาบานคลี่คล้อย
สร้อยแลสร้อยซ้อนสร้อย
เสียดสร้อยสระศรี

ภุมรีคลึงคู่เคล้า
กลางกมลยันเยา
ยั่วร้องขานขัน

           บทสังวาสขาดไม่ได้ฉันใดในนิราศเชิงกำหนัด บทอัศจรรย์ย่อมขาดไม่ได้เช่นกันในวรรณคดีที่มีบทสังวาสชาติรส


           ทว่าในช่วงทดลองของกวี คำที่เปรียบเทียบมักจะเปรียบไปในทางฝนตกฟ้าคะนองแล้วจบด้วยการปรีดาปราโมทย์ของดอกไม้กับแมลงแทบจะทุกคราว บางเรื่องก็โน้มน้าวเสียใหม่ด้วยการใช้คำเดินหน้าแทนอากัปกิริยา ดังเรื่องกากีของเจ้าพระยาพระคลัง ( หน ) หรือ อุณรุท ( ช่วงต้นรัตยโกสินทร์ ) ดังนี้


ซึ่งเร่าร้อนผ่อนวายฤทัยทุกข์
ทวีแสนสุขเกษมสม
ทรงเสงี่ยมเฟี้ยมเฝ้าเคล้าชม
อิงแอบบรรทมบรรทับกาย

ลืมกลัวลืมรักพระปิตุราช
ลืมชนนีนาฏโฉมฉาย
ลืมทั้งทศมุขน้องชาย
อันร่วมรักสุดสายสวาทนาง

ลืมเคยขึ้นเฝ้าเช้าเย็น
ลืมละการเล่นต่างต่าง
ลืมสดับศัพท์เสียงดุริยางค์
ลืมนางอนงค์กำนัลใน

            สำหรับขุนช้างขุนแผนที่ต้นฉบับหายและขาดไป เข้าใจว่าน่าจะมีบทอัศจรรย์อันผาดแรงร่านยิ่งกว่าวรรณคดีอื่นๆ ด้วยพื้นฐานเป็นของชาวบ้านย่านสุพรรณภูมิ ที่ตามปูมคือต้นตอบ่อเกิดของเพลงหัวเดียวฉาบเฉี่ยวเลี้ยวลามถึงความสองแง่สามง่ามแท้จริง และกวีก็ไม่ทิ้งลายในการแก้ไขใหม่ครั้งนี้ นี่เป็นบทอัศจรรย์พันลึกเหนือของเก่าทั้งหมดด้วยการให้ภาพพจน์การเปรียบเทียบที่เฉียบกว่า ( และน่าจะเป็นแรงส่งโดยตรงถึงสุนทรภู่ ร่ายกลอนสู้ในพระอภัยมณีที่อาศัยการรื่นไหลของกลอนสัมผัส การสร้างภาพสุภาพแบบไม่หยาบโลน ทั้งน่าจะโยนกลองส่งไปยังนิราศของมหาเปรียญ ( ฤกษ์ ) อีกต่อและก็ระเด่นลันไดของพระมหามนตรี ( ทรัพย์ )

             ลองพินิจบทพิศวาทอัศจรรย์ในพระอภัยมณีก่อน


เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด
กระแซะชิดขากกระทบเหนียง
กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง
ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด

กุลาโคลงไม่สู้คล่องกะพร่องกะแพร่ง
ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด
จะแก้ไขไม่หลุดสุดความคิด
ประกบติดตกผางลงกลางดิน

            ยังไม่อยากให้สิ้นลีลา จงดูระเด่นลันไดไปอีกหน่อยหนึ่ง พึงชม


อัศจรรย์ลั่นลึกพิลึกกึกก้อง
ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป
หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง

ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่
ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง
อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ

นกกระจอกออกจากวิมานมะพร้าว
ต้องฝนทนหนาวอยู่งอนหง่อ
ขนค้างหางปีกเปียกมอซอ
ฝนก็ขาดเม็ดเสร็จบันดาล

            ใครที่อ่านขุนช้างขุนแผนจะจำได้แม่นยำถึงรสความที่งดงามไม่น้อยถึงการร้อยรสบทอัศจรรย์ เช่นตอนขุนแผนสัมพันธ์กับนางแก้วกิริยา


พระพายชายพัดบุปผาชาติ
เกสรสาดหอมกลบตลบห้อง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง
พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับยับ

พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น
ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ
แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง

            บทนี้คงไม่โลดโผนเท่าใด ( แต่มีคำชวนใหตีความนัยหลายคำ คือ หิ่งห้อยกับแมลงับ ณ สองวรรคสุดท้าย ) ด้วยเป็นพระราชนิพนธ์ใน ร.2 ซึ่งมิอาจคล่องถึงก้นบึ้งอย่างกวีปากชาวบ้าน อีกตอนนั้นเท่าที่จดจำกันได้ ( ยกไปอ้างแล้ว ) คือตอนพลายแก้วได้นางสายทอง

             ลองลำรึกดูเทอญ


ค่อยขยับจับเขยื้อนแต่น้อยน้อย
ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง
ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง
ค่อยหลีกเลี่ยงเลียบริมตลิ่งมา

พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก
แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา
ทอดสมอรอท้ายอยู่หลายครา
เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว

สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น
ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว
ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว
พอออกอ่าวก็พอล่มจมลงไป

             ทว่าในตอนอื่นๆ รู้สึกว่าบทพื้นๆ ของอัศจรรย์กลับลงขึ้นไปหาของเดิม คือเริ่มด้วยฟ้าร้อง ฝนคะนอง แดดส่องช่วงเช้าแมลงเล้าบุปผา น่าเสียดายฝีไม้ลายมือต้นฉบับของพื้นบ้านซึ่งถูกทางการเพ่งเล็งว่าหยาบโลนนัก ขุนช้างขุนแผนฉบับชำระที่ชักธงนำหน้าด้วยลีลาเป็นเอกเทศ เลยเหมือนเพชรที่รังสีออกจะมิสว่างพร่างพราวเท่าที่ควร ทั้งที่ครบถ้วนกระบวนความเรื่องของชาวสยามยุคกรุงเทพฯ แรกตั้งและกรุงศรีอยุธยาใกล้หลังกรุงแตกหนสอง ( แต่ก็ยังรังรองกว่าวรรณคดีไทยทั้งหลายแหล่อยูดี )

             มีหนังสือหลายเล่มที่มีเข็มมุ่งเจาะเซาะหนังขุนช้างขุนแผนหลายชื่อ แต่หนังสือขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ในลีลาลิขิตของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกจะโดดเด่นเป็นพิเศษเพราะแฝงเคล็ดไว้ไม่น้อยเคล็ดเลย

             แต่หลายครั้งที่อ้างเอ่ยน่าที่จะมีข้อโต้แย้งความเคลือบแคลงนั้น

             มิได้เป็นการผลักดัสร้างชื่อเสียงเรียงนามตลอดจนถ้อยกระทงความแต่ประการใด ด้วยเป็นการให้ทัศนะซึ่งแตกต่างอีกทางหนึ่ง

             จึงขอขยับกรับต่อ





By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )

No comments:

Post a Comment