เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๒๗ )
การสงวนป่าไม้
มีคำกล่าวว่าแหล่งอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่แท้จริงสามารถจะสัมผัสได้เฉพาะแต่ในป่าเท่านั้น เพราะป่านำมาซึ่งประโยชน์อันมหาศาลต่อมนุษย์ชาติและสรรพสัตว์ ถ้าหากว่าป่าทั้งหมดถูกทำลายลงแล้ว โลกทั้งโลกก็จะต้องประสบกับความแห้งแล้งอย่างรุนแรงเป็นแน่ ซึ่งในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความสูญสิ้นของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ราชอาณาจักรไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ซึ่งมีถึง ๕๓.๓๓ % ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่น่าอนาถใจที่ว่าจากการสำรวจโดยภาพถ่ายทางดาวเทียมในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงเหลือแค่เพียง ๒๘.๐๓ % ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ พื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบนและทางตะวันตก ซึ่งมีการแผ้วถางพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านกันมาก นอกจากนี้ก็ยังมีการลักลอบตัดไม้กันอีกด้วย
เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติและมรดกอันมีค่ามากที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา จึงได้มีมาตรการหลายอย่างเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งป่าไม้ ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล เป็นต้นว่า การจัดตั้งโครงการเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้แห่งชาติ สวนธรรมชาติ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การยกเลิกสัมปทานและการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้น
ต้องไม่ลืมว่าเป็นเวลาหลายปีแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเตือนให้พสกนิกรของพระองค์ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของน้ำและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในอดีตสัตว์ป่าถูกฆ่าโดยไม่เลือกเพื่อถวายรางวัลบ้าง เพื่อลิ้มรสอันโอชะของมันบ้าง นอกจากสัตว์ป่าบางชนิดก็ถูกนำไปขายโดยผิดกฏหมายตามท้องตลาด และบางชนิดก็ถูกขโมยออกนอกประเทศไปก็มี
ทุกวันนี้การฆ่าและค้าขายสัตว์หายากถูกห้ามโดยสิ้นเชิง สมเด็จพระบรมราชินีนาถเองก็ทรงริเริ่มโครงการอนุรักษ์หลายอย่างทั่วประเทศ รวมทั้ง " โครงการป่าสิริกิติ์ " ในภาคใต้และ " โครงการป่ารักน้ำ " ในพื้นที่ทั้วประเทศ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบและร่วมมือกัน มิฉะนั้นมรดกทางธรรมชาติของเราจะสูญสิ้นไปภายในระยะเวลาอันสั้นและอนุชนรุ่นหลังก็จะเป็นผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดอันเนื่องมาจากความไม่รับผิดชอบของพวกเรา
By Essays on Thailand
No comments:
Post a Comment