Friday, March 01, 2013

อนัตตา กับ ไตรลักษณ์

อนัตตา กับ ไตรลักษณ์

         ทฤษฎีเรื่องอนัตตาในทางพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่นำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า อนิจจา ทุขตา ต่อไป พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ตัวบุคคลอันประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่เป็นนิรันดร์ มีเกิดมีดับ เป็นความทุกข์จากภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นแล้วเสื่อมคลายลง มีความกดดันและขัดแย้งอยู่ภายในตัว เพราะปัจจัยในการปรุงแต่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากเหตุ ว่างจากเจ้าของและผู้ถือครอง ไม่มีผู้กระทำ ไม่มีผู้รู้สึก ไม่มีผู้ควบคุมบังคับบัญชา และไม่มีตัวตน ลักษณะและคุณสมบัติที่กล่าวมานี้ เรียกว่า ไตรลักณ์ เป็นสามัญลักษณะ ประกอบด้วยสูตร ๓ ประการ ดังนี้

สังขารทั้งปวง  ไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา



          สิ่งที่น่าสังเกตและจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับไตรลักษณ์โดยเฉพาะใน ๒ สูตรแรก เมื่อเปรียบเทียบกับสูตรที่สาม จะเห็นว่ามีการใช้คำแตกต่างกัน กล่าวคือ ในสองประโยคแรกนั้นเป็นการกล่าวถึงสังขาร หรือสิ่งปรุงแต่งเท่านั้นที่ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ในขณะที่ประโยคสุดท้ายเปลี่ยนมาใช้คำว่า ธรรมทั้งปวง ซึงหมายถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งที่เป็น สังขตธรรม และ อสังขตธรรม ( เช่นนิพพาน ) ด้วยการที่ผู้รู้ทางพุทธศาสนาเน้นดังนี้ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจหรือการตีความผิด เช่น หากเป็นประโยคที่สามใช้คำเหมือนสองประโยคแรกว่า " สังขารทั้งปวง เป็นอนัตตา " ก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจจนตีความผิดคิดต่อไปได้ว่า ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่มิใช่สังขาร ไม่ใช่ขันธ์ เช่นนิพพาน อาจจะเป็นอัตตาก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดดังกล่าวทางพุทธศาสนาจึงใช้คำว่า ธรรมทั้งปวง อันหมานรวมถึงธรรมที่เป็นสังขาร เพราะกินความได้กว้างและครอบคลุมกว่าคำว่า สังขารทั้งปวง

          นี่คือหัวใจของปรัชญาพุทธที่เกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีของอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน ที่ไม่เพียงแต่พุทธศาสนาดั้งเดิมหรือพุทธศาสนามหายานก็มีความเห็นและยึดถือในหลักคำสอนในเรื่องอนัตตาเช่นเดียวกัน จึงงถือได้ว่า ทฤษฎีว่าด้วเรื่อง อนัตตา เป็นคำสอนที่มีความเป็นพิเศษและมีอยู่ในเฉพาะแต่ในทางพุทธศาสนาเท่านั้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment