ธัมมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส ( เกริ่นนำ )
การเกิดขึ้นของลัทธิการเมืองใดๆ ย่อมมีปรัชญาการเมืองเป็นรากฐานทั้งสิ้น และคงมีแต่ ปรัชญาการเมืองที่ไม่ขัดต่อสัจจะของธรรมชาติเท่านั้น ที่จะหนุนให้ลัทธิการเมืองนั้นๆ คงทนถาวรและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันอย่างผาสุกทั้งใน ระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม ลัทธิทางการเมืองเท่าที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ต่างก็พิสูจน์ ตัวเองมาแล้วมากยุคสมัย ทว่าจวบจนปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าลัทธิทางการเมือง ชนิดใดที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ลัทธิทางการเมืองในยุคหลังมีแนวโน้มเอนเอียง มาทางโลกียวิสัย ( Secularization ) มากยิ่งขึ้นทุกที และนับวันเมื่อประชากรโลกยิ่งมากขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรก็เริ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาว่าทำอย่างไร จึงจะสามารถหาแนวคิดทางการเมือง ที่เหมาะสม สำหรับมนุษย์และธรรมชาติ จึงยังจำเป็นต้องมีการพูดถึงกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย
แนวคิดด้านสังคมนิยม เศรษฐกิจ และการเมือง ของพุทธทาสภิกขุ ในชื่อ " ธัมมิกสังคมนิยม " นั้น เป็นผลึกความคิดที่ได้จากกระบวนการ " สิกขา " อย่างเป็นระบบในหลักธรรมทั้งในระดับ ปัจเจกและชุมชน และได้นำเสนอภายใต้หลักศาสนาธรรม ซึ่งท่านเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การเมืองคือศีลธรรม
บทความชี้นนี้เป็นการนำ ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่าด้วยเรื่อง " ธัมมิกสังคมนิยม " ซึ่งท่านได้บรรยายไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวม กว้างๆ ของแนวคิดนี้ โดยวางโครงร่างของการเรียบเรียงออกเป็น ๔ หมวดด้วยกัน คือ
๑. ว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย การเมืองและอุดมคติทางการเมือง, บทนิยาม " การเมือง " ตามแนวทางศาสนา, การเมืองต้องเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ, ความหมายของ ศีลธรรม และ วิพากษ์สภาพการเมืองปัจจุบัน
๒. สังคมนิยม : ความหมายรากฐาน ประกอบด้วย สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา, เจตนารมณ์ของสังคมนิยมเป็นธรรมสัจจะที่มีอยู่ในธรรมชาติ, จุดตั้งต้นของอุดมคติสังคมนิยม, วิญญาณแห่งสังคมนิยม - ธรรมสัจจะแห่งสังคมนิยม และพิจารณาสังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ
๓. ธัมมิกสังคมนิยม และเจตนารมณ์สังคมนิยมในพุทธศาสนา ประกอบด้วย ความหมาย ของธัมมิกสังคมนิยม, มีระบบธัมมิกสังคมนิยมจึงจะถูกต้องตามสัจจะของธรรมชาติ, เจตนารมณ์ของสังคมนิยมในพุทธศาสนา, พิจารณาคำว่า " ส่วนเกิน " และระบบสังคมนิยมแบบ ธรรมราชา
๔. แนวทางสู่ธัมมิกสังคมนิยม ประกอบด้วย ธัมมิกสังคมนิยมของธรรมชาติต้องกลับมา และการแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ ( บุคคลและสังคม )
เนื่องจากการเรียบเรียงในครั้งนี้ มุ่งหวังเพียงแค่ให้เห็นภาพวมของแนวคิดดังที่กล่าวแล้วนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะตีความ หรือตัดสินคุณค่าของแนวคิดดังกล่าวในทุกวิถีทาง แต่จะทิ้งประเด็นเหล่านี้ไว้ เพื่อนำไปคิดต่อทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ และสำหรับผู้ที่สนใจในระดับลึกก็ควรจะได้ศึกษา แนวคิดธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุโดยตรง ซึ่งจะมีที่มาอยู่ท้ายบทความชิ้นนี้แล้ว
By พุทธทาสศึกษา
No comments:
Post a Comment