อนัตตา กับ นิพพาน
เช่นเดียวกับแนวคิดเกี่ยวกับ " โมกษะ " ในปรัชญาอุปนิษัทที่จะต้องมีคู่กันกับ " อาตมัน " พุทธศาสนาก็มีแนวคิดในเรื่อง " นิพพาน " คู่กับ " อนัตตา " เช่นเดียวกัน พุทธศาสนาถือว่าแนวคิดเกียวกับเรื่องอาตมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสัจธรรม และยิ่งกว่านั้น ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอนัตตาเป็นทางนำไปสู่ความทุกข์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้
" ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตยังมองไม่เห็นเลยว่า ผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในอนัตตาจะไม่เกิดความทุกข์ โศก คร่ำครวญ โทมนัส คับแค้นใจได้อย่างไร "
นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนาค้านความเชื่อเรื่อง อัตตา การมีตัวตนและยึดมั่นในตัวตน ซึ่งชาวพุทธถือว่า แม้แต่ขันธ์ ๕ ที่เกิดจากปรุงแต่งกันขึ้นนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ที่เชื่อในอัตตาจึงถือว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่นในระดับประณีตอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัตตาวาทุปาทาน ถือว่าเป็นอุปาทานอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์เปรียบได้กับ " ความรักตัวเอง " ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ฟรอยด์ ที่เชื่อว่าเป็นตัวการที่กระตุ้นความอยากและก่อให้เกิดกรรม ความรักตัวเองที่กล่าวนี้เองที่ วิลเลียม เจมส์ ถือว่าเป็นสาเหตุของ " ความเห็นแก่ตัว " ดังคำกล่าวที่ว่า " ผู้ที่แสวงหาอัตตาหรืออย่างหนึ่งอย่างใด ( ในอัตตา ) ย่อมก่อให้เกิดความเห็นแก่ตัว "
มนุษย์ที่ยึดในอัตตาย่อมสร้างความรู้สึกให้กับตัวเองในเรื่องของ " ตัวกู ของกู " ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อหังการ มมังการ ได้เสมอเพราะการยึดติดในอัตตาก็คือ การหลงละเมอเพ้อพกในตัวเองว่าวิเศษกว่าผู้อื่นตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ด้วยเหตุนี้ แอริก ฟรอมม์ จึงกล่าวว่า " เป้าหมายของมนุษย์ในการที่จะเอาชนะความเห็นแก่ตัว เห็นจะไม่มีทางใดแสดงได้แจ่มแจ้งชัดเจนเท่ากับในพุทธศาสนา "
จึงกล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายใหญ่ในการที่จะบรรลุนิพพานนั้น ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องอนัตตามาสอนสาวกของพระองค์ให้ตัดการยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีอัตตา โดยเฉพาะคือการตัดความยึดเชื่อในทฤษฎีการมีตัวตน ( สักกายทิฏฐิ ) ความหลงว่ามี " ตัวกู " (อัสมิมานะ ) ออกเสียก่อน เพราะตราบใดที่ยังหลงยึดมั่นถือมั่นในรูป แบบใดแบบหนึ่งของความมีตัวตนอยู่ย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุความหลุดพ้นที่แท้จริงได้ พระพุทธเจ้าทรงย้ำในเรื่องการสละกิเลสที่เรียกว่า มานะ คือ ความเป็น " ตัวกู " ออกให้หมดสิ้นแม้แต่ที่มีต่อนิพพานและต่ออุปาทานขันธ์ ๕
" เพราะมีอุปาทาน จึงเกิดมานะเกี่ยวกับ ตัวตน เมื่อหมดอุปาทานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน ก็ย่อมหมดไป "
ความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา ถือว่าเป็นข้อเสียในทางศีลธรรมที่ศาสนาสอนให้มนุษย์ควรลดละ หากจะมีคำถามว่า มีสิ่งใดที่เราควรจะกำจัดก่อนใดอื่น ย่อมได้รับคำตอบในแง่ศีลธรรมว่า คือความหยิ่ง ทะนง หรือความอวดดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้
" ดูก่อน กัปปะ รูปและนามที่เธอถือครองอยู่ ทั้งใน อดีต ปัจจุบัน และในอนาคตนั้นไม่ใช่ตัวเธอ ไม่ใช่ของเธอ ไม่ใช่ตัวตนของเธอ ดังนั้น หากเธอรู้ได้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็น ตถาตา เป็นภววิสัย ย่อมถือได้ว่า เธอเป็นผู้เห็นธรรมโดยสมบูรณ์ ผู้ใดละเสียในอุปาทาน ย่อมเป็นผู้รู้ที่หลุดพ้นเป็นอิสระ ดูก่อน กัปปะ เมื่อเธอได้รู้ได้เห็นดังนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากความรู้สึกว่ามี ตัวเรา ของเรา ( อหังการ มมังการ ) หลุดพ้นจากการยึดถือในตัวเรา ( มานะ ) หลุดพ้นจากสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นความสงบ ระงับ และปลดเปลื้องจากพันธนาการทั้งปวง ดังนี้ "
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment