Sunday, April 07, 2013

โอกาสดีมาถึง จงรีบลงมือ

โอกาสดีมาถึง จงรีบลงมือ

          ความหมายของปรัชญานี้แสนจะเรียบง่าย เพราะหลักใหญ่ใจความสำคัญนั้นบอกไว้ว่า " สิ่งที่ดีหรือโอกาสที่ดีเมื่อผ่านเข้ามานั้นต้องรีบลงมือทำทันที " ต้องทำโดยไม่ต้องมามัวรีรอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอนและใช้ได้กับทุกเรื่องของชีวิต

           ถ้าเป็นสำนวนไทยคงจะอยู่ในคำพังเพยที่ว่า " น้ำขึ้นให้รีบตัก " หรือถ้าเป็นหนึ่งกลยุทธ์ของตำราพิชัยสงครามของซุนวู ปรมาจารย์ของชาวจีนก็คงต้องเป็นเรื่องของ " เข้าโจมตี... เมื่อฟ้าเป็นใจ "

            ในวงการธุรกิจการค้าในยุคปัจจุบัน เขาอาจเรียกกันว่า " โอกาสทองหรือนาทีทอง " ซึ่งเมื่อโอกาสนี้มาถึง คนทีทำธุรกิจอย่างชาญฉลาดจะรู้ตัวดีว่าถึงเวลาที่เขาเหล่านั้นจะต้องทุ่มเทพละกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ในมือลงไปเพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่

             ทาดาชิ ดาไน ( Tadashi Yanai ) ประธานและซีอีโอ บริษัท ฟาสต์รีเทลลิ่ง จำกัด ( Fast Retailing ) เจ้าของสินค้าแฟชั่นแบรนด์ " ยูนิโคล่ " ( UNIQLO ) ที่มั่นใจว่าเขาจะสามารถสร้างยูนิโคล่ให้กลายเป็นแบรนด์เนมระดับโลกเช่นเดียวกับ " แกป " ( Gap ) หรือ " มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ " ( Mark and Spencer ) ของต่างประเทศได้



             ซึ่งทาดาชิใช้เวลาสั้นๆ เพียง ๑๐ ปี นับตั้งแต่เขาก่อตั้งบริษัทและดันยูนิโคล่ขึ้นมาเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของคนญี่ปุ่น และด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเขาเพื่อฝันที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นจริงได้ จึงมีการออกไปลงทุนเปิดสาขาในต่างประเทศแห่งแรกที่ลอนดอนทันที หลังจากทีเขาประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารในญี่ปุ่น เป็๋นการแตกยอดออกไปในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย

            ก็ในเมื่อขวัญและกำลังใจเยี่ยม พนักงานยอด เงินทุนเป็นถังๆ ทุกอย่างพร้อมและดีที่สุดแล้วในชีวิตการทำงานของเขา แล้วทำไมเขาจะต้องมามัวรีรออะไรอีก !!!

           ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ยูนิโคล่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

           เขาเร่งใช้กลยุทธ์ขยายสาขาอย่างเร่งด่วน เปิดขายตั้งแต่ ๖ โมงเช้า เพื่อให้คนสามารถข้าร้านก่อนไปทำงานหรือไปโรงเรียน ในเวลาเพียง ๓ ปี เขาสามารถทำยอดขายได้ถึง ๓,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก ๕๐๐ สาขา สรุปง่ายๆ คือคนญี่ปุ่นทุกๆ ๑ ใน ๔ จะมีคนสวมเสื้อผ้ายี่ห้อ " ยูนิโคล่ "

          ทาดาชิก็ยังมั่นใจในสิ่งที่เขาทำว่า ถ้าเขาไม่รีบเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่บริษัทเสื้อผ้าระดับโลกในช่วงที่มีโอกาสตั้งแต่ต้น ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ก็คงไม่มีอนาคตในวันนี้ เขากล่าวว่า

          " เป้าหมายสู่บริษัทระดับโลกนี้ ผมผลักดันมาพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างธุรกิจและการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กร ถึงตอนนี้ผมก็ต้องการรวมพลังกายภายในกลุ่มบริษัทให้เกิดผลมากที่สุดเพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะ และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง "

           ปัจจุบันจากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ ทาดาชิกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง และเป็น ๑ ใน ๔๐ มหาเศรษฐีญี่ปุ่นที่ร่ำรวยที่สุด อยู่ในลำดับที่ ๗ มีทรัพย์สิน ๔,๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

           ด้วยบุคลิกลักษณะอันโดดเด่นของเขาทีเป็นคนตัวเล็ก แต่ขอโทษที เขาใจใหญ่มากและตัดสินใจเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อโอกาสดีๆ มาถึง ที่สำคัญก็ไม่ค่อยจะพลาดด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จนั้นเป็นครูที่ดี จึงพอที่จะรู้โดยสัญชาตญาณว่าอะไรคือ " ดี " อะไรคือ " ไม่ดี " 

          จากความหมายในด้านธุรกิจการค้าแล้ว อีกนัยหนึ่งที่สำคัญของความหมายนี้และอยากจะขอกล่าวถึงคือ เรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของคนเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราควรที่จะใช้สติปัญญาตรึกตรองอย่างหนักว่าสิ่งนั้นที่มันเข้ามา คือ " ดี " หรือ " ไม่ดี " 

           เราต้องมองให้ออก หรือภาษาทั่วไปเรียกว่า " มองให้ขาด " 

           และถ้าไม่ดีก็จงปล่อยให้มันพัดเลยไปไกล อย่าไปสนใจอะไรมันทั้งสิ้น

           แต่ถ้ามันดีจริง จงจับให้มั่นและอย่าให้หลุดมือไปได้อย่างเด็ดขาด เช่นกัน !




By ปรัชญา ซามูไร

No comments:

Post a Comment