Tuesday, April 16, 2013

เจตสิก

เจตสิก

          เจตสิก คือ ตัวปัจจัยที่ทำงานร่วมกับจิต และคอยควบคุมคุณลักษณะของจิต ได้แก่นามขันธ์ ๓ อย่างในส่วนที่ไม่ใช่วิญญาณได้แก่ เวทนา สัญญา และ สังขาร ในอภิธัมมัตสังคหะ ให้คำจำกัดความของคำว่า เจตสิก ว่าคือ

          " สิ่งที่เกิดและดับพร้อมกับวิญญาณ อยู่ร่วมกับวิญญาณรับรู้ต่อวัตถุร่วมกับวิญญาณ และร่วมเป็นฐานเดียวกันกับวิญญาณ "

          เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ชนิด สองอย่างในห้าสิบสองอย่างได้แก่ เวทนา และ สัญญา ส่วนอีกห้าสิบอย่างที่เหลือเป็นกระบวนการปรับปรุงแต่งของสังขาร เจตสิกทั้งห้าสิบสองชนิด แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ประเภททั่วไป ประเภทที่เป็นอกุศล และประเภทที่จัดเป็นอกุศล แต่ละประเภทยังแบ่งย่อยออกเป็นชนิดปฐมภูมิซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับจิตหรือวิญญาณบางประเภท ดังนี้



          ๑. เจตสิกทั่วไป ในส่วนที่เป็นปฐมภูมิมี ๗ ชนิด คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และ มนสิการ ซึ่งส่วนใหญ่พบร่วมกับจิต ส่วนที่เป็นทุติยภูมิมี ๖ อย่างเช่นวิตก ( การยกจิตเข้าสู่อารมณ์การเตรียมพร้อม ) วิจาร ( การประคับประคองจิต ) อธิโมกข์ ( การตัดสินใจ ) วิริยะ ( ความพยายาม ) ปีติ ( ความปลาบปลื้ม ) และ ฉันทะ ( ความพอใจ ) เจตสิกเหล่านี้มีเฉพาะบางอย่างเท่านั้นที่เกิดร่วมกับจิต บางทีจึงเรียกว่า ปกิณกเจตสิก

           ๒. อโสภณเจตสิก ในส่วนที่เป็นปฐมภูมิ ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตมีอยู่หกอย่าง เช่น ความหลง ( โมหะ ) ไม่ละอายต่อบาป ( อหิริกะ ) ไม่เกรงกลัวบาป ( อโนตตัปปะ ) และความร้อนใจ ( อุทธัจจะ ) เป็นต้น ส่วนที่จัดเป็นทุติยภูมิอกุศลเจตสิก มีสิบอย่างได้แก่ โทสะ อิจฉา มัจฉริยะ ( ตระหนี่ ) กุกกุจจะ ( ความกังวลใจ ) โลภะ ( อยากได้ใคร่มี ) ทิฏฐิ ( ความเห็นผิด ) มานะ ( ความหยิ่งถือตัว ) ถีนะ ( หดหู่ ) มิทธะ ( ท้อถอย ) และ วิจิกจฉา ( ลังเล ) เจตสิกในส่วนที่เป็นทุติยภูมิไม่จำเป็นต้องมีในอกุศลจิตเสมอไป

           ๓. โสภณเจตสิก ในส่วนที่เป็นปฐมภูมิ ( โสภณสาธารณเจตสิก ) ที่พบร่วมกับกุศลจิต มีทั้งหมด ๑๙ ชนิด คือ ศรัทธา ( ความเชื่ออย่างมีเหตุผล ) สติ ( ความระลึกรู้ในอารมณ์และยับยั้งจิตมิให้ตกอยู่ในอกุศล ) หิริ ( ละอายต่อบาป ) โอตัปปะ ( เกรงกลัวต่อบาป ) อโลภะ ( ไม่โลภ ) อโทสะ ( ไม่โกรธ ) ตัตรมัชฌัตตา ( ทำใจเป็นกลาง ) กายปัสสัทธิ ( เจติสิกที่ทำให้กายสงบระงับ ) จิตตปัสสัทธิ ( จิตที่สงบระงับ ) ลหุตา ( เจตสิกที่ทำให้กาย จิต เบาบางต่ออกุศล ) มุทุตา ( เจตสิกที่ทำให้ กาย จิต ควรแก่กุศล ) ปาคุญญตา ( เจตสิกที่ทำให้ กาย จิต คล่องแคล่วต่อกุศล ) และ อุชุกตา ( เจตสิกที่ทำให้กาย จิตมุ่งตรงต่อกุศล ) 

           ส่วนโสภณเจตสิกชนิดทุติยภูมิที่พบได้ในบางประเภทของกุศลจิตมี ๖ ชนิด ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ กรุณา มุทิตา และ ปัญญา





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment