อนัตตา กับ ตัณหา
ในขณะที่นักปรัชญาเหตุผลนิยมมีความเห็นคล้ายๆ กับทฤษฎีอัตตาของปรัชญาอุปนิษัท ดังเช่น เดส์การ์ต กล่าวว่า " ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมีอยู่ " นั้น ยัง พอล สาร์ต นักปรัชญาเอกซิสเตนท์เชียลิสม กลับมีความเห็นคล้ายๆ กับปรัชญาทางพุทธที่ว่า ความเชื่อในเรื่องอัตตาเกิดจาก ความนึกคิดที่ไม่แจ่มแจ้ง ดังเช่นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ความเชื่อว่ามีตัวตนเป็นผลมาจากความคิดแบบอโยนิสมสิการอันเกิดจากการปรุงแต่งของจิตข้อหนึ่งจากห้าสิบข้อที่มีต่อสังขารขันธ์ด้วยเหตุนี้ จึงพอจะกล่าวได้ว่า แนวความคิดของสาร์ตมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีอนัตตาของพระพุทธเจ้า จะแตกต่างกันก็ตรงคำว่า ความนึกคิดที่ยังมืดบอด ตามความหมายของสาร์ต เกิดจากศรัทธาที่ผิดก่อให้เกิดตัวอัตตาขึ้นมาบดบังความเป็นอิสระเสรี ส่วนคำว่า อโยนิโสมนสิการ ในความหมายทางพุทธศาสนา เป็นผลมาจากตัณหาหรือความอยากได้ไคร่มี เป็นตัวก่อให้เกิดอัตตาตามความต้องการของตัณหายนั้นๆ ผลกระทบจากตัณหาก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นในตัวมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ( อัตตวาทุปาทาน ) เกิดจากการปรุงแต่งของตัณหา ดังที่พระพทุธเจ้าตรัสว่า อุปาทานขันธ์ ๕ คือรากเหง้าของความอยากทั้งหลาย ซึ่งในทางพุทธศาสนาแบ่งตัณหา หรือ ความอยากออกเป็น ๓ อย่างได้แก่ กามตัณหา ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ภวตัณหา ความอยากเป็นอยากอยู่ในสภาพนั้นๆ และ วิภวตัณหา ความไม่อยากเป็น ไม่อยากอยู่ หรืออยากพ้นจากสภาพหรือภาวะนั้นๆ
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ประเภทของตัณหาในทางพุทธศาสนาทั้ง ๓ อย่างนี้ ค่อนข้างจะเข้ากันได้กับแนวความคิดของนักจิตวิเคราะห์เช่น ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่แบ่งสัญชาตญาณของมนุษย์ออกเป็น ๓ อย่างคือ ความใคร่ ความมีตัวตน ความอยากหรือความต้องการของมนุษย์ซึ่งหากจะสรุปย่อส่วนลงไปจะแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง คือ ความอยากเป็น กับ ความอยากมี ซึ่งตรงกับภวตัณหา ในทางพุทธศาสนา ตัวภวตัณหานี้เองที่ทำให้คนสร้างความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา อยากให้มีตัวตนอยู่ตลอดไป เป็นแรงขับให้คนเราค้นหาบางสิ่งบางอย่างในตนเอง เพื่อที่จะทำให้ชีวิตคงอยู่ภายหลังความตาย ความเชื่อเกี่ยวกับอัตตาที่พากันยึดถือว่าเป็น อมตะ ( สัสสตทิฏฐิ ) นี้ เป็นผลมาจากตัวภวตัณหา ตรงข้ามกับฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ที่มีความอยากหลีก อยากพ้น อยากสูญสิ้น จากสภาพที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งแสดงออกโดยอาการของความเบื่อหน่ายสิ้นหวังแสวงหาความสูญสิ้นในภพชาติภายหลังความตาย โดยเชื่อว่าเป็นสัจธรรมที่จะพาชีวิตไปสู่ความสงบ สันติอันเป็นเป้าหมายสูงสุด
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment