Friday, January 04, 2013

ธัมมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส ( บทที่ ๓ )

ธัมมิกสังคมนิยมของท่านพุทธทาส ( บทที่ ๓ )
ธัมมิกสังคมนิยม และเจตนารมณ์สังคมนิยมในพุทธศาสนา

ความหมาย ธัมมิกสังคมนิยม

           " ...โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัว และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ ระบอบการปกครองในโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวคนตัวบุคคลคือมือใครยาวสาวได้สาวเอา จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบอยู่ด้วยพระธรรม หรือพระเจ้า แล้วแต่จะเรียก ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม

           สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นเพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง ไม่เห็นแก่ตัวกูคนเดียว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จึงจะเรียกว่าสังคมนิยม แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน การเห็นแก่สังคมผิดๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า "ธัมมิก " ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้ เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม - ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรมมะ "



มีระบบธัมมิกสังคมนิยม จึงจะถูกต้องตามสัจจะธรรมชาติ

            " ถ้าเราจะย้อนดูตามลำดับ จะย้อนสิ่งที่เรียกว่า ระบบการเมืองมาตามลำดับแล้วควรจะย้อนดูไปจนถึงยุคดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ก่อนมีระบบการเมือง... ถ้าดูเป็นจะเห็นว่ามีซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้งตามแบบของธรรมชาติ แต่ถ้าดูอย่างสบายตานักการเมืองสมัยปัจจุบันแล้ว มันไม่มีระบบการเมือง ในหมู่มนุษย์สมัยหินที่ยังไม่นุ่งผ้า หรือว่านุ่งใบไม้อะไรก็ตาม เพราะว่าระบบการเมืองนี้เขาหมายถึง ระบบบัญญัติกันขึ้นในยุคที่เจริญแล้วอย่างนี้

             แต่อาตมาบอกว่า ชีวิตทั้งหลายมีระบบการเมือง แม้แต่ต้นไม้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มาถึงคน คือ ระบบการเมืองของพระเจ้า ระบบการเมืองของธรรมชาติ ที่บังคับให้มนุษย์จะต้องอยู่กันอย่างถูกต้อง ในการอยู่เป็นสังคม มิเช่นนั้นจะต้องตาย จะต้องสูญหายไปหมด เช่น ไดโนเสาร์

             สัตว์เหล่านั้นไม่รู้ และไม่มีเจตนาที่จะมีระบบการปกครอง มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ แล้วมันรอดอยู่ได้เพราะเผอิญบางพวกหรือบางสาย มันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธัมมิกสังคมนิยมของธรรมชาติ คือ ถูกต้องตามสัจจะธรรมของธรรมชาติ ที่มันจะต้องประพฤติแก่กันและกันอย่างนั้น มันจึงรอดอยู่ได้...

             ดูอีกทีหนึ่ง เราดูที่วัฒนธรรม สิ่งใดที่เรียกได้ว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ สิ่งนั้นมันก่อรูปขึ้นมาในระบบสังคมนิยม คือ ความปรองดอง ความประนีประนอม ความประพฤติต่อกันและกันในลักษณะที่ว่า ให้มันอยู่ด้วยกันได้สัตว์เดรัจฉานมันอยู่อย่างนี้ แล้วมนุษย์แรกมีขึ้นมาในโลก มันก็ต้องอยู่อย่างนี้โดยไม่รู้สึกตัว กระทั่งว่ามันมีความคิดนึกขึ้นมาได้บ้าง เป็๋นรูปวัฒนธรรม มันก็ต้องมีหลักอันนี้ คือการไม่กระทบกระทั่งกัน ฉะนั้น เรื่องระบบตาบูอะไรต่างๆ ของคนป่าสมัยหิน สมัยก่อนโน้นมันก็มีเจตนาที่จะอยู่กันอย่างสงบ ไม่ใช่เพียงว่าจะรอดตายอย่างเดียว รอดแล้วต้องการอยู่อย่างดีที่สุดที่ควรจะอยู่ได้ ฉะนั้น โดยเนื้อแท้มันจึงเป็นสังคมนิยม เป็นประชาธิไตยของพระเจ้า อย่างไม่รู้สึกตัว

เจตนารมณ์ของสังคมนิยมในพระพุทธศาสนา

             " ทีนี้ให้ดูสูงขึ้นมาอย่างที่พูดว่า เจตนารมณ์ของสังคมนิยมมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะพูดอย่างไม่เอาเปรียบกันก็จะต้องพูดให้กว้างออกไปถึงกับว่า ในศาสนาก็คือทุกศาสนาเลย เพราะว่าก่อนพุทธศาสนา โลกก็ต้องมีศาสนาอยู่แล้ว จึงพูดว่าในพุทธศาสนาและในทุกศาสนา ก็มีรากฐานที่ตั้งขึ้นบนอุดมคติอันนี้ เพื่อเมตตากรุณาต่อสิ่งทั้งปวง แล้วสูงขึ้นมาถึงกับยอมรับรู้ในความเสมอกัน หรือว่าในเสรีภาพของกันทุกอย่างที่ว่ามันจะประสานกันไว้ได้ หรือมันสัมพันธ์กันไว้ได้ จนกระทั่งว่าเกิดคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา "

๑. โครงสร้างสังคมนิยมในระบบ " สังฆะ "

            " พระพุทธองค์ทรงบัญญัติระบบวินัย จะทำให้เราเห็นได้ทีเดียวว่า เป็นระบบที่ผูกพันกันไว้ เป็นพวกเป็นหมู่ไม่แยกออกจากกันไป รู้ได้ตรงคำว่า " สงฆ์ " นั่นเอง คำว่า สังฆะ พระสงฆ์ ตัวหนังสือ แปลว่า หมู่ หรอ พวก มัน ไม่ได้แปลว่า เดี่ยว คนเดียว เมื่ออยู่เป็นหมู่เป็นพวก มันก็ต้องมีอะไรที่จะเป็น เครื่องยึดเหนี่ยว หรือมีหลักธรรมสัจจะอันใดอันหนึ่ง ที่จะทำให้คณะสงฆ์ตั้งอยู่ได้เป็นหน่วยเดียว จากส่วนประกอบของหน่วยหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหน่วย ดึงเข้าเป็นสังคมที่ถูกต้อง ที่อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

             ถ้าจะดูให้ดีก็จะยิ่งเห็นมากขึ้นไปอีกว่า นี่เป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด และยังจะป้องกันเหตุการณ์เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า "

๒. การไม่เอาส่วนเกินในปัจจัยสี่ที่บัญญัติไว้ในวินัยภิกษุ

             " อย่างระเบียบวินัยในพระพุทธศาสนานี้ ก็ให้สันโดษ พอดี รู้จักพอดีในการเป็นอยู่ ยิ่งเป็นพระสงฆ์คือภิกษุละก็ได้รับวางกฏเกณฑ์ไว้เป็นพิเศษ ไม่ให้กอบโกยส่วนเกิน ใช้คำอย่างนี้คำเดียวพอ

             พระสงฆ์นี่จะเอาอะไรเกินไม่ได้ ถ้าเกินกว่าที่จำเป็นแล้วจะผิดวินัยทั้งนั้น นี่เป็นหลักทั่วไปที่ควรจะทราบไว้เป็นชั้นหนึ่งก่อนว่า ถ้าพระสงฆ์ไปเอาอะไรที่เป็นของเกินจำเป็นแล้ว จะผิดวินัยทั้งนั้น แล้วบางอย่างจะผิดธรรมะด้วย แล้วบางอย่างจะผิดวินัยอันร้ายแรงด้วย ดูตัวอย่างเช่นว่า เราจะต้องมีจีวร ๓ ผืน มีมากกว่านั้นก็ต้องเกิดเป็นปัญหายุ่งยากลำบาก ถึงกับต้องเป็นอาบัติ กุฏิที่จะมีได้เอง ทีนี้จะต้องมีเรื่องสันโดษอีกมาก สิ่งที่ไม่ควรมีมีไม่ได้ มันไม่เพียงแต่ผิดวินัย มันทำลาย ความก้าวหน้าทางธรรม

            ถ้าพระสงฆ์หรือภิกษุสงฆ์ ที่ต้องการก้าวหน้าตามทางธรรมแล้ว ไปมีอะไรที่เกินจำเป็๋น เป็นส่วนเกินแล้วมันก้าวหน้าไปไม่ได้ มันจะกลายเป็นผู้ที่รุงรังไปด้วยทรัพย์สมบัติต่างๆ นี่การที่ไม่เอาส่วนเกินนี้มันมีผลดีอย่างนี้ "

๓. อดุมคติ " ไม่เอาส่วนเกิน " คือ รากฐานของสังคมนิยม

             จะมองไปอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าแต่ละคนไม่เอาส่วนเกินแล้วมันก็จะเหลืออยู่มาก ส่วนเกินนั้นมันก็ ตกทอดไปเป็นของคนอื่น คนอื่นก็ไม่ขาดแคลน ถ้ากอบโกยส่วนเกินกันไว้มาก มันก็ต้องขาดแคลน พวกคนที่ยากจนก็ต้องมีมากโดยเร็ว ทีนี้ถ้าว่าไม่เอาส่วนเกิน ก็ไม่เกิดคนยากจน คนที่เอาส่วนเกินนั้น มันเอามากๆ เข้าด้วยความละโมบด้วยแผนการสกปรก ลึกลับ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เท่าไรก็ทำให้เกิด การขาดแคลนกันใหญ่หลวง พวกอื่นก็เป็นคนยากจน ฉะนั้น อุดมคติอันนี้ที่ว่า ไม่เอาส่วนเกินของภิกษุสงฆ์ คือรากฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยม

๔. มนุษย์ต้องอยู่กันเป็นสังคม ช่วยเหลือกันและกัน เสียสละเพื่อผู้อื่น

             นอกจากนั้นก็ยังมีระเบียบวินัยต่างๆ ที่วางไว้ชัดเจนว่าต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุดมคติ ของโพธิสัตว์นั้นมีมาก่อนพุทธศาสนาก็ว่าได้ ก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น แม้ชีวิตของตัวก็สละได้ นี่ก็เพราะว่าเห็นแก่สังคม ในพุทธศาสนาก็ยอมรับอุดมคติอันนี้ ยอมรับเนื่องเข้าไว้ในพระพุทธศาสนา นั่นก็เพราะมีเจตนาของสังคมนิยมมากในทุกด้าน ในทุกแง่ทุกมุม เท่ากับธรรมสัจจะของธรรมชาติ คือไม่มีอะไรที่จะอยู่แต่ลำพังส่วนเดียวตัวโดดเดี่ยว คนเดียวได้ แม้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งถ้ามันอยู่ เดี่ยวๆ มันกจะหักโค่นล้มได้โดยง่าย  แม้สัตว์มันก็ต้องอยู่เป็นฝูงเป็นพวก มนุษย์ก็เหมือนกัน

             คำว่าอยู่กันเป็นสังคมนี้ เป็นความต้องการของธรรมชาติ ถ้าจะมองไปถึงขนาดที่เรียกว่า ต้องการสืบพันธุ์จึงจะมีลูกหลานเหลืออยู่นี่มันก็เป็นเรื่องสังคมด้วยเหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไร ที่จะเหลืออยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นหมู่สัตว์ในโลกนี้ขึ้นมา จงนึกถึงการประพฤติกระทำให้ถูกต้อง ในการสืบพันธุ์มีลูกมีหลาน มีอะไรถูกต้องอย่าให้มันเป็นอันตรายผิดพลาด ในโลกนี้จึงมีสัตว์ที่มีชีวิต ทวีขึ้นๆ ในลักษณะที่น่าประหลาด

๕. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นไปอย่างเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบทางชนชั้น

             " ทีนี้มาดูสาวก สาวิกา อุบาสก อุบาสิกา เขาจะมุ่งกันแต่กินอยู่พอดีเท่านั้นแหละ เมื่อเหลือ มันก็หล่นไปเป็นของสังคม เศรษฐี นั้นหมายถึงผู้ที่มีโรงทาน ถ้าไม่มีโรงทานก็ไม่ใช่เศรษฐี ถ้าเป็นมหาเศรษฐีก็ยิ่งมีโรงทานมากนายทุนสมัยนี้มีโรงทานอย่างนี้หรือเปล่า ? ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ความหมาย เดียวกันกับเศรษฐีพุทธบริษัทในครั้งพุทธกาล อันเป็นสังคมนิยมร้อยเปอร์เซ็นต์

             พวกนายทุน เช่น พวกเศรษฐีพุทธบริษัทครั้งพุทธกาลนั้น ชนกรรมาชีพไม่ควรแตะต้อง ควรจะบูชามากกว่า แต่ถ้าความหมายของนายทุนมีว่า กอบโกยรวบรวมอิทธิพลอำนาจเงินอำนาจอะไร ต่างๆ ไว้สำหรับร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปมันก็เดินคละทางแล้ว นายทุนผู้เลี้ยงโลกกับนายทุนผู้กอบโกย

             ดูต่อไป แม้แต่คำว่า ทาส บ่าว ขี้ข้า สมัยโน้น ถ้าเป็นแบบพุทธบริษัทก็เป็นสังคมนิยม ทาสชนิด นั้นไม่อยากไปจากเศรษฐี แต่ถ้าเป็นทาสสมัยนี้ เขาเกลียดนายทุนอยากไปจากนายทุน ถ้าเป็นเศรษฐี มีทาสสมัยพุทธกาล เศรษฐีพุทธบริษัทนั้นเขาเลี้ยงทาสอย่างเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ช่วยกันผลิต วันพระก็ไปรักษาศีลด้วยกัน ถ้าเป็นวันผลิตก็ผลิต ผลผลิตได้มามีไว้สำหรับโรงทาน เศรษฐีจะสะสมทรัพย์ ฝังไว้ ซ่อนไว้ เป็นทองเป็นอะไรตามแต่ นั่นเพื่อเป็นทุนสำรองของโรงทานหรือเพื่อลูกเพื่อหลาน ข้างหน้าจะได้ใช้ทรัพย์นั้นเพื่อหล่อเลี้ยงโรงทาน..."

พิจารณาคำว่า " ส่วนเกิน "

             " ปัญหาที่ว่าเท่าไรพอดีอย่างนี้ก็ไม่มีอะไรบัญญัติไว้ มันก็ต้องแล้วแต่ว่าเหตุผลหรือว่ายุค หรือว่าสมัย ที่ว่าเราจะมีอะไรเท่าไรจึงจะเรียกว่าพอดี เดี๋ยวนี้เราไม่มีกฏเกณฑ์อันนี้เท่าไรๆ ก็ไม่พอ จนถึงกับมีพุทธภาษิตว่า " ให้ภูเขากลายเป็นทองคำขึ้นมาทั้งลูกสักสองลูก ก็ไม่พอแก่ความต้องการของคนๆ เดียว " ภูเขาทองคำแท้ๆ ตั้งสองลูกก็ไม่พอแก่ความต้องการของคนๆ เดียว นี่ไปวัดคำนวน ดูเองว่ามันจะสักเท่าไร เดี๋ยวนี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่าจิตใจมันขยายไปในทางต้องการส่วนเกินนั้นคือ การริบเอาประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตน

              ...เดี๋ยวนี้เราต้องการที่จะให้เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ไม่กอบโกยส่วนเกิน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น มันก็คือความเมตตากรุณา ทุกคนแบ่งไว้เจียดไว้สำหรับที่จะเลี้ยงอัตภาพ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน ก็ให้แก่สังคม

              แล้วยิ่งกว่านั้น คำว่า ส่วนเกิน นี้ยืดหยุ่นได้มาก เป็นคำที่มีความหมายยืดหยุ่นได้มาก ที่เขาว่าไม่เป็นส่วนเกินนั้นก็ยังเป็นส่วนเกินได้ เช่น เราจะเจียดประโยชน์ของเราที่กินที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ออกไปสัก ๕% นี้ก็ยังอยู่ได้และไม่ตาย เพราะฉะนั้นเราต้องหัดให้มนุษย์ในโลกรู้จักเจียดออกให้เป็นส่วนเกิน จากสิ่งที่เขาไม่เห็นว่าเป็นส่วนเกิน นั่นแหละคือศีลธรรมของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษย์ได้...

             สังคมนิยมควรจะมีหลักสั้นๆ ตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติว่า ทุกคนอย่ากอบโกยส่วนเกิน พยายามเจียดส่วนเกินออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้ แต่ไม่ได้ห้ามว่าอย่าผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิ และสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมา แต่ว่าส่วนเกินนั้นควรจะเพื่อประโยชน์แก่สังคม และ ก็ระวังให้ดีๆ ว่า ที่ว่าไม่เกินๆ นั้นแหละก็ยังเกินยังเจียดได้ "

ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา

             " ทีนี้ดูคำว่า ทศพิศราชธรรม... นี่คือสังคมนิยมที่มีประโยชน์ที่สุด พระเจ้าแผ่นดินประกอบด้วยทศพิศราชธรรม ถ้าท่านทั้งหลายเคยเป็นนักเรียนมาอย่างถูกต้อง ในหลักสูตรชั้นมัธยมปลายหรือว่า ชั้นมหาวิทยาลัย ในแบบเรียนจะมีเรื่องทศพิศราชธรรมให้เรียนบ้างกระมัง คงจะไม่ใคร่สนใจว่า ทศพิราชธรรมคือ อะไร เรื่องนี้มีบัญญัติไว้ชัดเป็นตัวอักษรอยู่ในพระคัมภีร์โดยเฉพาะทางพุทธศาสนา นี้เรียกว่า ธรรม ๑๐ ประการสำหรับความเป็นราชา

             ๑. ทานํ คือ ให้ทาน มีแต่การที่จะให้ ไม่รับ
           
             ๒. สีลํ นี้คือ ความหมายของศีลธรรม จะเป็นศีลธรรมมีความเป็นปรกติ ไม่ถูกกิเลสบีบบังคับนี่คือมีศีล

             ๓. ปริจฺจาคํ มาบริจาคอีกที คือ บริจาคเรื่องภายในที่เลวออกไปเสีย เช่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

             ๔. อาชฺชวํ คือ ความตรง ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

             ๕. มทฺทวํ ความอ่อนโยน นิ่มนวล แม้แก่ราษฎร

             ๖. ตปํ คือ ตบะ นี้ตรงกับคำว่า บังคับตัวเองอยู่ Self - control นั่นแหละ ตรงกับคำว่า ตบะ พระราชาจะต้องมี ตบะ บังคับตัวเองอย่างยิ่งเสมอ

             ๗. อโกธํ นี้โกรธไม่ได้ โกรธไม่เป็น

             ๘. อวิหึสํ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ได้ แม้โดยเจตนา เช่น เผลอ เป็นต้น

             ๙. ขนฺติ คือ ขันติ อดทน อดกลั้น ยอมรับไว้เป็นภาระส่วนตัวที่อดกลั้น

             ๑๐. อวิโรธนํ คำสุดท้าย คือ ไม่มีอะไรพิรุธ ไม่มีความพิรุธอุตริในแง่ใดก็ตาม

             ทศพิธราชธรรมคืออย่างนี้ พระราชาองค์ไหนที่ประกอบด้วทศพิธราชธรรมอย่างนี้จะมีปัญหาอะไรอีก ที่จะไม่เรียกว่ามีวิญญาณแห่งสังคมนิยมเหลือประมาณ แล้วทำไมจะต้องเลิกระบบ พระราชาระบบนี้ ถ้าพระราชาระบบนี้เผด็จการ ก็จะเป็นอย่างที่พระเจ้าอโศกเผด็จการ เผด็จการไม่ให้ทำผิดทำชั่ว เผด็จการให้ทำดีก็ไปได้เร็วเท่านั้นเอง...

             พระราชาที่ดีนั้นไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างที่เอาไปตำหนิกันอยู่ แล้วพอไปเข้าใจคำนี้ผิด ก็เลยถือว่าระบบพระราชาผิดทั้งนั้น นี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจถูกจะมองเห็นว่า พระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมอย่างพระเจ้าสมมติราชองค์แรกของโลกก็ตาม กระทั่ง พระเจ้าอโศกมหาราช กระทั่งพ่อเมืองยุคสุโขทัย แม้กระทั่งยุคกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมจะต้องมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น

             ระบบพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมบริสุทธิ์นี้ ไม่ใช่ระบบที่ต้องเลิกและ ไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่เขาเกลียดชัง ระบบนี้บางทีจะแก้ปัญหาของโลกได้ดีกว่าระบบใด "





By พุทธทาสศึกษา

No comments:

Post a Comment