Saturday, December 15, 2012

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 7 )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 7 )

          วันทองหรือนางพิมพิลาไลย เมื่อวัยไร้เดียงสาเธอถูกผูกมาให้ด่าเก่งเป็นไฟแล่บ ชอบเหน็บแหนบขุนช้าง ทั้งที่วัยนี้มิมีเด็กคนใดจะใส่ความอัปลักษณ์ของใครมากไปกว่าหาความสนุกสนานตามวารวัน ตัวนิดเท่านั้นกวีก็สรรคำมาให้ด่าขุนช้างเสียเป็นหางว่าว เช่น ด่าเป็นไอ้จัณฑาล, อ้ายนอกคอก, อ้ายหัวถลอก, อ้ายตายโหง, อ้ายล้านขี้ถัง, อ้ายจังไร ฯลฯ ขณะที่ไม่เคยด่าขุนแผนเลย พอล่วงเข้าเป็นสาวนางพิมก็ยิ่งก้าวร้าวต่อขุนช้างดังว่า ชังน้ำหน้ามาแต่สิบชาติปางก่อน บทกลอนให้เธอถุยน้ำลายใส่ขุนช้างแค่เอาผ้ากรองมาวางเคียงข้าง หลายอย่างหลายประการ อันวาจาจัดจ้านเกอนการณ์เช่นนี้หรือมีกิริยามารยาทอุกอาจดังขาดการอบรมบ่มวิสัย ทำให้เห็นเด่นชัดว่าเสภาขุนช้างขุนแผนแก่นของเนื้อหานั้นเอาความมันเมาทางประโลมโลกบวกความสัปโดกเป็นหลักมากกว่าจะให้ใช้เหตุผล

           นี่คือความพิกลพิการข้อหนึ่งของวรรณคดีซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศบรรเจิดบรรจง

           เมื่อขีดวงให้นางพิมปากคอเราะร้าย ยังคลับคล้ายจะขีดข่วนมิให้รักนวลสงวนร่างดังได้อ้างถึงแล้วในภาคเณรแก้วกระทำลามกสกปรกผ้าเหลือง ( และสังเกตุเรืองให้ดีไม่มีครั้งไหนที่นางพิมไม่ใช้คำหยาบคายใส่ขุนช้าง และไม่มีครั้งไหนเช่นกันที่เธอไม่รำพันตัดพ้อต่อขุนแผน )


           เมื่อเนื้อหาไม่หนักแน่นแก่นหรือแกนก็เลยแลย่ำแย่เอามากๆ หากยังมีกากดีๆ หลากประเด็นให้เห็นให้ขุด

           จุดอ่อนที่สุดของการสร้างการวางตัวละครน่าจะได้แก่การปูพื้นฐานของนางพิมนี่แหละ และพอได้เสียกับเณรแก้วเสร็จ นางพิมถูกสำเร็จโทษโปรดปรานเล่นเกมตามลำดับ ถึงกับหึงสายทอง ลาวทองครองความเป็นนางเอกปากต่ำเข้ากับคำขับเสภาเหมาะเหม็ง

           ครื้นเครงกันทุกชาย

           เมื่อได้พิเคราะห์ทุกกระบวน วันทองมีส่วนดียิ่งคือเป็นหญิงรักเดียวใจเดียว แต่เมื่อเหลียวมาดูนางแก้วกิริยาหรือว่าลาวทองก็มิได้มีสองรักแต่ประการใด เพียงแต่บทบาทนางทั้งสองนั้นเป็นรองนางวันทองหลายเท่า

           วันทองครองความเศร้าเกือบตลอดเรื่อง เกี่ยวเนื่องอยู่กับชู้ - ผัว และลูก จนถูกพระพันวสาพิพากษาให้ต้องโทษประหารชีวิต ซึ่ง 3 ชายก็เกิดวิปริตพูดจาไม่ออกเอาดื้อๆ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่วันทองจะต้องตาย เพราะในกฏหมายเก่าของอยุทธยาระบุไว้ชัดแจ้งว่า

           " พระเจ้าอยู่หัวดำรัสตรัสสั่งเกี่ยวกับการพิพากษาอรรถคดีต้องตามกฏหมายประเวณีอันยุติธรรมแล้วให้กระทำตาม หากเห็นว่ามิต้องตามกฏหมายประเวณีอันยุติธรรม ให้เพ็ดทูลได้ 3 ครั้ง ถ้ามิทรงฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่ง ให้กราบทูลในที่รโหฐานเป็นการเฉพาะพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังมิทรงฟังจึงให้กระทำตาม ผู้ใดมิได้กระทำดังนี้ถือว่าละเมิดพระอาชญา " ( บทที่ 106 แห่งกฏมณเฑียรบาล พ.ศ. 2001 )

           เมื่่อวันทองสิ้นใจไปเป็นผี เธอยังถูกย่ำยีให้ต้องไปเป็นเปรตสาเหตุไม่กระจ่างแต่คาดเดาเอาครึ่งๆ กลางๆ ว่าเพราะมีสามี 2 ผัวถ้าตัวเพศชายก็สบายมาก นอกจากจะได้รับคำเยินยอว่าเก่งเกินเพื่อนดูเหมือนว่าจะเป็นชายชาตรีไปโน่น

            วันทองจึงป็นคนน่าสงสารที่สุดของท้องเรื่อง เปลืองตัวเปลืองบทตั้งแต่ปรากฏตัว ตายไปแล้วยังไม่แคล้วว่าก่อกรรมทำชั่ว ( ที่ตัวเองเป็นฝ่ายถูกก่อ ) ต่อจนจบเค้า

            สรุปพอเข้าใจความตามบทบาทของ 4 ตัวละครผูกขาดที่เหล่ากวีเสริมแต่งไว้ดังนี้

            ขุนแผน                    : เป็นคนดีแต่มิมีจุดเด่นพอจะให้เล็งเห็นเป็นคนดีพอ

            ขุนช้าง                     : เป็นคนเลวเหลวเลอะ แต่ถูกทำให้เปรอะเปื้อนด้วยเงื่อนปมบ้าๆ บอๆ มากกว่า

            พระพันวสา               : เจ้าอารมณ์ตามวิสัยผู้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ถูกทำให้โง่เพราะโทสะ จนน่าจะเป็นแค่แม่ทัพระดับพื้นๆ

            นางวันทอง               : ผ่องงามเพราะความสวยแต่ด้วยเนื้อหาซึ่งอ่อนแอเลยเผยถึงธาตุแท้ของเธอว่าเป็นเหมือนนารีไทยทั่วไปคือกลัวสามี แต่ข่มขี่คนที่ข่มได้ตลอด อันตกทอดมาถึงปัจจุบัน

            คราวนี้เราจะวิเคราะห์กันถึงวรรณคดีขุนช้างขุนแผนโดยรวม ซึ่งจะผ่านเลยถึงเนื้อหาที่หละหลวมไป ( เพราะอย่างไรก็ได้รับการยกย่องให้เป็นเอกวรรณกรรมต้นตำรับฉบับหนึ่งเรียบร้อยแล้ว )

            จากแนวการกล่าวขานถึงปรมาจารย์วรรณคดีหลายรายจะออกมาเป็นสายเดียวกันว่า วรรณคดีเรื่องนี้ให้คติประเพณีนิยมและเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวบ้านภาคกลางได้อย่างเหมาะสม ให้คตินิยมทางความเชื่อถือโชคลางได้อย่างเป็นหนังเป็นเนื้อ รวมถึงความเชื่ออื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตทั้งในวังในวัดในชีวิตคฤหัสน์ธรรมดา

            ดังได้กล่าวเกริ่นมาก่อนช่วงตอนต้นว่า คนเขียนกวีทั้งหลายได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมประจำยุคเขาเท่านั้น เพราะนั่นเป็นสิ่งประจำที่พวกเขาทำเขาคิดเขาเห็น ประเด็นของขุนช้างขุนแผนที่มีเค้าในแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยายุคแรกๆ จึงถูกแทรกและทำให้แปลกปลอมเป็นอยุทธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ยุคแผ่นดินต้นๆ เช่นกัน

           ความไม่กลมกลืนนี้ดูเหมือนจะไม่มีในวรรณคดีหลายต่อหลายชิ้น เช่นอิเหนา, รามเกียรติ์ ฯลฯ การเรียนรู้การรับรู้ถึงอยูจำเพาะจำกัด ( แม้จะให้วัฒนธรรมมากกว่าวรรณคดีอื่นก็ตามที )

           อีกกรณีหนึ่งซึ่งน่าจะรวมกล่าวเอาไว้ด้วยคือ

           ขุนช้างขุนแผนจะเน้นเป็นนิตย์ คือการอิจฉาริษยา หึงหวงช่วงชิงดูคล้ายว่าสิ่งเหล่านี้จะมีปนปะกลายเป็นของประจำวัฒนธรรมแห่งชาติฟาดฟันกันเองยิ่งกว่าต่อสู้กับศัตรูจากต่างเมือง

           เป็นเรื่องเห็นกันหลัดๆ ณ ปัจจุบัน

           แต่นั่นยังมิเทียบเท่าลัทธิยอมจำนน

           เริ่มตั้งแต่ที่ขุนไกรพลพ่ายยอมตายทั้งที่มิได้เป็นฝ่ายกระทำผิดการถึงแก่ชีวิตนี้ขุนไกรฯ เพ่งไปที่กรรมตามทันตัว แม้แต่ขุนแผนแสนศักดาหลายคราก็เอ่ยโทษเวรกรรม ( ช่วงจะต้องติดคุกขัง )
            กระทั่งวันทองซึ่งต้องโทษประหาร ก่อนจะวายปราณนางก็ยอมรับว่าเป็นบุญกรรมที่ทำมา จนกลายเป็นว่ากรรมเป็นตัวกำหนดบทบาททุกตัวละคร เว้นไว้แต่พระพันวสาผู้มีบุญญาธิการสามารถต้านทานแรงกรรม เป็นคนซึ่งนำเหนือความเชื่อดังกล่าว

           เนื้อเรื่องเลยไม่เร้าใจเท่าที่ควร

           ทั้งยังชวนให้ฉงนถึงคนไทยทั่วไปว่านำ ' กรรม ' จากไหน มาตัดสินชะตาชีวิตคนเหมือนเหวี่ยงงูไม่พ้นทาง

           เรื้อรังต่อหลายวิถีทัศน์ถึงปัจจุบันเช่นกัน โดยมีนักวรรณคดีไทยบางรายพูดถึงไว้บ้างแล้วเพียงแต่มิได้เจาะแนวลึกและกว้าง

           ข้อเปราะบางอีกประเด็นเห็นจะได้แก่บทอัศจรรย์พันลึกของขุนช้างขุนแผน ( อาจรวมถึงวรรณคดีอื่นๆ ) ที่หลายคนชื่นชมว่ามีกลวิธีคมเฉียบเปรียบเปรยได้ลึกซึ้ง

           แต่ผมคนหนึ่งขอคัดค้าน

           ว่าการใช้บทอัศจรรย์นั้นพร่ำเพรื่อ

           น่าเบื่อและซ้ำซาก

           เหมือนฉากฝากคนรักไว้กับใจตัวเอง

           ที่กวีบรรเลงในนิราศดาดดื่น

           จึงต้องขอเจาะกึ๋นบทอัศจรรย์กัน







By คนทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )  
       

No comments:

Post a Comment