บรรพที่ ๑ ขัตติยธรรมและโครงสร้างการปกครอง
บทที่ ๑ ขัตติยธรรม
ไม่เคยได้ยินว่า แผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะองค์ราชันทรงบำเพ็ญขัตติยธรรม
" คุณธรรมพื้นฐานข้อหนึ่งขององค์จักรพรรดิคือ ต้องคำนึงถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรเหนือสิ่งอื่นใด หากเสริมสร้างอำนาจบารมีปรนเปรอตนเองโดยทำให้ราษฎรทุกข์ยากเดือดร้อนแล้วไซร้ ก็อุปมาดั่งเฉือนเนื้อแขนขาบำเรอท้อง ท้องอิ่มแต่มรณา ถ้าต้องการสร้างสันติสุขบนแผ่นดิน จะต้องบำเพ็ญขัตติยธรรม ปรับปรุงตนเองให้เป็นคนดีงามเสียก่อน ข้าฯ ไม่เคยได้ยินว่า ' ร่างตรง เงากลับคด ราชสำนักบริสุทธิ์ยุติธรรม แผ่นดินกลับปั่นป่วนวุ่นวาย '
" ข้าฯ มักคิดเสมอว่า สิ่งที่ทำลายตัวเราไม่ใช่ของนอกกาย หากคือภัยพิบัติที่เกิดจากความโลภ ความหลง ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม และกิเลสตัณหาในตัวเราเอง ยิ่งละโมบทะยานอยาก หมกมุ่นสุรานารีมากเพียงใด จะยิ่งก่อภัยพิบัติมากเท่านั้น ซึ่งมิเพียงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ยังสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรอีกด้วย ยิ่งหากพูดจาเขื่องโขวางอำนาจไม่มีเหตุผลซ้ำเติมเข้าไป ก็จะทำให้ราษฎรเคียดแค้นชิงชัง เอาใจออกหาก กระทั่งก่อกบฏในที่สุด ข้าฯ คิดถึงปัญหานี้เสมอ จึงไม่กล้าปรนเปรอตนเอง เสพสุขตามอำเภอใจ "
อำมาตย์เว่ยเจิงกราบทูลว่า " เมธีกษัตริย์สมัยโบราณ ล้วนกล้าตรวจสอบปรับปรุงตนเอง จึงตรวจสอบปรับปรุงผู้อื่นได้ ก่อนนี้เจ้าแคว้นฉู่ทรงตรัสถามจันเหอ ( นักแสวงวิเวกธรรมสมัยชุนชิว ) ถึงปัญหามรรคาแห่งการปกครอง จันเหอกราบทูลว่า ' ผู้น้อยไม่เคยได้ยินว่า แผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวายเพราะองค์ราชันทรงบำเพ็ญขัติยธรรม ' เหตุผลที่พระองค์ทรงตรัสเมื่อครู่นี้สอดคล้องกับอริยธรรมของปราชญ์สมัยโบราณทุกประการ "
ความแตกต่างระหว่าง
จักรพรรดิที่รู้แจ้งกับจักรพรรดิที่โฉดเขลา
เฉินกวนศก ๒ ( ค.ศ.๖๒๘ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ตรัสถามเว่ยเจิงว่า " จักรพรรดิที่รู้แจ้งกับจักรพรรดิที่โฉดเขลาต่างกันอย่างไร ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " จักรพรรดิที่รู้แจ้ง ทรงพระปรีชาญาณ ก็เพราะทรงเปิดพระทัยกว้าง สันทัดในการรับฟังความเห็นต่าง ส่วนจักรพรรดิที่โฉดเขลา ทรงเบาปัญญา ก็เพราะชอบฟังความข้างเดียว หลงเชื่อขุนนางถ่อย ในคัมภีร์ซือจิงมีตอนหนึ่งว่า ' หลงป่าถามทางชายตัดฟืน ' ก่อนนี้เมธีกษัตริย์เหยาและซุ่นปกครองด้วยพระทัยเปิดกว้าง ทรงอุปการะปราชญ์ทั่วแผ่นดิน รับฟังความเห็นทุกฝ่าย จึงเข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างถ่องแท้ สามารถดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้น ขุนนางอย่างก้งกงและกุ่น ( ก้งกง กุ่น ฮวนโตว และซานเหมียว รวมสี่คน มีฉายาว่า ' สี่วายร้าย ' ก้งกงชอบมั่วกามา กุ่นอวดอ้างว่าสร้างความดีความชอบไว้มากมายเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ) จึงปิดบังพระเนตรพระกรรณของพระองค์ไม่ได้ คำพูดหวานหูสอพลอก็หลอกลวงพระองค์ไม่ได้
" ส่วนจักรพรรดิฉินเอ้อซื่อ ( หูไฮ่โอรสองค์เล็กของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงหลงเชื่อเจ้าเกา กระทั่งถูกเจ้าเกาปลงพระชนม์ ) กลับตรงกันข้าม พระองค์ทรง ' เก็บตัว ' ในวังลึก ไม่ปรึกษาหารือคลุกคลีกับเหล่าอำมาตย์ กลับเชื่อฟังเจ้าเกาแต่ผู้เดียว กระทั่งราษฏรเอาในออกหาก ก่อกบฏ แผ่นดินหลุดจากเงื้อมพระหัตถ์แล้ว พระองค์ยังทรงไม่ทราบ
จักรพรรดิเหลียงอู๋ตี้ ( เซี่ยวเหยี่ยน ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหลียงสมัยหนานเฉา ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๕๐๒ - ๕๓๙ ) ทรงหลงเชือจูอี้ ( เป็นขุนนางกังฉิน ชอบปิดบังพระเนตรกรรณ์องค์เหนือหัว เพื่อแสวงอำนาจลาภผลใส่ตัว ) กระทั่งโหวจิ่ง ( เดิมเป็นขุนศึกราชวงศ์ตงเว่ย ต่อมาสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์เหลียงตามคำชักชวนของจูอี้ สร้างความชอบจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่ แต่ท้ายที่สุดก็ก่อกบฏ ยกทัพตีราชธานีไถเฉิง จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ทรงถูกกักบริเวณกระทั่งสิ้นพระชนม์ ) ก่อกบฏยกทัพตีราชธานีแล้ว พระองค์ยังไม่ทรงทราบ
" จักรพรรดิสุยหยางตี้ ( หยางกว่าง ราชโอรสองค์รองของจักรพรรดิสุยเหวินตี้ ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๖๐๔ - ๖๑๘ ) ทรงหลงเชื่อหลี่ซื่อจี ( ผู้ช่วยมหาเสนาบดี สมัยจักรพรรดิสุยเหวินตี้ เขาทราบว่าพระองค์ทรงไม่ชอบสดับฟังข่าวกบฏ จึงไม่รายงาน สุดท้ายถูกหวี่เหวินฮั่วจี๋ประหาร ) แต่ผู้เดียว กระทั่งกบฏในท้องที่ต่างๆ ยกทัพตีเมืองยึดดินแดนกันอย่างเอิกเกริก สถานการณ์คับขันมากแล้ว พระองค์ยังไม่ทรงทราบ
" เพราะฉะนั้น หากองค์จักรพรรดิทรงสันทัดในการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ด้วยพระทัยที่เปิดกว้างแล้ว ขุนนางซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อแผ่นดิน ก็จะไม่ถูกปิดปาก อารมณ์ความรู้สึกและข้อคิดเห็นของเหล่าข้าราชบริพาร ก็จะถึงพระเนตรพระกรรณ "
ถางไถ่จงฮ่องเต้ทรงชื่นชมคำกราบทูลนี้มาก
สร้างหรือรักษาอาณาจักรยากกว่า ?
เจินกวนศก ๑๐ ( ค.ศ.๖๓๖ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสถามเหล่าเสนาอำมาตย์ว่า " พูดถึงภารกิจยิ่งใหญ่ขององค์จักรพรรดิแล้ว ข้าฯ ขอถามว่า การสร้างอาณาจักรหรือการรักษาอาณาจักรยากกว่า ? "
มหาเสนาบดีฝางเสฺวียนหลิงกราบทูลว่า " เมื่อแผ่นดินไม่สงบ เหล่าวีรบุรุษต่างซ่องสุมกำลังยึดดินแดนชิงกันเป็นใหญ่ ผู้ที่ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิได้ จะต้องพิชิตวีรบุรุษเหล่านั้น รวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเสียก่อน การสร้างอาณาจักรจึงน่าจะยากกว่า "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ปฐมจักรพรรดิผู้สร้างอาณาจักรใหม่ ต้องอาศัยจังหวะที่ีแผ่นดินปั่นป่วน และจริยธรรมเสื่อมโทรม โค่นจักรพรรดิที่โฉดเขลาลงไป เพราะราษฎรจะยินดีอุ้มชู คนดีมีฝีมือทั่วทุกสารทิศจะยอมเป็นพวก ดังสำนวนที่ว่า ' ฟ้าเป็นใจ ราษฎรเป็นพวก ' ถ้ามองในแง่นี้ การสร้างอาณาจักรไม่น่าจะยากเท่าใด ครั้นยึดครองแผ่นดินได้แล้ว องค์จักรพรรดิมักลืมความยากลำบากแต่หนหลัง ค่อยๆ หลงละเลิงลืมตน เอแต่หมกมุ่นสุรานารี เสพสำราญตามอำเภอใจ ราษฎรต้องการชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข กลับถูกเกณฑ์แรงงานตลอดเวลา ราษฎรยากจนข้นแค้น กลับถูกรีดส่วยภายษีไม่เว้นวัน ราชอาณาจักรมักเสื่อมโทรมล่มสลายโดยเริ่มจากเหตดังกล่าว เพราะฉะนั้น การรักษาอาณาจักรจึงน่าจะยากกว่า "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสว่า " ฝางเสฺวียนติดตามข้าฯ รวบรวมแผ่นดิน ฝ่าฟันอันตรายและความยากลำบากนานัปการขั้น ' เก้าตายหนึ่งรอด ' มาแล้ว จึงรู้รสชาติความยากลำบากในสมัยสร้างอาณาจักรดี ส่วนเว่ยเจิงติดตามข้าฯ สร้างสันติสุขบนแผ่นดิน กังวลว่าข้าฯ จะหยิ่งยะโส หลงละเลิงลืมตน ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม หมกมุ่นสุรานารี เอาแต่เสพสำราญ อันจะเป็นเหตุทำให้ราชอาณาจักรเสื่อมโทรมล่มสลายในไม่ช้า จึงเห็นว่าการรักษาอาณาจักรยากกว่า บัดนี้เราผ่านความยากลำบากในระยะการสร้างอาณาจักรมาแล้ว ส่วนความยากลำบากในระยะรักษาอาณาจักรนั้น ข้าฯ และท่านทั้งหลายพึงช่วยกันรับมือด้วยความระมัดระวังและมีสติ "
การปกครองสามแบบ
และ ข้อใคร่ครวญสิบประการ
เจินกวนศก ๑๑ ( ค.ศ. ๖๓๗ ) เว่ยเจิงทำฎีกาทัดทานถางไท่จงฮ่องเต้ว่า
" นับแต่โบราณกาลมา ผู้รับโองการสวรรค์บุกเบิกอาณาจักร ตลอดถึงผู้สืบราชสมบัติ ล้วนปรารถนาบัญชาเหล่าวีรบุรุษและนักปราชญ์บัณฑิตช่วยปกครองแผ่นดิน บำเพ็ญขัตติยธรรมและแผ่ขยายบารมีของพระองค์ปกเกล้าเหล่าพสกนิกร ยืนยงตราบเท่าฟ้าดิน ส่องสว่างดุจสุริยันจันทรา และให้บุตรหลานสืบราชบัลลังก์ตราบนิรันดร์ แต่ทว่าจักรพรรดิที่บำเพ็ญขัตติยธรรมได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย มีน้อยยิ่งนัก จักรพรรดิที่สูญเสียบัลลังก์ ทำให้อาณาจักรเสื่อมโทรมล่มสลาย กลับมีมากอย่างยิ่ง นี่เป็นเพราะเหตุใด ? เพราะพระองค์เหล่านั้นมิได้เคารพปฏิบัติตามกุศลบายปกครองอย่างเคร่งครัด บทเรียนแห่งการล่มสลายของราชวงศ์ก่อนห่างจากยุคเราไม่ไกล ควรที่ฝ่าบาทจะสังวรให้จงหนัก
" ราชวงศ์สุยใช้เวลารวบรวมแผ่นดินกว่า ๓๐ ปี มีกองทัพที่เข้มแข็งเกรียงไกร แผ่แสนยานุภาพไปทั่วทุกสารทิศ เป็นที่ครั่นคร้ามของแว่นแคว้นทั้งปวง เมื่อล่มสลายลง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตกไปอยู่ในกำมือของคนอื่น เหตุใดจักรพรรดิสุยหยางตี้จึงไม่อาจสร้างสันติสุขบนแผ่นดิน รักษาอาณาจักรของพระองค์ให้ยืนยง กลับเจริญรอยตามทรราชเจี๋ยและโจ้ว ก้าวสู่ความพินาศดับสูญเล่า ? ก็เพราะพระองค์ทรงหลงละเลิงลืมตัว คิดว่าอาณาจักรของพระองค์มั่งคั่งและเข้มแข็งเกรียงไกร มิได้วิตกกังวลถึงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น พระองค์ทรงรีดนาทาเร้น เฟ้นหาหญิงงามทั่วแผ่นดินเข้าวังปรนเปรอสวาท เกณฑ์แรงงานราษฎรมิได้หยุด เพื่อสร้างกลุ่มปราสาทราชมณเฑียรโอฬารตระการตาสนองกิเลสตัณหาของพระองค์ นอกจากนี้ ยังยกทัพทำศึกบำราบ ขยายขอบขัณฑสีมา ปล้นชิงทรัพย์สินแว่นเคว้นอื่นมิได้หยุด พระองค์ทรงมีอิริยาบถเคร่งขรึมสำรวม แต่จิตใจกลับไปโฉดเขลาขี้ระแวง ขุนนางที่ชั่วร้ายสอพลอ มักได้รับพระราชทานยศศักดิ์บำเหน็จ ส่วนขุนนางที่ซื่อสัตย์เที่ยงตรง กลับเอาชีวิตไม่รอด เบื้องบนเบื้องล่างจึงปิดหูปิดตาซึ่งกันและกัน ละทิ้งขัตติยธรรม กระทั่งราษฎรทนไม่ไหว เอาใจออกหาก แผ่นดินแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ อาณาจักรล่มสลาย ท้ายที่สุด พระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์โดยฝีมือทหารเอกบริวารคู่ใจเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์กถูกปลงพระชนม์จนหมดสิ้น เป็นที่เย้ยหยันไยไพของราษฎรทั่วแผ่นดิน นี่มิใช่โศฏนาฏกรรมอันน่าสังเวชดอหหรือ ?
" อัจริยปราชญ์อาศัยจังหวะและโอกาส ช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากห้วนวิบัติ ทำให้่เสาสวรรค์ ( คนโบราณเชื่อว่าแผ่นดินมีเสาแปดต้นค้ำฟ้าอยู่ ฟ้าจึงไม่ถล่ม ) ที่บิดเอียงกลับตรงตระหง่าน ทำให้เชือกธรณิน ( คนโบราณเชื่อว่าแผ่นดินเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่หัวมุมมีเชือกสี่เส้นผูกแขวนไว้ บ้างว่าจารีตธรรม คลองธรรม สุจริตธรรม และหิริธรรม ก็คือเชือกธรณิน ) ที่หย่อนคลายกลับตึงแน่น ทำให้ราษฎรประกอบสัมมาอาชีพได้ตามปกติ บ้านเมืองจึงล่มเย็นเป็นสุขภายในเวลาไม่ถึงปี แสดงว่าอัจฉริยปราชญ์น่าจะสร้างสังคมที่ปลอดการลงทัณฑ์ได้ภายในเวลาร้อยปี
" บัดนี้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถางของเรา ทรงมีอุทยานเวียงวังโอฬารตระการตา มีสินทรัพย์อัศจรรย์ล้ำค่ามากมายในครอบครอง มีหญิงงามสุขุมาลมากหลายคอยปรนนิบัติมิห่างพระวรกาย ราษฎรและคนดีมีฝีมือทั่วทุกสารทิศต่างยอมสวามิภักดิ์เป็นข้าในพระองค์ "
" ฝ่าบาทหากทรงยินดีเก็บรับบทเรียนทางประวัติศาสตร์กรณีราชวงศ์สุยล่มสลายเสียอาณาจักร รำลึกถึงประสบการณ์แห่งความสำเร็จครั้งรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นในอดีตกาล เพื่อให้พระองค์ทรงสุขุมและระวังมากยิ่งขึ้นถึงเคยสร้างคุณูปการมากมายแก่แผ่นดิน ก็ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน กล้าเผาหอลู่ไถ ( เป็นหอที่ทรราชโจ้วมีพระบัญชาให้สร้างไว้เก็บทรัพย์สมบัติที่รีดนาทาเร้นจากราษฎรและบังคับเก็บส่วยบรรณาการจากแว่นแคว้นต่างๆ ท้ายที่สุดพระองค์ทรงปราชัยแก่กองทัพกษัตริยราชอู่แห่งราชวงศ์โจว จึงเสด็จขึ้นไปบนหอ จุดไฟเผาหอลู่ไถ ปลิดชีพตนเองในกองเพลิง ) และวัตถุฟุ่มเฟือยประเภทภูษิตวิเศษ ฯลฯ กล้ารื้อตำหนักโอฬารอย่างพระราชวังอาฝางกง ยามพำนักในตำหนักอุทบานตระการตา จะกังวลถึงภัยพิบัติที่อาจก่อตัวขึ้น ยามพำนักในเรือนเก่าบ้านธรรมดา กลับสบายพระทัยคลายวิตกแล้ว ก็หมายความว่า ฝ่าบาททรงปฏิบัติตนเป็นเยี่ยงอย่างทีดีแก่เหล่าขุนนางข้าราชสำนัก ซึ่งย่อมเกิดผลในแง่ช่วยอบรมกล่อมเกลาจิตใจราษฎรอย่างลึกซึ้ง บรรลุ ' การปกครองโดยไม่ปกครอง ' โดยไม่จำเป็นต้องเกลี้ยกล่อมใครให้ทรงเหน็ดเหนื่อยพระทัย นี่คือกุศโลบายปกครองขั้นสูงสุด
" หากฝ่าบาททรงเห็นว่า สิ่งที่สร้างขึ้นแล้ว ไม่ควรทำลาย ขอรักษาโฉมเดิมไว้ แต่ละเลิกกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เกณฑ์แรงแต่น้อย ปล่อยกระต๊อบเรือนดินอยู่คู่ปราสาทราชมณเฑียรโดยไม่รู้สึกขัดเคืองพระเนตร ให้โอกาสราษฎรประกอบสัมมาอาชีพตามปกติ ไม่อดอยากขัดสน และทรงคำนึงถึงความทุกข์ยากของเหล่าพสกนิกรตลอดเวลาที่ทรงสุขสบายไม่เหน็ดเหนื่อยพระวรกายแล้ว เหล่าพสกนิกรก็จะยินดีปรนนิบัติรับใช้ราชสำนักอย่างสมัครใจ โดยไม่ต้องกะเกณฑ์ มีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขใต้บารมีแห่งพระเมตตาและขัตติยธรรมของฝ่าบาท นี่คือกุศโลบายการปกครองขั้นรอง
" แต่ถ้าพระองค์ทรงหลงละเลิงลืมตน ไม่เห็นผู้ใดในสายพระเนตร ไม่คำนึงถึงผลบั้นปลาย ไม่บำเพ็ญขัตติยธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กระทั่งลืมความยากลำบากสมัยสร้างอาณาจักรจนหมดสิ้น ถือดีว่าเป็นผู้สนองโองการสวรรค์ จึงละทิ้งชีวิตสมถะสมัยพักอาศัยในเรือนเก่าผุโทรม หันมาใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม บูรณะปราสาทราชอุทยาน ตกแต่งประดับประดาให้วิลิศมาหรามากยิ่งขึ้น ไม่รู้จักพอพระทัย ราษฎรถูกเกณฑ์แรงไม่หยุดหย่อนมิได้พบเห็นพระเมตตาและขัตติยธรรมของฝ่าบาทอีก นี่ก็คือการปกครองที่บ้องตื้น อุปมาดั่งแบกฟืนไปดับไฟ หรือเติมน้ำเดือดในหม้อนำร้อน ซึ่งก็คือใช้การปกครองที่โหดร้ายทารุณเข้าแทนที่การปกครองที่โหดร้ายทารุณ ท้ายที่สุดแผ่นดินย่อมปั่นป่วนไม่สงบซ้ำรอยกาลก่อน ชนรุ่นหลังค้นหาคุณูปการของฝ่าบาทไม่พบ เมื่อฝ่าบาทไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่แผ่นดินแล้ว ฟ้าย่อมพิโรธ ราษฎรก็เอาใจออกหาก กระทั่งแผ่นดินปั่นป่วนไม่สงบ เกิดกบฏจราจลถึงตอนนั้น ฝ่าบาทย่อมไม่อาจรักษาชีวิตของตนและเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดถึงเกียรติภูมิที่ฝ่าบาทเพียรสร้างขึ้นด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเป็นเวลายาวนานในอดีต เอาไว้ได้ !
" หนกคล้อยตามโองการสวรรค์ ปกครองแผ่นดินด้วยขัตติยธรรมอาณาจักรไต้ถางจะมีชะตารุ่งเรืองถึง ๗๐๐ ปี ฝ่าบาทจะสามารถส่งมอบแผ่นดินเป็นมรดกแก่บุตรหลานสืบไป แผ่นดินไดยากเสียง่าย ฝ่าบาทจะไม่ทรงใคร่ครวญปัญหานี้อย่างจริงจังล่ะหรือ ? "
เดือนเดียวกันนั้น เว่ยเจิงทำฏีกากราบทูลถางไท่จงฮ่องเต้อีกว่า
" ผู้น้อยได้ยินว่า ไม้ใหญ่พุ่มใบดกหนา เพราะหยั่งรากลึก ลำธารไหลเลาะสืบสาย เพราะต้นธารกว้างลึกมีน้ำอุดม แผ่นดินสงบสุขยืนยง เพราะจักรพรรดิทรงมีเมตตา หมั่นบำเพ็ญขัตติยธรรม ถ้าต้องการให้ต้นไม้เจริญเติบโตโดยไม่หยั่งรากให้ลึก ต้องการให้ลำธารไหลเลาะสืบสายโดยที่ต้นธารเล็กแคบมีน้ำน้อย และต้องการให้แผ่นดินสงบสุขยืนยงโดยที่จักรพรรดิทรงไร้เมตตา ไม่บำเพ็ญขัตติยธรรมนั้น ย่อมมิอาจเป็นไปได้เลย เหตุผลนี้แม้ผู้มีปัญญาน้อยนิดยังเข้าใจ จึงมิพักต้องกล่าวถึงอริยจักพรรดิผู้รู้แจ้งแล้ว
" จักรพรรดิ ผู้กุมอำนาจยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติภูมิสูงสุด อยู่เหนือเหล่าพสกนิกรทั่วแผ่นดิน หากทรงไม่ไคร่ครวญถึงวิบัติภัย ไม่ใช้ชีวิตสมถะลดละความฟุ้งเฟอทะยานอยาก ไม่บำเพ็ญขัตติยธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เอาชนะกิเลสตัณหาของต้นแล้ว ก็ดั่งหนึ่งต้องการให้ต้นไม้เจริญเติบโตแต่ตัดรากเสียต้องการให้ลำธารไหลเลาะสืบสายแต่ปิดถมต้นน้ำเสีย
" โดยปกตินั้น จักรพรรดิผู้สนองโองการสวรรค์ในช่วงบุกเบิกภารกิจรวบรวมแผ่นดินสร้างอาณาจักร ล้วนแต่บำเพ็ญขัตติยธรรมอย่างมีสติ เห็นได้ชัด ครั้นสร้างอาณาจักรสำเร็จแล้ว ก็บำเพ็ญขัตติยธรรมน้อยลง ผู้บำเพ็ญขัตติยธรรมชั่วขณะ มีอยู่มาก ผู้บำเพ็ญขัตติยธรรมอย่างเสมอต้นเสมอปลายกลับมีน้อยนัก กล่าวกันว่า การช่วงชิงอำนาจปกครองเป็นเรื่องง่าย การรักษาอำนาจปกครองเป็นเรื่องยาก ก็เพราะเหตุดังกล่าวนี่เอง
" ก่อนนี้ ฝ่าบาทมีกำลังพอสร้างอาณาจักร แต่ทุกวันนี้ กลับไม่มีกำลังพอรักษาอาณาจักร เพราะเหตุใดหรือ ? เพราะสมัยสร้างอาณาจักร ฝ่าบาททรงมีติ ระมัดระวัง และวิตกกังวลในอุปสรรคนานัปการ จึงปฏิบัติต่อข้าราชการบริพารอย่างจริงใจ ครั้นสมปรารถนาแล้ว ก็ทรงหลงละเลิงลืมตน ไม่ควบคุมกิเลสตัณหา ไม่เห็นใครในสายพระเนตร
" สมัยที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อข้าราชบริพารอย่างจริงใจ แม้ชาวเป่ยหู ชาวหนานเยฺว่ซึ่งอยู่ในดินแดนอันไกลโพ้น พระองค์ทรงหลงละเลิงลืมตน ไม่เห็นใครในสายพระเนตร แม้พระบรมวงศานุวงศ์หรือเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์เองพระองค์ก็ทรงเมินเฉย แต่ถึงฝ่าบาทจะทรงชิงชังพวกเขาเหล่านั้นเพียงใด ข่มขู่และลงทัณฑ์ทรมานอย่างไร ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างดีที่สุด พวกเขาก็พยายามไม่ทำผิดกฏหมาย แต่ใจกลับเป็นอื่น ท่าทีนอบน้อมแต่จิตใจไม่สวามิภักดิ์ ดูผิวเผินคล้ายมิมีผู้ใดไม่พอใจ แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ากลับเกิดขึ้น คนทั้งหลายค่อยๆ เอาใจออกหาก น้ำลอยเรือได้ ก็จมเรือได้ จึงต้องระวังให้จงหนัก อุปมาดั่งกุมบังเหียนรถม้าด้วยเชือกเปื่อย ย่อมเลี่ยงอันตรายไม่พ้นจึงควรเปลี่ยนเชือกแต่แรก
" องค์จักรพรรดิยามปรารถนาสิ่งใด ต้องคิดถึงความรู้จักพอ เพื่อเตือนสติตนเอง
" ยามเกณฑ์แรงก่อสร้างสิ่งใด ต้องรู้จักประมาณ คำนึงถึงความเหมาะสม เพื่อมิให้ราษฎรเดือดร้อน กระทั่งเคียดแค้นชิงชัง
" เมื่อรู้ว่าอยู่ในตำแหน่งสูงสุดเต็มไปด้วยภยันตราย ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้โอบอ้อมอารีและนอบน้อมถ่อมใจ
" เมื่อกลัวว่าจะเย่อหยิ่งทะนงตน รับฟังคำทัดทานไม่ได้ ควรคิดถึงมหาสมุทรซึ่งอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำลำคลองทุกสาย
" เมื่อจะเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ทรงพระเกษมสำราญ ควรคิดถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ อนุญาตให้ตนเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ได้ไม่เกินสามครั้งต่อปี
เมื่อกังวลว่าจะปล่อยปละราชกิจงานเมือง ต้องพยายามตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
" เมื่อเกรงว่าจะถูกปิดบังพระเนตรพระกรรณ ต้องคิดถึงการนอบน้อมถ่อมใจ ยินดีรับฟังความคิดเห็นของเหล่าข้าราชบริพาร
" เมื่อกังวลว่ากังฉินขุนนางสอพลอจะควบคุมราชการแผ่นดิน จะต้องปรับปรุงตนเอง ชำระจิตใจให้สะอาด ผลักไสสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง
" เมื่อจะพระราชทานบำเหน็จ ต้องไม่ตกรางวัลมากมายส่งเดช เพราะความพอใจชั่วขณะ
" เมื่อจะลงโทษ ก็ไม่ควรวงทัณฑ์ทรมานส่งเดช เพราะอารมณ์โกรธชั่ววูบ "
โดยสรุป หากทรงคิดถึง ' ข้อใคร่ครวญสิบประการ ' ข้างต้นนี้เสมอส่งเสริมคุณธรรมอันดีงามเหล่านี้ให้แพร่หลาย เลือกเลื่อนแต่งตั้งคนดีมีฝีมือเป็นขุนนาง และปฏิบัติตามความคิดเห็นที่ถูกต้องแล้ว คนมีสติปัญญาความสามารถจะอุทิศสติปัญญาความสามารถ คนมีสัจจะจะซื่อสัตย์รักษาสัจจะวาจา ขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊จะแข่งกันสร้างผลงานแก่ชาติบ้านเมือง จักพรรดิกับขุนนางจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์จักรพรรดิก็จะมีเวลาเสด็จประพาสทุกหนแห่ง ทรงพระเกษมสำราญ มีอายุวัฒนะเฉกเช่นเทพเจ้าเช่อซงและหวางเฉียว มีเวลาสดับดนตรี บรรเลงเพลงพิณห้าสาย และเอื้อนลำนำกวีสายลมทักษิณาเช่นเดียวกับเมธีกษัตริย์ซุ่นแห่งราชวงส์หวี บรรลุ ' การปกครองโดยไม่ปกครอง ' กล่อมเกลาราษฎรโดยไม่ต้องพร่ำบ่นอบรม ไม่ต้องเหนื่อยกายเพลียใจ ปวดเศียรเวียนเกล้า ลงไปทำงานแทนบริวารให้อ่อนล้าพระเนตรพระกรรณ สิ้นเปลืองกำลังและสติปัญญา ทำลายวิถีแห่ง ' การปกครองโดยไม่ปกครอง ' โดยใช่เหตุ "
ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงพระอักษรตอบเว่ยเจิงว่า
" หลังอ่านฎีกาของท่านทั้งหลายเที่ยวแล้ว ข้าฯ ยอมรับว่า ท่านเขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างที่สุด ท่นใช้ถ้อยคำที่มีเหตุผลลึกซึ้งและเปี่ยมน้ำใจ ข้าฯ อ่านแล้วรู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง มักนำมาอ่านซ้ำกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน หากท่านมิได้แนะนำข้าฯ ด้วยจิตใจซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อแผ่นดินและราชอาณาจักรของข้าฯ อย่างที่สุดแล้ว ย่อมไม่อาจเสนอกุศโลบายปกครองที่ยอดเยี่ยมสำหรับแก้ไขความผิดพลาดของข้าฯ ได้
" ข้าได้ยินว่า จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ ( สุมาเอี๋ยน ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซีจิ้น ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๒๖๕ - ๒๘๕ ) ครั้งพิชิตง่อก๊กสำเร็จ ก็เริ่มใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เอาแต่เสพสำราญ ไม่ใส่ใจราชกิจงานเหมือนดังก่อน เหอเจิง ( มหาเสนาบดีสมัยซีจิ้น ) กล่าวแก่เหอเซ่าผู้บุตรเมื่อกลับถึงคฤหาสน์หลังเลิกประชุมแล้วว่า ' ทุกครั้งที่บิดาเข้าเฝ้า พระองค์จะทรงตรัสแต่เรื่องปลีกย่อยธรรมดา ไม่เคยตรัสถึงปัญหาการปกครองเรื่องใหญ่ของชาติบ้านเมืองเลยพระองค์ทรงไม่ใช่จักรพรรดิที่รักษาแผ่นดินให้มีเสถียรภาพยืนยง เป็นมรดกตกทอดแก่บุตรหลานสืบไปได้ ลูกยังอาจรักษาชีวิตรอดเอาตัวรอดได้ ' จากนั้นชี้ไปที่หลานๆ แล้วพูดต่อไปว่า ' แต่พวกเขาอาจจะต้องตายเพราะแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย ' พอถึงรุ่นลูกหลาน ปรากฏว่า เหอซุย ( เคยเป็นเสนาบดี แต่ผลสุดท้ายถกเจ้าพระยาตงไห่ ซือหม่าเยฺว่ ประหาร ) เสียชีวิตด้วยทัณฑ์ทรมานยามแผ่นดินไม่สงบตามคาด จดหมายเหตุประวัติศาสตร์ทุกเล่มล้วนยกย่องเหอเจิว่าเป็นผู้หยั่งรู้อนาคต แต่ข้าฯ ไม่เห็นด้วย ข้าฯ เห็นว่า เหอเจิงมีโทษกรรมมหันต์เขาไม่ได้จงรักภักดีต่อองค์เหนือหัวอย่างแท้จริง
" การเป็นขุนนางราชสำนักนั้น เวลาประชุม ต้องกล้าเสนอความคิดเห็นด้วยจิตใจที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อประเทศอย่างที่สุด หลังเลิกประชุมแล้ว ต้องช่วยองค์จักรพรรดิปรับปรุงราชการแผ่นดิน ถ้าองค์จักรพรรดิปกครองแผ่นดินอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องพยายามสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ถ้ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องเกิดขึ้น ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข เช่นนี้แล้ว แผ่นดินจึงจะสงบสุข เหอเจิงเป็นถึงมหาเสนาบดี มีตำแหน่งสูงสุดรองจากองค์จักรพรรดิเท่านั้น ควรกราบทูลแนะนำและถวายคำทัดทานอย่างตรงไปตรงมา ช่วยองค์จักรพรรดิ ปรับปรุงวิธีบริหารราชการแผ่นดิน จึงจะถูกต้อง แต่เขากลับนินทาพระองค์ลับหลัง แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเมื่อกลับถึงคฤหาสน์ ไม่ถวายคำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาในที่ประชุม ถ้ายกย่องให้เขาเป็นมหาเสนาบดีผู็ปราดเปรื่อง เพราะเหตุดังกล่าวแล้ว ขอถามหน่อยว่า มหาเสนาบดีเยี่ยงนี้มีประโยชน์อะไรหรือ ?
" คำทัดทานที่จริงใจของท่าน ทำให้ข้าฯ มองเห็นความผิดพลาดของตนเอง ข้าฯ จะขอติดคำทัดทานของท่านไว้บนโต๊ะเขียนหนังสือ ดังเช่นซีเหมินเป้ามีนิสัยมุทะลุจึงพกหนังนุ่มติดตัว ต่งอานวีมีนิสัยเรื่อยเฉื่อยจึงพกคันเกาทัณฑ์ ที่ขึ้นสายตึง ติดตัว เพื่อเตือนสติตนเองตลอดเวลา ข้าฯ จะพยายามบริหารราชการแผ่นดินอย่างดีที่สุดในบั้นปลายของข้าฯ ทำให้บทเพลงสรรเสริญยุคแห่งความรุ่งเรืองมิเพียงเหมาะที่จะขับกล่อมเฉพาะในยุคเมธีกษัตริย์ซุ่นแห่งราชวงศ์หวีเท่านั้น บัดนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิกับขุนนางของเรา แนบแน่นไร้ช่องห่างประดุจปลากับน้ำ ข้าฯ เสียใจที่เพิ่งตอบคำเสนอกุศโลบายของท่านในวันนี้ ข้าฯ หวังว่าท่านจะยืนหยัดทูลถวายคำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวาดกลัวสีหน้าท่าทีของข้าฯ และไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ เช่นเดิม ข้าฯ จะรับฟังคำทัดทานซึ่งเปรียบเสมือนเสียงแห่งธรรมของท่านด้วยจิตใจนอบน้อมถ่อมตนตลอดไป
ยามสุขสบาย ต้องนึกถึงภยันตราย
เจินกวนศก ๑๕ ( ค.ศ.๖๔๑ ) ถางไท่จงฮ่องเต้ทรงตรัสถามเหล่าข้าราชบริพารว่า " การรักษาอาณาจักรนั้น ยากหรือง่าย ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ฝ่าบาทยากยิ่งนัก ! "
ถางไท่จงฮ่องเต้ตรัสว่า " ขอเพียงรู้จักช่วงใช้คนดีมีฝีมือ และสันทัดในการรับฟังความคิดเห็น ก็รักษาอาณาจักรไว้ได้แล้ว เหตุใดจึงกล่าวว่ายากยิ่งนักเล่า ? "
เว่ยเจิงกราบทูลว่า " ย้อนมองกษัตริย์และจักรพรรดิในอดีตกาล ยามตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอันตราย ก็จะช่วงใช้คนดีมีฝีมือและรับฟังความคิดเห็น ครั้นเมื่อสถานการณ์สงบลง เริ่มเสพสุขทรงพระเกษมสำราญได้แล้วก็จะเกียจคร้าน ไม่ใส่ใจราชกิงานเมือง พอพระทัยเฉพาะขุนนางขี้ฉ้อขอรับเมื่อเป็นเช่นนี้ อาณาจักรก็จะเริ่มเสือมโทรม กระทั่งล่มสลายในท้ายที่สุด เมธีกษัตริย์ยามสุขสบายมักนึกถึงภยันตราย ก็เพราะเหตุดังกล่าว ยามสุขสบายนั้น รักษาความมีสติและความระมัดระวังไว้ได้เสมอ จึงมิใช่เรื่องง่าย "
By เจินกวนเจิ้งเย่า ( ยอดกุศโลบายจีน )
No comments:
Post a Comment