พระอาจารย์รังนกใช้ชีวิตเฉกเช่นเดียวกับฉายานามของท่าน คือพักอาศัยอยู่บนต้นสนต้นหนึ่งตามลำพังคนเดียวในป่าลึก
ไป๋จีอี้ผู้ยิ่งใหญ่เคารพนับถือท่านรังนกมาก จึงเดินทางมาเยี่ยมท่านในป่า และร่ายกวีบทหนึ่งเรียนถามธรรมะจากท่านรังนกว่า
ข้าพเจ้าก้าวสู่แดนธรรม
เพื่อเรียนถามอาจารย์ท่าน
ว่าชีวิตจริงคือความฝัน
หรือความฝันคือความจริง
ยามมาห้ามไม่ได้ ยามไปฉุดไม่อยู่
เมื่อรู้ถึงความไม่เที่ยงแห่งชีวิต
ย่อมรู้ถึงสมมติของชีวิต
แล้วทุกข์ไปไยกับชีวิตที่เป็นมายา
ไป๋จีอี้สับสนกับสังคมโลก เขารู้สึกทุกข์ รู้สึกหงุดหงิดกลัดกลุ้ม หาทางออกในชีวิตไม่ได้ จึงเดินทางเข้าป่ามาหาท่านรังนกเพื่อขอคำชี้แนะว่า แท้จริงชีวิตของคนเราคือความฝันหรือความฝันคือความจริงกันแน่ ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพื่อหาหนทางแห่งความทุกข์ หาวิธีบำเพ็ญธรรมนั่นเอง
ท่านรังนกตอบว่า ยามมาห้ามไม่ได้ ยามไปฉุดไม่อยู่ นี่ก็หมายความว่าเวลาจะเกิด เราเองก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จะเกิดเมื่อไร เกิดเป็นลูกใคร รวยหรือจน สวยหรือขี้เหร่ ฉลาดหรือโง่ ไม่เกิดได้ไหม ฯลฯ เหล่านี้เรากำหนดเองไม่ได้เลย เฉกเช่นเดียวกับความตาย จะตายเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ไม่ตายได้ไหม เราก็กำหนดเองไม่ได้เหมือนกัน จากนี้จะเห็นได้ว่าชีวิตเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ เมื่อชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ ก็หมายความว่าชีวิตเป็นมายา ในเมื่อชีวิตเป็นมายา เป็นสิ่งสมมติปัญหาต่างๆ ก็เป็นสิ่งสมมติ แล้วเราจะทุกข์ไปไยกับปัญหาที่รุมเร้า
โศลกบทนี้ของท่านรังนก ทำให้ไป๋จีอี้ถึงกับบรรลุธรรมในบัดดลเขาตัดสินใจบวชอยู่กับบ้าน ศึกษาธรรมะ บำเพ็ญเพียรอย่างจริงจังและมักจะเดินทางไปสนทนาธรรมกับอริยสงฆ์ในที่ต่างๆ ต่อมา เขาย้ายบ้านไปอยู่บนเขาเซียงซัน และเรียกตัวเองว่า ผู้ถือสันโดษแห่งเขาเซียงซัน
แง่คิด
อนาคตต้องไม่ใช่แค่ความฝัน
ชีวิตคือฝัน หรือฝันคือชีวิตกันแน่ นี่เป็นปรัชญาเต๋าที่โด่งดังมากจากนิทานเต๋าเรื่องหนึ่งของจวงจื้อ เรื่องมีอยู่ว่า จวงโจวฝันว่าตนเองกลายเป็นผีเสื้อ แต่ครั้นตื่นขึ้นมา เขาไม่แน่ใจว่าหรือผีเสื้อจะกลายเป็นจวงโจว
นิทานเต๋าเรื่องนี้อุปมาอุปไมยว่า
* จริงคือเท็จ เท็จคือจริง จริงๆ เท็จๆ ปนเปอยู่ในชีวิต จนบางครั้งเราก็แยกไม่ออกว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความเท็จ
* ชีวิตเป็นสิ่งสมมติ เป็นมายาเหมือนความฝัน
* ความฝันแสนสั้น ชีวิตคนก็แสนสั้น
ยามชีวิตอุบัติขึ้น เรามักจะดีอกดีใจ ยินดีได้ปลื้มกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ยามชีวิตจากไป เรามักจะทำใจไม่ได้ อาลัยอาวรณ์ไม่อยากสูญเสีย
หลายพันหลายหมื่นปีมาแล้วที่ผู้คนเศร้าโศกอาดูรกับชีวิตที่ต้องดับสูญ ไม่มีไครอยากตาย ใครๆ ก็อยากอยู่ค้ำฟ้า แต่มันเป็นไปไม่ได้ผู้คนจึงได้แต่ทอดอาลัยว่า ชีวิตช่างสั้นนัก ชีวิตเหมือนความฝันฉากหนึ่งเกิดขึ้นแวบเดียวแล้วก็หายไป แต่หน้าความตาย ยากนักที่จะทำใจให้สงบนิ่งได้
เรามิอาจทราบได้ว่ามัจุราขรอเราอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเตียมพร้อมที่จะรับมือกับความตาย ท่านพุทธทาสก็สอนให้เราตายก่อนตาย ผู้ที่เรียนรู้ว่าควรตายอย่างไรนั้น เขาก็จะมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ กิเลสตัณหา สิ่งเร้าใดๆ ล้วนทำให้ชีวิตของเขาเฉไฉไม่ได้
ปรัชญาที่ว่า " ชีวิตแสนสั้น " " ชีวิตเหมือนฝัน " " ชีวิตไม่เที่ยง " " ชีวิตอนิจจัง " มิใช่ปรัชญาที่สอนให้เราปลงตกแบบหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตรงกันข้าม ปรัชญานี้กลับสอนให้เราใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์เนื่องจากชีวิตแสนสั้น เราจึงต้องกระตือรือร้น ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีค่ามีความหมาย ไม่งอมืองอเท้านั่งรอความตายอย่างสลดหดหู่
ชีวิตเหมือนฝัน แต่อนาคตของเราจะต้องไม่เป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น อนาคตจะต้องปรากฏเป็นจริงด้วยความเพียรพยายามของเรา
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment