ขโมยครั้งเดียวก็พอ
ท่านสืออูออกธุดงค์ พบชายแปลกหน้าคนหนึ่ง จึงเดินคุยเป็นเพื่อนกันคุยกันถูกคอ โดยไม่รู้เนื้อรู็ตัว ฟ้าก็มืดค่ำเสียแล้ว ทั้งสองจึงเข้าพักในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่งด้วยกัน
กลางดึก ท่านสืออูได้ยินเสียงก๊อกแก๊กดังอยู่ในห้อง จึงร้องถามขึ้นมาว่า " สว่างแล้วรึ "
ชายแปลกหน้าตอบว่า " ยัง เพิ่งจะเที่ยงคืน "
ท่านสืออูคิดในใจว่า ชายแปลกหน้าคนนี้แปลกมาก สามารถเดินในความมืดมิดของค่ำคืน อาจจะเป็นยอดฝีมือ หรือไม่ก็พระอรหันต์คิดเช่นนี้แล้วจึงร้องถามไปว่า
ท่านสืออู " เจ้าเป็นใครกันแน่ "
หัวขโมย " หัวขโมย "
ท่านสืออู " อ้อ... ขโมยดอกหรือ เจ้ขโมยมากี่ครั้งแล้ว "
หัวขโมย " นับครั้งไม่ถ้วน "
ท่านสืออู " ทุกครั้งที่ขโมย มีความสุขได้นานเท่าไร "
หัวขโมย " ต้องแล้วแต่มูลค่าของของที่ขโมยมาได้่ "
ท่านสืออู " ครั้งที่มีความสุขที่สุด สุขอยู่นานแค่ไหน "
หัวขโมย " ก็ไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว "
ท่านสืออู " ที่แท้ก็โจรกระจอก ทำไมไม่ขโมยเยอะๆ ครั้งใหญ่ๆ สักครั้งล่ะ "
หัวขโมย " ที่แท้ก็พวกเดียวกันดอกหรือ เจ้าขโมยมากี่ครั้งแล้ว "
ท่านสืออู " ครั้งเดียว "
หัวขโมย " แค่ครั้งเดียวดอกหรือ "
ท่านสืออู " ใช่ แค่ครั้งเดียว แต่มีความสุขเสพไม่สิ้นทั้งชีวิต "
หัวขโมย " เจ้าขโมยอะไรมา สอนข้าได้ไหม "
" ไอ้นี่ไง เจ้ารู้จักไหม " ท่านสืออูชี้ไปที่หัวสมองของตัวเอง แล้วพูดต่อไปว่า " ในนี้มีขุมสมบัติอันล้ำค่า เจ้าอุทิศชีวิตให้กับไอ้เจ้านี่แล้วเจ้าจะได้ปัญญากับสัจธรรม เป็นของวิเศษที่ใช้ไปชั่วชีวิตก็ไม่หมดไม่สิ้น แบบนี้ เข้าใจหรือยัง "
หัวขโมย " คล้ายๆ จะเข้าใจ แต่ก็คล้ายๆ กับว่าไม่เข้าใจ "
ต่อมา หัวขโมยคนนี้ก็กลายเป็นศิษย์ของท่านสืออู บวชเป็นพระเซนชั่วชีวิต
แง่คิด
จับหลัก อย่าจับกระพี้
ในคำเสวนาไม่กี่ประโยคของพระอาจารย์เซนกับหัวโมย พระอาจารย์เซนชี้ให้เห็นว่าอะไรคือแก่นแท้ของชีวิต อะไรคือ ปรากฏการณ์ของชีวิต และสอนให้หัวขโมยรู้จักจับเอาแต่หลัก อย่าเที่ยวคว้ากระพี้ มันทำให้ชีวิตเสียเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ถึงจะมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ไม่จีรังยั่งยืน
สัจธรรรมกับปัญญาเป็นรากฐานของโลกมนุษย์ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์กับธาตุแท้ที่รายล้อมเกาะเกี่ยวอยู่ในทุกอณูของชีวิต จนดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งบางครั้งแยกไม่ออกว่าอะไรคือแก่นอะไรคือกระพี้ อะไรคือปรากฏการณ์ อะไรคือธาตุแท้ อะไรคือหลัก อะไรคือรอง... ต้องอาศัยดวงชะตาที่ชาญฉลาดคู่หนึ่ง ดวงตาที่เห็นธรรมจึงจะไม่ถูกปรากฏการณ์อันเป็นของปลอมหลอกลวงจนเกิดความงุนงงสามารถมองฝ่าปรากฏการณ์ทะลุทะลวงเข้าไปเห็นถึงธาตุแท้ได้
จุดเปลี่ยนของหัวขโมยในนิทานเซนเรื่องนี้อยู่ตรงไหน
สัตบุรุษให้ความสำคัญกับธาตุแท้ ยึดถือแก่น ทำแต่เรื่องใหญ่ๆ เรื่องหลักๆ คนถ่อยสนใจแต่ปรากฏการณ์ภาพลักษณ์ปลือกนอก ทำแต่เรื่องเล็กๆ ไร้สาระ มีแต่น้ำไม่มีเนื้อ ยึดแต่กระพี้ ไม่ยึดหลักกระนั้นก็ตาม มนุษย์ทุกคนล้วนมีจิตพุทธะ แต่ที่ดำเนินชีวิตผิดหลักมาโดยตลอด ทำแต่เรื่องไร้สาระ ไม่เข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต ก็เพราะ " ไม่รู้ " ครั้นพระอาจารย์เซนชี้ทางสว่างให้ หัวขโมยก็ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่าความสุขที่แท้จริงเกิดจากปัญญา เกิดจากจิตที่บรรลุธรรม หาใช่วัตถุสิ่งนอกกายไม่ หัวขโมยเริ่มรู้ว่าตัวเองเดินผิดทางมาตลอดชีวิต ทรัพย์สมบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่ขโมยมา สร้างความสุขได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น มิสู้อริยทรัพย์ในสมอง ในหัวใจ ที่สามารถสร้างความสุขยั่งยืนนิรันดร์กาล
เห็นความจริงเช่นนี้ หัวขโมยจึงตัดสินใจออกบวช ศึกษาธรรมะตามหาอริยทรัพย์ที่จะทำให้เขาได้พบกับความสุขอันแท้จริง
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment