Tuesday, January 01, 2013

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 10 )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 10 )

          ทาสในระบบเจ้าขุนมูลนายเก่าเราแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ ทาสเชลย ( เป็นทาสเพราะถูกบังคับ ) กับทาสสินไถ่ ( ถูกขายตัวแลกเงินมา เช่นบิดาขายบุตร ผัวขายเมีย ลุงขายหลาน เป็นต้น ) คนที่เป็นทาสสินไถ่ โดยมากจะถูกขายขาด จึงต้องตกเป็นทาสทั้งชีวิต ลูกที่เกิดมามิมีสิทธิ์เป็นไทได้เลย เช่นเดียวกับทาสเชลยส่วนใหญ่เป็นทาสพระราชทานแก่ขุนนาง

           ทาสทั้งหลายจะต้องทำงานให้นายทาสสารพัดสารพัน เช่น ตักน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน พายเรือ หามแคร่ ทอผ้า ไถนา เกี่ยวข้าว เดินตามหลังเจ้านายและงานอื่นๆ อีกหลายหน้าที่ ซึ่งผู้ดีทำมิได้

           กฏหมายยังยอมให้นายทาสขายทาสแก่ใครๆ โดยทาสไม่มีสิทธิคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น

           ชัย เรืองศิลป์ นักประวัติศาสตร์ได้ แสดงทัศนะเรื่องนี้ว่า...

           " กฏหมายถือว่าทาสเป็นทรัพย์สินเหมือนอย่าง วัว ควาย ไก่ เป็ด คนที่ตกเป็นทาสจึงถูกประณามหยามเหยียดว่าเป็นคนชั้นต่ำชั้นเลว ต่ำแลเลวยิ่งกว่าผู้เป็นไพร่ "

           ในด้านอาหารการกิน ดูเหมือนว่าแผ่นดินสยาม ชาวบ้านธรรมดาน่าที่จะกินข้าวกับข้าวจำพวกปลาแห้ง แกงเผ็ดสักอย่างสองอย่างปลาร้าหรือว่าน้ำพริกและอีกเล็กๆ น้อยๆ คล้ายจะคล้อยตามความคิดของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่าใกล้เคียงกัน แต่นั่นเป็นอาหารชั้นต้น ( แต่กลวิธีการทำการปรุงก็ยุ่งยากแถมหลากหลายผิดกันไกล ดูได้จากตำราอาหารราชวังทั้งมวล )

            ส่วนด้านการเป็นอยู่ ผู้เป็นทาสมิอาจมีหรือถือครองข้าวของใดๆ ได้ แม้แต่การไปรบ ( แทนนาย ) ทาส ( และไพร่ ) ต้องนำอาหารไปกินเอง บางทาสเองคิดว่าถ้ามีนายดี ( พอที่จะเจือจานของให้ ) ยังดีกว่าเป็นไพร่ที่ต้องไปเข้าเกณฑ์เป็นทหาร 4 เดือน ( อีก 4 เดือนรับใช้เจ้านายและอีก 4 เดือนไปทำไร่ไถนา ) บางคราไพร่ก็คิดฝันไปว่าวันหนึ่งบุญถึงวาสนาพูนก็จักได้ไต่เต้าเป็นเจ้าขุนมูลนายไปโน่น ( แต่คนไพร่ไทยจะมีสักกี่หน้าจะได้เลื่อนฐานันดร )



           สมัยก่อนการมีมากทาสจึงมักประกาศความเป็นเจ้านายชั้นสูงส่งไม่ก็บ่งฐานะถึงการเป็นอัครคหบดีดังที่ขุนช้างนิยมทำ ( มีข้าทาสตามหลังคับคั่งเวลาเข้าเฝ้า )

            ในลักษณะการเอาผัวเมียนั้น จะเห็นกันได้แจ่มชัดว่าบรรดาเจ้าขึนมูลนายย่อมมีหลายภรรยาโดยไม่มีข้อครหาให้เสื่อมเสีย แต่ทาสมีเมียได้เมียเดียว ( ผัวเดียว ) หากหลบเลี้ยวไปเล่นชู้สู่ชายโทษที่ได้รับย่อมหน่วงหนัก ไหนจะโดนสักหน้าประจาน ไหนจะถูกทรมานตระเวนจำคนให้คนหยามเย้ยไยไพ

           เรียกได้ว่ากฏหมายปกป้องเจ้าขุนมูลนายไว้พร้อมสรรพ แม้ มรว.คึกฤทธิ์จะสำทับว่าฐานันดรของชนชั้นไทยระหว่างไพร่กับขุนนางดูไม่ห่างกันมาก แต่จากสภาพโดยรวมแล้วห่างแถวกันหลายขุม เป็นคนละกลุ่มคนละฝั่งบนสังคมไทยในสมัยศักดินาก็ว่าได้

            แค่การใช้คำสรรพนามอันรุ่มร่ามรุ่มรวยอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนจะแบ่งชนชั้นวรรณะโดยปริยาย แทบไม่ต้องขยายความใดๆ

            มรว.คึกฤทธิ์ ได้กล่าวถึงทาสอีกครั้งเมื่อนางสายทองเบิกร่องเบิกบท เนื้อหาปรากฏดัง

            " นางสายทองนั้นเป็นทาสชั้นสูง มีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงนางพิมและกินอยู่หลับนอนบนบ้านของเจ้าของ มีฐานะเท่าเทียมกับนางพิมนั้นเองและออกจะมีอำนาจเหนือนางพิมมาก นางพิมมีนิสัยใจคอและพฤติกรรมต่างๆ ด้วยความคิดและการชักนำของนางสายทองเกือบจะทั้งหมด

            เรามักจะเข้าใจกันว่าทาสจะต้องเป็นคนชั้นต่ำ เป็นผู้ที่ต้องทำงานหนักและเป็นผู้ที่ต้องมีความยากลำบากอย่างยิ่งในชีวิตเสมอไป แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ทาสที่เป็นชนชั้นสูงอยู่ร่วมกับเจ้าของทาสและอยู่ดีกินดีเช่นเดียวกับผู้เป็นเจ้าของก็มีอยู่ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณมาแล้ว ปรากฏว่าผู้มีการศึกษา นักคิด นักเขียน นักปรัชญาและนักแต่งละครได้ตกเป็นทาสเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตกเป็นทาสของพวกโรมัน ในเมืองไทยก็เคยมีเหมือนกัน เห็นได้ที่นางสายทองในเรื่องขุนช้างขุนแผน "

            สายทองเป็นตัวละครแกนๆ ตัวหนึ่งซึ่งเนื้อหาไม่ได้บอกความเป็นมาเท่าไหร่ ได้แต่จับเค้าเอาว่าเฝ้าเลี้ยงนางพิมฯ มาตั้งแต่แบเบาะและก็มีฐานะเป็นพี่เลี้ยงมาตลอดเรื่อง แต่มิต่อเนื่อง แต่การที่จะชักให้เป็นถึงข้าทาสประจำคฤหาสน์นางพิมพิลาไลยคงไม่ใช่แน่นอน เพราะสายทองตอนอกไปนอกบ้านก็จะมีบริวารข้าไทตามไปให้ใช้สอยแทบทุกครั้ง เพราะยังมีช่องพอให้มองได้คือสายทองอาจเป็นเครือญาติมากกว่าข้าทาส แต่ด้วยบทบาทอันน้อยนิดและการต่อร่องรอยการเรียงร้อยตัวละครของเรายังเบาโหวงโยงใยแต่ตัวเอกไม่กี่ตัวเท่านั้น

            เมื่อวันทองตาย สายทองถูกดึงให้โผล่ออกมาตีบทโศกาลัยแว่บหนึ่งจึงถูกรูดฉากให้จากไปโดยถาวร...

            กลอนเสภาที่กล่าวถึงม้าสีหมอกซึ่งขุนแผนกำลังตระเวนออกหาของดี 3 อย่าง กลอนกล่าวอ้างไว้ไม่มากนักว่า 

หลวงศรีได้ม้ามามอบให้
ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า
สีเหลืองเมืองมะริดพลอยติดมา
ผัวมันทั่นว่าเป็นม้าน้ำ

มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก
มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ
ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ
เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา

           มรว. คึกฤธิ์ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า

           " ม้าที่ใช้ในราชการทัพสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นคงเป็นม้าไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะหาได้ง่ายในประเทศและเป็นม้าที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนหญ้าและน้ำ สามารถไปในราชการทัพอย่างสำบุกสำบันได้ ส่วนม้าอิหร่านหรือที่เรียกกันว่าม้าเปอร์เซียนั้นเป็นม้าประเภทสวยงาม ควรจะสั่งเข้ามาเป็นม้าต้นของพระเจ้าแผ่นดิน หรือม้าทรงของเจ้านายและม้าของขุนนางผู้มีบุญวาสนาเพื่อมาขี่เอาสวยงามกันเท่านั้น จะใช้งานอะไรจริงจังนักก็เห็นจะไม่ได้

           ตรงนี้ มรว.คึกฤทธิ์ย้ำขยายต่อว่า

           " ที่เสภาบอกว่าพ่อของม้าสีหมอกเป็นม้าน้ำนั้น ฟังดูแล้วก็ไม่น่าประหลาดใจเพราะคนไทยที่เริ่มเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นดูเหมือนจะอ่อนความรู้ในทางวิชาสัตวศาสตร์ ยังเชื่อถือกันจริงๆ ว่าม้านั้นมีทั้งม้าบกและม้าน้ำ มิหนำซ้ำยังผสมพันธ์กันได้อีกด้วย "

            ทวยคนไทยสมัยเก่าเขาอาจอ่อนความรู้ด้านกว้างทางสัตว์ทั่วไปแต่ในเฉพาะด้านเฉพาะส่วนเขาศึกษากันถี่ถ้วนทุกอย่าง เช่น ช้าง ม้า อันเป็นพาหนะแก้วสำคัญขององค์พระมหากษัตริย์ ทว่าเขาจำกัดความรู้อยู่แต่ตระกูลตนหรือตนเอง ไม่ยอมให้ใครเก่งใครรู้ดีกว่า ตำรับตำราบางประการจึงหายไปกับกาลเวลา

            ที่ว่าพ่อขอม้าสีหมอกเป็นม้าน้ำ ( ตามตำราวรรณคดีคือม้าที่ท่อนบนเป็นม้า ส่วนล่างเป็นหางปลา ) ก็น่าที่มิใช่ดังนั้น

            พันธ์ของพ่อม้าสีหมอกน่าจะออกมาทางม้าสินธพซึ่งเป็นม้าตามลำน้ำสินธุที่อยู่ในอินเดียโน่น เพราะรากโคนวรรณคดีเบื้องแรกเราแทรกเราแบกรับตำรับตำรามาจากอินเดียเกือบหมดกระบิ ม้าที่ดี 4 พันธ์ทางวรรณคดีเขาแบ่งไว้ดังนี้

            1. วลาหก เป็นม้าที่ฝีเท้าเร็วจัด ( ปานลมพัด ) เผ่นโผนโจนทะยานคล่องแคล่วว่องไว

            2. อาชานัย เป็นม้าสติปัญญาดี มีความจำล้ำลึกฝึกหัดให้เชื่องชินได้ง่าย

            3. อัสดร เป็นม้าที่ร่างกายแข็งแรง เรี่ยวแรงดี มีความทรหดสำบุกสำบันได้ครันครบ

            4. สินธพ เป็นม้าที่น่าจะรวมมิตรติดจากฟากโน้นนิดฟากนี้หน่อย

            แต่ทุกประเภทต้องใช้สอยได้ดังใจปรารถนา ท่วงท่าสมบูรณ์ตามคุณลักษณะ

            ม้าอาหรับหรือม้าอิหร่านถือเป็นม้าสายพันธ์ดีที่สุดในโลกสายหนึ่ง ซึ่งมีต้นเค้าจากอินเดียและม้าพันธุ์มองโกเลียแล้วคัดผสมกับม้าป่าทางยุโรปตอนใต้

            สายพันธุ์ม้าอาหรับออกทัพมาก่อนหน้าเพราะว่าเป็นม้าครบสูตร ภายหลังมนุษย์พัฒนาอาวุธสุดเหี้ยมโหด ม้าอาหรับจึงลดภาระมาเป็นม้าพนันและสืบสายพันธุ์ให้คนมีเงินหาความเพลิดเพลินหา " หน้า " ไว้อวดบารมีเท่านั้น

             ขอยกยอดบรรเลงต่ออีกครั้งดังเดิม





By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )

           

No comments:

Post a Comment