Saturday, December 29, 2012

คนจำพวกไม่มีรอยหยัก

พื้นผิวของชีวิต

           ฟ้าเพิ่งสาง นาย ก. ผู้ถือศีลกินเจถือช่อดอกไม้สดกับผลไม้ถาดหนึ่งกุลีกุจอมาไหว้พระแต่เช้า คิดไม่ถึงเลยว่าเพิ่งย่างเท้าเข้ามาในโบสถ์เท่านั้นก็มีคนคนหนึ่งวิ่งพรวดออกมาจากทางซ้ายมือ ชนปะทะกับนาย ก. จังๆ ทำเอาถาดผลไม้พลิกคว่ำ ผลไม้หกเกลื่อนกระจายไปทั่วพื้น

           นาย ก. โกรธมาก ตวาดว่า " ดูสิ " ทะเล่อทะล่าวิ่งมาชนผลไม้ไหว้เจ้าของข้าหกกระจาย ทีนี้จะว่าอย่างไร

           นาย ข. ผู้วิ่งชนกล่าวอย่างไม่พอใจนักว่า " ก็มันชนเข้าให้นี่ข้าก็พูดได้คำเดียวว่า " ขอโทษ " คนถือศีลกินเจ ทำไมต้องดุขนาดนี้ด้วย "

           นาย ก. โกรธยิ่งกว่าเดิม กล่าวว่า " อะไรกัน ตัวเองทำผิด ยังจะโทษคนอื่นอีก "

           พูดจบ ผู้ถือศีลกินเจทั้งสองทะเลาะกันใหญ่

           ท่านอาจารย์ก่วงหวี่เดินผ่านมาพอดี จึงสอนว่า " เดินทะเล่อทะล่าเป็นเรื่องไม่สมควร แต่ว่าไม่ยอมรับคำขอโทษของผู้อื่นเช่นกันการยอมรับผิดอย่างจริงใจกับการยอมรับคำขอโทษจากผู้อื่นอย่างมีเมตตาจิต เป็นพฤติกรรมของผู้มีปัญญา "

           อาจารย์ยังสอนอีกว่า " การมีชีวิตอยู่ในโลกใบ้นี้ จะต้องรู้จักปรับพื้นผิวชีวิตของตัวเอง อย่างเช่นในทางสังคม เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างปรองดองได้อย่างไร ในด้านการศึกษา เราจะสื่อสารกับอาจารย์กับญาติผู้ใหญ่ด้วยวิธีไหน ในทางเศรษฐกิจ เราจะใช้จ่ายให้รายรับกับรายจ่ายสมดุลกันได้อย่างไร ในทางครอบครัว เราจะสร้างสัมพันธภาพอันสนิทชิดเชื้อระหว่างสามีภรรยาและลูกๆ ได้อย่างไร ในทางสุขภาพ เราจะฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงได้อย่างไร ในทางจิตวิญญาณเราจะเลือกวิถีชีวิตในกับตัวเองอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเสียชาติเกิดลองคิดดูนะว่า เป็นเพราะเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง เราก็ทะเลาะกันแต่เช้า เสียอารมณ์ หงุดหงิด จิตใจไม่สงบนิ่ง เสียศรัทธาต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นนี้ มันคุ้มค่าหรือไม่ "


           นาย ข. สำนึกผิด กล่าวจากใจจริงว่า " ข้าผิดไปแล้ว ข้าขาดสติไปหน่อย จึงดินทะเล่อทะล่าไปชนท่าน ข้อขอโทษ "

           นาย ก. ใจอ่อนลง พูดอย่างซาบซึ้งว่า " ข้าก็ไม่ถูกเหมือนกันไม่ควรโมโหโทโส เอ็ดตะโรใส่ท่าน ข้อขอโทษ "

แง่คิด

           รู้จัก " ขอโทษ " กันบ้าง

           การพูดคำว่า " ขอโทษ " มันยากนักหรือ ?

           ไม่ยอม " ขอโทษ " มี 2 กรณี กรณ๊แรกเกิดจากเราผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้จริงๆ ว่า ตัวเองทำความเสียหายแก่ผู้อื่นเข้าแล้ว จึงไม่ขอโทษ กรณีที่ 2 เป็นปัญหาเกี่ยวกับศักดิ์ศรีหน้าตา รู้สึกว่าใครถูกใครผิดก็ช่าง แต่ถ้าใครขอโทษก่อน คนนั้นก็เสียหน้า จะให้พ่อแม่ไปขอโทษลูกนั้นทำไม่ได้ มันเสียศักดิ์ศรี ขอโทษเพื่อนก็เหมือนกันเสียหน้าออกจะตาย

            ถ้าหากว่าใครๆ ก็คิดว่า ทำไมฉันต้องเป็นฝ่ายขอโทษก่อน มันไม่ใช่ความผิดของฉันสักหน่อย ต่างฝ่ายต่างยืนกราน เหตุการณ์ก็จะตึงเครียดยิ่งขึ้น และทุกคนก็จะอารมณ์เสีย

            จริงๆ แล้ว การกล่าวคำว่า " ขอโทษ " มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องหน้าตาเลย ไม่ว่าใครถูกใครผิด คนที่ขอโทษก่อนคือคนที่กล้าหาญที่สุด เป็นคนที่เผชิญหน้ากับความเป็นจริง กล้าเผชิญหน้ากับจุดอ่อนข้อบกพร่องของตัวเอง

            เกิดเป็นคน ย่อมทำถูกทำผิดกันบ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าหากเรามีความกล้าหาญพอที่จะยอมรับความผิด ยอมอภัยให้คนอื่น โลกนี้จะเต็มไปด้วยความเมตตาปรานี น่าอยู่น่าอาศัยยิ่งขึ้น

            นิทานเรื่องนี้สอนเราอีกว่า การพูดจาของคนเรานั้นมีหลายสไตล์คนบางคนพูดจาดุดัน เอะอะมะเทิ่ง มังมาพาโวย คนบางคนเรียบร้อยมาก พูดสุภาพ ผู้ดีทุกระเบียดนิ้ว แต่นี่เป็นเพียงรูปแบบ คนที่พูดจาโผงผาง อาจเป็นคนตรง คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เป็นคนปากกับใจตรงกัน ไม่มีพิษสงอะไร ในขณะที่คนพูดจาไพเราะหวานหู อาจเป็นคนปากหวานก้นเปรี้ยว คิดอย่งวหนึ่งพูดอีกอย่างหนึ่ง ยิ้มซ่อนมีดเป็นตัวอันตรายตัวจริง ในฐานะผู้ฟัง เราจึงไม่ควรตัดสินคนจากรูปแบบภายนอก แต่ต้องมองให้เห็นถึงธาตุแท้ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า สิ่งที่เขาพูดออกมานั้น มีเหตุผล เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ในฐานะผู้พูดเราก็ไม่ควรมองข้ามรูปแบบเช่นกัน รูปแบบที่ดีย่อมสร้างความประทับใจเป็นที่ต้อนรับของคนทั่วไป คนที่คิดดี พูดดี ทำดี ย่อมภาษีมากกว่าคนที่คิดดี ทำดี แต่พูดไม่ดี






By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

           

No comments:

Post a Comment