Sunday, November 23, 2014
เขาว่าก็ว่าตาม
เขาว่าก็ว่าตาม
พระรูปหนึ่งไปเยี่ยมฌานาจารย์เถี่ยโจว ขอร้องให้ท่านช่วยอธิบายคัมภีร์ ' หลินจี้ลู่ '
ฌานาจารย์เถี่ยโจวตอบว่า " ต้องไปหาฌานาจารย์หงชวน ที่วัดหยวนเจี๋ยซือ ท่านสามารถอธิบายคัมภีร์ ' หฃินจี้ลู่ ' ได้ "
พระรูปนั้นยืนยันว่า " ไม่ อาตมาเคยได้ยินฌานาจารย์หงชวนอธิบายคัมภีร์นี้แล้ว ส่วนท่านเป็นศิษย์ก้นกุฏิของฌานาจารย์ตีสุ่ย วัดเทียนหลงซื่อ ยังไงอาตมาก็จะขอฟังคำอธิบายจากท่านให้ได้ "
เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ฌานาจารย์เถี่ยโจวจึงพาพระรูปนั้นไปฝึกหมัดมวยด้วยกันที่ลานฝึกวิทยายุทธ์ จนกระทั่งเหนื่อยหอบจึงหยุดพัก ฌานาจารย์ด้านหนึ่งเช็ดเหงื่อ อีกด้านหนึ่งถามว่า " เป็นอย่างไร อาตมาอธิบายคัมภีร์ ' หลินจี้ลู่ ' ได้ดีไหม ? "
พระรูปนั้นตลึงงัน ฌานาจารย์พาตัวเองมาฝึกบู๊ด้วยกัน ก็นับว่าได้อธิบายคัมภีร์ ' หลินจี้ลู่ ' แล้วงั้นหรือ ? จึงถามด้วยความสงสัยว่า " คัมภีร์ ' หลินจี้ลู่ ' ของฌานาจารย์เป็นคัมภีร์บันทึกเคล็ดลับวิทยายุทธ์ใช่หรือไม่ ? "
ฌานาจารย์ตอบว่า " จะศึกษาคัมภีร์ ' หลินจี้ลู่ ' ไม่ใช่ศึกษาแบบ ' รบกันบนแผ่นกระดาษ ' มันมิใช่อะไรที่จะเข้าใจได้ด้วยคำพูดปลายลิ้น ส่วนคำอธิบายของฌานาจารย์ตีสุ่ยนั้น อาตมาไม่เคยศึกษามาก่อน แล้วอาตมาก็ไม่ใช่กระบอกเสียงของใคร "
พระรูปนั้นไม่พอใจคำตอบนี้มาก จึงย้อนถามว่า " ถ้าอย่างนั้น วิธีถ่ายทอดจาก ' จิตสู่จิต ' ของพระสังฆปรินายกทุกองค์ในประวัติศาสตร์ มิกลายเป็น ' กระบอกเสียง ' ไปดอกหรือ ? "
คนว่าก็ว่าตาม เป็นฌานนกแก้วนกขุนทอง แตกต่างจากการถ่ายทอดจากจิตสู่จิตอย่างสิ้นเชิง ฌานาจารย์จึงตอบพระรูปนั้นว่า " วิธีถ่ายทอดจากจิตสู่จิตก็คือวิธีถ่ายทอดจากจิตสู่จิต กระบอกเสียงก็คือกระบอกเสียง
หลักธรรมแห่งฌาน กระทั่งสรรพวิชาการทั้งหลาย ล้วนต้องผ่านการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง แล้วย่อยดูดซึมความรู้เหล่านั้นเป็นของตนเอง จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริง ถ่ายทอดเป็นคำพูดให้คนอื่นเข้าใจได้และเป็นประโยชน์กับคนอื่นอย่างแท้จริง จงอย่าทำตัวเป็นกระบอกเสียงที่ไร้ความคิดอย่างเด็ดขาด !
By เซ็น : วิถีแห่งความสุขที่แท้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment