Friday, March 08, 2013

อนัตตา กับ ปฏิจจสมุปบาท

อนัตตา กับ ปฏิจจสมุปบาท

         ทฤษฎีว่าด้วยอนัตตาปฏิเสธความมีตัวตนหรืออัตตา ทั้งในตัวบุคคลและในสรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลกแห่งสภาวธรรมทั้งหลายเป็นทฤษฎีที่มีความเห็นค้านกับปรัชญาอุปนิษัทที่เชื่อว่า อัตตา หรือ อาตมัน เป็นสิ่งที่สถิตอยู่ในตัวมนุษย์ เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่าพรหมมัน เป็นวิญญาณสากลที่สถิตอยู่ในจักรวาล พุทธศาสนาปฏิเสธในเรื่องนี้โดยเชื่อว่า สรรพสิ่งทั้งหลายว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน ทุกสิ่งเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยประกอบกันขึ้นเป็นภพที่ต่อเนื่องกันไป

          ตามปรัชญาความเชื่อของพุทธศาสนา ไม่มี สัตตะ มีเพียง ภวะ ที่เกิดจากกระแสการปรุงแต่งที่เลื่อนไหลติดต่อกัน เป็นสภวธรรม ที่มีการเกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะ ที่เรียกว่า ขณิกะ พุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือมีสิ่งที่เป็นนิรันดร์ใดๆ สรรพสิ่งที่เรารู้ได้จากประสาทสัมผัสล้วนแต่เป็นมายาจากจิตนาการ มิใช่ความจริงดังความเชื่อในเรื่อง  สัตตะ ของชาวอุปนิษัทหรือ " ความมีตัวตน " ในปรัชญาเอกซิสต์ของสาร์ต ทฤษฎีใน " องค์สัมบูรณ์ " ดังกล่าวนี้ถือเป็นความเชื่อสุดโต่งที่พุทธศาสนาไม่ยอมรับ

          คำสอนตามทางสายกลางทางพุทธศาสนา ( มัชเฌนธรรมเทศนา ) เป็นเรื่องของกฏแห่งเหตุปัจจัยที่อธิบายไว้ในวงจรปฏิจจสมุปบาทโดยกล่วว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเองลอยๆ หรือถูกกำหนดไว้ก่อน ธรรมธาตุทั้งหลายเกิดขึ้นต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาทุกชั่วขณะจิต เป็นวงจรเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท โดยความต่อเนืองอาศัยกันระหว่างปัจจัย ๑๒ อย่างดังนี้



          ๑. เพราะมี อวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดกรรม หรือ สังขาร
          ๒. เพราะมี ( การกระทำ ) กรรมหรือสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญาณ
          ๓. เพราะมีวิญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
          ๔. เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
          ๕. เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
          ๖. เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
          ๗. เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
          ๘. เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
          ๙. เพราะมีอุปทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
          ๑๐. เพราะมีภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ
          ๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะจึงมีพร้อมด้วย ความโศกความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ แห่งกองทุกข์ทั้งปวง
       
          นี่คือกระบวนการเกิดแห่งทุกข์ ที่อธิบายไว้ในวงจรปฏิจสมุปบาทโดยมี ๑๒ ปัจจัยได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปาทาน ภพ ชาติ และ ชรา มรณะ ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายสะ ( ความคับแค้นใจ ) เป็นตัวพลอยผสมสำหรับผู้มีอาสวกิเลส โดยมีชรามารณะเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนเป็นวงจรต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหากเราพิจารณาวงจรดังกล่าวในทางกลับกันเป็นแบบนิโรธวารโดยชักปลายมาหาต้น ก็จะมองเห็นกระบวนการดับทุกข์ได้เช่นเดียวกัน

           ขอย้ำว่า ปัจจัยทั้ง ๑๒ ที่ก่อให้เกิดทุกข์ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทนี้แต่ละตัวล้วนถูกปรุงแต่ง ( ปฏิจจสมุปบัน ) และเป็นปัจจัย ( ปฏิจจสมุปบาท ) สืบเนื่องซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นเพียงความจริงสัมพัทธ์ที่ไม่มีอยู่จริงเป็นเอกเทศ ดังนั้นผู้ที่เชื่อว่ามีความจริงสัมบูรณ์หรือมีมูลการณ์เป็นผู้สร้างผู้ทำลาย ทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็นอวิชชา ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งอันเนื่องมาจากอาสวกิเลสที่ยึดถือในเรื่องตัวตน ผู้ที่กำจัดอาสวกิเลสเหล่านี้ได้เท่านั้นจึงจะพ้นจากอวิชชา

          เราจะเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือ ทฤษฎีปัจจัยยาการ ว่าด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นหลักธรรมหนึ่งของกฏธรรมชาติที่ไม่ใช่อัตวิสัย แต่เป็นความจริงแท้ ( ตถตา - ภววิสัย ) เป็นภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อน ( อวิตถตา ) เป็นภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น ( อนัญญตา ) และเป็นภาวะที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ( อทัปปัจจัยตา ) พระพุทธเจ้าตรัสว่า

          " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเล่าคือปฏิจจสมุปบาท สังขารปรุงแต่งให้เกิดชาติ ชรา มรณะ ตถาตาทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตามหลักธาตุ ( หลัก ) นั้นยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม ที่ตถาตาค้นพบและเข้าใจ ดังนี้ "

          เราจะเห็นว่า ทั้งปฏิจจสมุปบาท และทฤษฎีวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ ๕ เป็นเครื่องสนับสนุนทฤษฎีว่าด้วย อนัตตา ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย บุคคลประกอบด้วยขันธ์ห้า ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน และไม่เกิดจากสิ่งที่มีตัวตน ไม่มีขันธ์ใดที่เกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า

          " ด้วยเหตุที่สังขารขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย จึงเป็นอนิจจตา เป็น ทุกขตา และ เป็นอนัตตา ด้วยเหตุที่ขันธ์ทั้งห้าประกอบด้วยสังขตธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และปราศจากตัวตน ดังนั้นขันธ์ทั้งห้าจึงหาความเที่ยง ความสุข ความมีตัวตนแต่ประการใดไม่ "

          พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธปรัชญาอุปนิษัทเกี่ยวกับ อัตตาถาวรหรืออัตตาที่แทรกอยู่ในตัวบุคคล ซึงปรัชญาอุปนิษัทกล่าวว่า

          " ผู้ไม่พยายามค้นหาพระวจนะย่อมรู้จักผู้เปล่งพระวจนะผู้ที่ไม่พยายามมองเห็น ย่อมมองเห็นพระองค์ ผู้ที่ไม่เพ่งการกระทำย่อมมองเห็นผู้ทรงกระทำ "

         พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวยืนยันหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาย้อนปรัชญาอุปนิษัทว่า

         " ไม่มีผู้กระทำ มีแต่การกระทำ ไม่มีผู้มองเห็น มีแต่การมองเห็น "

         " สภาวะธรรมทั้งหลายแห่งการเกิดภพและชาติ เพียงแต่ประกอบกันขึ้นเป็นรูปและนาม อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยปราศจากเหตุย่อมปราศจากผู้ทำกรรม นอกเหนือจากผลของกรรมแล้วย่อมปราศจากผู้เสวยกรรม "

         ในการแสดงความไม่มีตัวตนและความว่างแห่งสภาวธรรมทั้งปวง พระพุทธโฆษจารย์ อธิบายไว้ดังนี้

         " มีทุกข์ แต่ไม่มีผู้รับทุกข์ มีกรรม แต่ไม่มีผู้ทำกรรม นิพพานมี แต่ไม่มีผู้เข้าสู่นิพพานมรรคามีแต่ไม่มีผู้เดินทาง "

         เช่นเดียวกับ ฟริตจอฟ คาปรา นกฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ เห็นร่วมกับทฤษฎีอนัตตาทางพุทธศาสนา ดังนี้ 

         " เมื่อเราพิจารณาในระดับต่ำกว่าอะตอม จะเห็นว่ามันปฏิสัมพันธ์ และปฏิกิริยาของอนุภาคที่มีการเคลื่อนไหวเมื่อพิจารณาโดยปรมัตถ์ ไม่มีวัตถุที่เคลื่อนไหว ไม่มีผู้กระทำมีแต่การกระทำ ไม่มีผู้ร่ายรำ มีแต่การร่ายรำ "

          พึงสังเกตว่า ความเชื่อของอุปนิษัทและปรัชญาพุทธมาตรงในเรื่องของหลัก อนิจจตา แต่ชาวอุปนิษัทเชื่อว่า ความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขึ้นอยู่กับอำนาจในการดลบันดาลของพระพรหม องค์อาตมันผู้สถิตอยู่ชั่วนิรันดร์กาล ในขณะที่ปรัชญาพุทธเชื่อในทางตรงข้ามว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นเป็นเพียงกระแสแห่งสังขตธรรมที่เลื่อนไหล เกิด ดับ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่มีผู้คิดอยู่เบื้องหลังความคิด ดังที่วิลเลียม เจมส์ กล่าวว่า " ความคิดนั่นเองคือตัวผู้คิด " หากเราแยกเอา " ความคิด " ออกจากสังขารขันธ์ ย่อมไม่มีผู้คิด ทัศนะของชาวพุทธที่ว่านี้จึงอยู่คนละขั้วกับปรัชญาของเดส์คาร์ต ที่กล่าวว่า " เพราะข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าจึงมีอยู่ " ในขณะที่ค่อนข้างคล้ายกับปรัชญาของสาร์ต ที่เชื่อว่า " ไม่มีผู้คิดนอกจากสิ่งที่คิด "

          เนื่องจากพุทธปรัชญาปฏิเสธในเรื่องอัตตามาโดยตลอดดังได้กล่าวมาแล้ว จึงถือว่าหลักความเชื่อในทางพุทธศาสนาไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งระหว่างผู้ที่เชื่อในความมีอัตตา คือ อุจเฉททิฏฐิที่เห็นว่าชีวิตอยู่ยั่งยืนตลอดไป กับ สัสสตทิฏฐิ ที่เชื่อว่าตายแล้วสูญไม่มีสิ่งใดเหลือ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าทั้งสองทฤษฎีถือเป็นมิฉาทิฏฐิ ไม่ควรยึดถือ ดังพุทธพจน์ :

          " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คถาคตหลีกเลี่ยงความเชื่อสุดโต่งทั้งสอง โดยยึดมัชเฌนธรรมเป็นคำสอน ดังนี้ "

         ( หมายเหตุ ยังมีอนุภาคในโปรตอนและนิวตรอน ที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า " ควาร์ก " โดยหนึ่งนิวตรอนประกอบด้วย ๓ ควาร์ก ส่วนหนึ่งโปรตอนมี ๒ ควาร์ก ควาร์กจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่นคววามแปลก ( strange ) ความมีเสน่ห์ ( charm ) เป็นต้น นอกจากควาร์กแล้วในระดับต่ำกว่าอะตอมยังมีเหตปัจจัยอันประกอบด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าควาร์ก เรียกว่า เมซอน ( meson ) และภายในเมซอน ยังประกอบไปด้วย ไพออน ( pion ) แคออน ( kaon ) และ บี - เมซอน ( B -mason ) จากข้อมูลของ ดร.ชัยสิงห์ ภู่รักษ์เกียรติ ภายวิชาฟิสิกส์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )

No comments:

Post a Comment