Monday, December 03, 2012

โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ
หรือ การคิดแบบวิเคราะห์

           ในการปฏิบัติทางสายกลางตามหลักไตรสิกขา คือ ปัญญา ศีล สมาธิ นั้น พุทธศาสนาถือว่า ปัญญา เป็นหมวดที่มีความสำคัญที่สุดเพราะหากมีแต่สอนให้คนปฏิบัติโดยยึดหมวดศีลและสมาธิด้วยความไม่รู้หรือตกอยู่ในอวิชชาแล้ว ย่อมนำไปสู่ความคิดความเชื่อที่ผิดๆ จนอาจทำให้พุทธภูมิถูกบิดเบือนไปจากเดิมได้

           การคิดโดยการใช้เหตุผล ย่อมเป็นทางนำไปสู่การเกิดปัญญาในทางสัมมาทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นการคิดในทางวิทยาศาสตร์ หรือในกระบวนการคิดทางจิตวิญญาณก็ตาม เช่นเดียวกัน ในทางพุทธศาสนาแนวความคิดแบบวิเคาะห์ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญา เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตว่า สรรพสิ่งทั้งหลายต่างอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมนุษย์เราจึงมิสมควรมีหรือใช้อภิสิทธิ์ในการเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ธิก นัต ฮานต์ พระภิกษุฝ่ายมหายานได้อธิบายลักษณะของความคิดแบบวเคราะห์ ไว้ดังนี้

           " หากเราเข้าถึงสัมมาทิฏฐิในความหมายทางพุทธศาสนาขณะที่นั่งให้จิตเป็นสมาธิอ่านหนังสืออยู่ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่แหงนมองท้องฟ้าสีคราม เมฆขาวกำลังค่อยๆ ลอยผ่านไปอย่างช้าๆ จะทำให้เราสามารถมองเห็นเมฆก้อนนั้นลอยอยู่บนหน้ากระดาษ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเมฆกับการเกิดฝน เพราะหากไม่มีเมฆบนฟ้า ฝนคงไม่ตกลงสู่ดิน หากดินไร้ฝน ก็คงไร้ต้นไม้และคงไร้กระดาษที่จะนำมาพิมพ์หนังสือ เมฆมีความสำคัญต่อต้นไม้ฉันใด ต้นไม้ก็มีความหมายต่อกระดาษฉันนั้นเพราะหากไม่มีเมฆ ต้นไม้และกระดาษก็จะไม่มี ดังนั้น เมฆต้นไม้ กระดาษ ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน



            มองให้ลึกลงไปในเนื้อกระดาษของหนังสือเล่มนั้น จะเห็นแสงแดดที่กำลังส่องลงมา เพราะหากไร้แสงแดดส่อง ป่าและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งตัวเราก็คงไม่มี แสงแดดย่อมมีความหมายต่อกระดาษ หากเราคิดให้ลึกต่อไปอีก จะมองเห็นคนตัดไม้ในป่า กำลังขนไม้ป้อนโรงเลื่อยเพื่อแปรรูปเป็นเหยื่อกระดาษ มีนาข้าวที่เขียวชอุ่มอยู่ใกล้ๆ คิดลึกลงไปอีกนิดเราจะเห็นธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า หากไม่มีเมล็ดข้าว ก็คงไม่มีคนตัดไม้ ไม่มีเยื่อกระดาษ ดังนั้น ข้าวกับกระดาษจึงมีความสัมพันธ์ต่อกัน

            มองให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย จะเห็นตัวเรามีส่วนร่วมอยู่ในระบบความสัมพันธ์เหล่านั้นด้วย ขณะที่เรากำลังมองดูตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ สัญญาคือการจำได้หมายรู้ย่อมเกิดขึ้นนั่นแสดงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งการทำงานของจิต ที่ถือว่าเป็นสังขตธรรม ย่อมเป็นปัจจัยต่อกัน "

           หากตระหนักได้เช่นนี้ก็ย่อมแสดงว่าเราสามารถเข้าถึงสัมมาทิฏฐิตามแนวคิดแบบวิเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนาว่าด้วยกฏธรรมชาติของ " การเป็นปัจจัยต่อกัน " ซึ่งในคัมภีร์อภิธรรม คำว่าปัจจัยนั้นมีการแบ่งไว้เป็น 24 อย่าง โดย " เหตุ " หรือที่นิยมเรียกว่า " เหตุปัจจัย " นั้น เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น

           ต่อไป เราลองมาพิจารณาวิเคราะห์ถึงกระบวนของ " ความเป็นปัจจัยต่อกัน " ระหว่างสังขตธรรมทั้งหลายในทางพุทธศาสนาตามหลักปฏิจจสมุปบาท จะทำให้เข้าใจในวงจรแห่ง " ไตรวัฏ " คือ กิเลส กรรม วิบาก ได้ดียิ่งขึ้น

           พุทธศาสนาถือว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นกระบวนการแห่ง " ความเป็นปัจจัยต่อกัน " ในวงจรการทำงานของจิตต่อการเกิดดับแห่งทุกข์ที่สามารถนำมาอธิบายได้ตามแบบสมุทัยวารหรือแบบนิโรธวารโดยมีปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด 4 ขั้นตอน คือ อวิชชา และ กรรม เป็นเหตุในอดีต ทำให้มีวิญญาณ นาม รูป สฬายตนะทั้งหก รวมทั้งผัสสะ และ เวทนา อันถือว่าเป็นผลในปัจจุบัน และมี ตัณหา อุปาทาน ภพ เป็นเหตุในปัจจุบัน จึงจะทำให้มี ชาติ ชรา มรณะ โศกเศร้า คร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส คับแค้นใจ สิ้นหวัง เป็นผลในอนาคต

          นอกจากนี้ สัมมาทิฏฐิในทางพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยหลักปฏิสัมภิทา 4 ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดแบบวิเคราะห์เพื่อแสวงหา " ความเป็นปัจจัยต่อกัน " ของสรรพสิ่งด้วยคุณสมบัติ 4 ประการ คือ 

          1. อัตถปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในอรรถ สามารถเข้าใจความหมาย แยกแยะและขยายความได้

          2. ธัมมปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉานในหลักการ จับใจความแยกหัวข้อได้

          3. นิรุตติปฏิสัมภิทา รู้เข้าใจในศัพท์ในบัญญัติ และ 

          4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีปฏภาณไหวพริบในการนำมาประยุกต์





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment