Tuesday, January 01, 2013

สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ

          สัมมาสมาธิ หมายถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนา และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบเพื่อบรรลุฌานทั้ง 8 โดยมีฌาน 4 ในขั้น รูปาวจรภูมิ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน กับฌาน 4 ใน อรูปาวจรภูมิ ที่จิตได้พัฒนาเข้าส่สภาวะทั้งสี่ ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญาตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สำรับจิตในระดับรูปาวจรภูมินั้นแบ่งออกเป็น 4 ขั้นดังนี้

           ขั้นที่ 1 ปฐมฌาน สภาพของจิตที่สงบนิ่ง ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

           ขั้นที่ 2 ทุติยฌาน หมายถึงสภาพจิตที่มีเฉพาะ ปีติ สุข เอกัคคตา

           ขั้นที่ 3 ตติยฌาน คือสภาพจิตที่หมดสภาพของอารมณ์ วิตก วิจาร และ ปีติ คงเหลือแต่ สุข และ เอกัคคตา

           ขั้นที่ 4 จตุตถฌาน หมายถึงสภาพจิตที่มีแต่ อุเบกขา และ เอกัคคตา

           ณ จุดนี้จิตของผู้ปฏิบัติจะเกิดปัญญาในการทำความเข้าใจกับการปฏิบัติมรรคผลอันประกอบด้วยองค์แปด ทำให้สามารถบังคับจิตเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้เกิดทุกข์ และสามารถเข้าใจในชีวิตว่า " มันเป็นเช่นนี้เอง " ในขณะที่ทำการปฏิบัติจนจิตเข้าสู่สภาวะสงบในช่วงนั้น


          สำหรับจิตที่ตกอยู่ในอรูปาวจรภูมิเป็นจิตที่อยู่ในระดับสูงเหนือรูปาวจรภูมิ เป็นจิตขั้นที่เข้าถึง ภาวะอากาศไม่มีที่สิ้นสุด [ อากาสานัญจายตนะ ] จิตในภาวะของวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ( วิญญาณัญจายตนะ ) จิตขั้นที่เข้าภาวะที่ว่างเปล่า ( อากิญจัญญายตนะ ) และ จิตขั้นสูงสุดในภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( เนวสัญญานาสัญญายตนะ )

          อย่างไรก็ตาม ระดับจิตทั้งในรูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมินี้ ในทางพุทธศาสนาก็ยังถือว่าอยู่ในระดับโลกิยะ ภายหลังที่จิตของผู้ปฏิบัติเข้าสู่ระดับเนวสัญญานาสัญญายตนะแห่งอรูปาวจรภูมิจิตจะตกอยู่ในภาวะที่สงบและบริสุทธิ์ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกิเลสส่วนใหญ่จะหยุดนิ่ง ยกเว้นกิเลสละเอียด 10 อย่างที่เรียกว่า สังโยชน์ 10 ประการเท่านั้นที่ยังค้างอยู่ ต่อเมื่อมีการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาจนกระทั่งสามารถขจัดสังโยชน์ชนิดต่างๆ ลงได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงจะบรรลุโลกุตรธรรมขั้นสูงสุดที่เรียกว่านิพพาน

           สังโยชน์ทั้ง 10 อย่างได้แก่

           1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณว่าเป็นตน

           2. วิจิกิจฉา ความข้องใจ สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ

           3. สีลัพพตปรามาส การยึดติดในรูปแบบพิธีกรรมผิดๆ

           4. กามราคะ ความใคร่อยากในกาม

           5. ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ

           6. รูปราคะ ความกำหนัดในรูปภาพ อยากเป็น อยากใหญ่ อยากยั่งยืน

           7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน

           8. มานะ ความถือตัวสำคัญตนว่ายิ่งใหญ่ เป็นนั่นเป็นนี่

           9. อุธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

           10. อวิชชา ความไม่รู้จริง คือ โมหะ

           ผู้ที่ปฏิบัติจนสำเร็จตามขั้นตอนในการกำจัดสังโยชน์แต่ละระดับจัดเป็นอริยบุคคล 4 ประเภท ได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ซึ่งหมายถึงอริยบุคคลที่สามารถขจัดสังโยชน์ทั้งสิบได้อย่างหมดสิ้นจนจิตหลุดพ้นเป็นอิสระเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า นิพพาน

           การปฏิบัติศีลภาวนาตามทางสายกลางแห่งไตรสิกขาของมรรค 8 ที่กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ตามแก่นคำสอนทางพุทธศาสนา ซึ่งนิกายเถรวาทจะเน้นให้ประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับศีลเป็นอันดับแรก เช่น อย่างน้อยจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กรอบแห่งศีล 5 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากสุรายาเมาสิ่งเสพย์ติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

           ต่อจากนั้นจึงจะนำไปสู่การปฏิบัติทางด้านสมาธิ เพื่อการชำระจิตใจให้ผ่องใสมีความเจริญงอกงามในธรรม ซึ่งท่านพระธรรมปิฎก นิยาม จิตที่ดีมีคุภาพ ว่ามีคุณสมบัติ 5 ประการ คือ ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลายสบายใจ สุข ความโปร่งใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้นหรือระคายเคือง และ สมาธิ ซึ่งหมายถึงจิตที่แน่วแน่ สงบ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ถูกอารมณ์ต่างๆ มารบกวน ภายหลังที่จิตเข้าสู่สมาธิในระดับหนึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะสามารถทำวิปัสสนาภาวนาได้ตามขั้นตอนต่อไป

           โปรดสังเกตุว่า มหานยานมีความเชื่อเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขาแตกต่างจากชาวเถรวาท โดยคือเอา " ปัญญาสิกขา " เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนการรักษาศีลสมาธิภาวนา ชาวมหายานมีความเห็นว่า ตราบใดที่ผู้ปฏิบัติธรรมยังมีมิจฉาทิฏฐิและมิจฉาสังกัปปะอยู่ แม้ว่าจะเจริญภาวนาในด้านศีลสมาธิไปตราบนานเท่าใด ก็ไม่มีวันที่จะทำให้บรรลุสภาวธรรมแห่งความ " สะอาด สงบ สว่าง " ไปได้เลย ดังพุทธพจน์ที่ว่า

            " ฐานโบสถ์ไม่ดี ยอดโบสถ์ย่อมเอียง " ดังนี้เป็นต้น






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment