Wednesday, December 05, 2012

สัมมาสังกัปปะ

สัมมาสังกัปปะ

          สัมมาสังกัปปะ เป็นมรรคที่จัดอยู่ในกลุ่มปัญญาคู่กับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ หมายถึง การใช้ความคิดชอบดำริชอบ อันเป็นเหตุก่อให้เกิดการกระทำกรรมใดๆ ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นผลมาจากความคิด ความตรินึกเป็นตัวกระตุ้นเป้าประสงค์หรือความตั้งใจอันเป็นผลจากค่านิยมในตัวบุคคลและสังคมนั้นๆ ผู้ที่เข้าใจความหมายของคำว่า " คุณค่า " ได้ชัดเจนมากเท่าไร ก็ย่อมจะสร้างสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะให้กับตนเองได้มากเท่านั้นหากเมื่อใดที่เรามองเห็นและเข้าใจใน " ความเป็นปัจจัยต่อกัน " ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เราก็สามารถค้นพบคุณค่า ทัศนคติ และเป้าหมาย อันเป็นธาตุแท้ภายในตัวเรา

          ตามหลักพุทธศาสนา สัมมาสังกัปปะ หมายถึงความดำริชอบกล่าวคือ เป็นกุศลจิตที่ปราศจากกิเลสอันเนื่องมาจาก อกุศลวิตก 3 ประการ คือ


           1. กามวิตก ได้แก่ความคิดฝ่ายราคะและโลภะ ที่จะแสวงหาสิ่งเสพ ความคิดอยากได้ หมกมุ่นพัวพัน ติดข้อง อยู่กับสิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัส สนองตัณหาอุปาทานต่างๆ

           2. พยาบาทวิตก ได้แก่ความคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคืองไม่พอใจ เคียดแค้น คิดเห็นในแง่ร้ายต่างๆ ปราศจากความเมตตา

           3. วิหิงสาวิตก ความคิดในทางโทสะที่จะเบียดเบียน ทำร้ายข่มเหง รังแก ก่อทุกข์ เพื่อทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน



           คำว่า กิเลส ในทางพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งเศร้าหมอง 10 ประการที่ก่อให้เกิดมิจฉาสังกัปปะ ได้แก่ โลภ หรือความอยากได้ โทสะ ความคิดประทุษร้าย โมหะ ความหลง ความไม่รู้ ความเขลา มานะ ความถือตัว ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ถีนะ ความหดหู่ท้อแท้ถดถอย อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านขาดสมาธิ อหิริกะ ความไม่ละอายต่อความชั่ว อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว

           เครื่องเศร้าหมองทั้งสิบอย่างนี้จัดว่าเป็นเถ้าธุลีที่บดบังปัญญาที่พุทธศาสนานิกายเซนเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน " ฝุ่นที่บดบังกระจกเงา " มันเป็นฝุ่นหรือธุลีที่เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลสที่เราจะต้องพยายามขจัดออกไปเพื่อทำให้ศักยภาพทางปัญญาที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดสามารถส่องมองเห็นสัจธรรมที่ว่า " มันเป็นเช่นนั้นเอง " ได้โดยปราศจากการบิดเบือนและเบี่ยงเบนด้วยอารมณ์ความรู้สึกภายในตัวเรา

           พุทธศาสนาถือว่า สัมมาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันและมีความสัมพันธ์กัน ดังที่ เจมส์ แอลเลน ผู้ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพุทธศาสนา กล่าวไว้ดังนี้

           " ตัวเราคือผลรวมของความคิด ผู้ที่คิดดีย่อมได้รับการยกย่อง ผู้คิดร้ายย่อมก่อทุกข์ให้กับตนเอง ผู้มองโลกในแง่ลบย่อมจมปลักอยู่ในวังวนแห่งโมหาคติและภยาคติ ผู้ปิดกั้นอกุศลจิต คิดดีคิดชอบโลกย่อมสรรเสริญ คิดดีทำดีย่อมได้ดีคิดชั่วทำชั่วย่อมได้ชั่ว "

          อาจจะมีเฉพาะคนในยุคของการดำเนินชีวิตตามแนววัตถุนิยมอย่างเช่นในปัจจุบัน ที่มองว่า ความเห็น ความคิด กับการกระทำ เกิดขึ้นเองตามบุญตามกรรม ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด แม้แต่ผู้ที่ชาวพุทธโดยกำเนิดบางคนยังมีความเห็นผิดว่า ตัวเขาเหล่านั้นอยู่ภายใต้ระบบทางกายภาพและชีวภาพ รวมทั้งจิตวิญญาณก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบนั้น ตายแล้วก็สูญสลายไป ดังนั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรจะแสวงหาความสุขจากการ กิน ดื่ม เสพสนุกสนานร่าเริงบันเทิงใจเสียให้เต็มอิ่ม นี่คือทัศนะคติแบบสุขนิยมของคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่อย่างดาดดื่นในสังคมบริโภคที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสื่อต่างๆ ในปัจุบัน ความเห็นว่า ตายแล้วสูญ จัดว่าเป็นนัตถิกทิฏฐิเป็นความเชื่อความเห็นผิดอย่างหนึ่งที่พุทศาสนาปฏิเสธมาโดยตลอด พระพุทธเจ้าตรัสว่า

           " สิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากสิ่งที่เราคิดมันเกิดขึ้นจากความคิดและบนรากฐานของความคิด ดังนั้น บาปอันเป็นผลจากทางวจีกรรม กายกรรมที่แสดงออกจากอกุศลจิตย่อมจะติดตามเราไปดุจกงล้อเกวียนที่แล่นไล่ไปตามรอยเท้าโคแต่หากเราประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจากอกุศลจิต บุญก็จะส่งให้เราประสบความสุขประการหนึ่งเงาที่ติดตามตัว ดังนี้ " 





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment