Thursday, January 03, 2013

เป้าหมายในการฝึกสมาธิสำหรับคนทั่วไป

เป้าหมายในการฝึกสมาธิสำหรับคนทั่วไป

          มีความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาตามแนวทางพุทธศาสนาในหมู่คนที่มิใช่ชาวพุทธหรือแม้แต่ในชาวพุทธบางกลุ่ม ที่มีความเห็นว่า การฝึกสมาธิเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นการหนีโลกหนีความจริงในการดำเนินชีวิตประจำวัน

           การที่มีความเห็นเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากมีความเข้าใจในเป้าหมายของการปฏิบัติสมาธิภาวนาตามหลักทางพุทธศาสนายังไม่ถูกต้อง โดยนำไปปะปนกับการปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบนั่งหลับตาสวดมนต์ท่องบ่นคาถาอ้อนวอนเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทำสมาธิภาวนาในทางพุทธศาสนาที่มุ่งเพื่อปรับปรุงสุขภาพจิตให้เกิดความสงบ มีดุลยภาพต่อการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน

           อีกประการหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจคือการปฏิบัติที่มุ่งฝึกสมาธิในระดับสูงขึ้นโดยการปลีกวิเวกแสวงหาที่สงบเงียบในบรรยากาศที่สงัด แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมีการหลงยึดติดอยู่แค่นั้น ก็๋ยังนับว่าเป็นอุปสรรคต่อความเห็นแจ้งในสัจธรรมตามหลักการทำสมาธิในทางพุทธศาสนา



            ตามความหมายที่แท้จริงนั้น สมาธิ หมายถึง การภาวนาหรือการพัฒนาระดับของจิตใจ เพราะว่าจิตเป็นตัวกำหนด เป็นตัวควบคุมและเป็นตัวปรุงแต่ง ที่มีความสำคัญต่อการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ก็ตาม ดังนั้นจิตที่ได้รับการฝึกสมาธิภาวนาจึงเป็นจิตที่ได้รับประโยชน์สูงสุดเพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งและเห็นจริงในนิพพาน แม้ว่านิพพานนั้นอาจจะยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาซึ่งคนส่วนใหญ่มุ่งหวังเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์สุขในระดับโลกิยะ ซึ่งผู้ทำสมาธิสามารถได้รับจากการปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้

             1. การทำสมาธิ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองต่อการรับรู้ในสิ่งที่จะนำมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต

             2. การทำสมาธิ เป็นการเสริมสร้างกำลังใจ สร้างความมุ่งมั่นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปฏิบัติ

             3. การทำสมาธิช่วยทำให้จิตเกิดความสงบ ปราศจากความเร่าร้อน กระสับกระส่าย ความกลัวและความกังวลหวั่นวิตก

             4. เมื่อสุขภาพจิตดีอันเกิดจากการทำสมาธิสุขภาพกายย่อมจะดีไปด้วย เพราะจิตของผู้ที่ไร้ความกังวล ปราศจากความว้าวุ่นมีแต่ความสงบ ระงับ ย่อมก่อให้เกิดความสุขทางกายได้ในระดับหนึ่ง

             5. การทำสมาธิเป็นการพัฒนาจิตใจให้มีความมุ่งมั่น เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติงาน เป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพ เพิ่มความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในชีวิตประจำวัน

             6. การทำสมาธิเป็นการสร้างคุณค่าทางด้านคุณธรรม สร้างความรัก ความเมตตา ไมตรีจิต สร้างความเชื่อมั่น สร้างปัญญา สร้างพลัง ความอดทน และการตัดสินใจ

             7. การทำสมาธิเป็นการฝึกจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ลดละกิเลสต่างๆ เช่น ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความอฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ความหลงผิดต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการรู้แจ้งในสัจธรรม

             ในทางพุทธศาสนา มีเป้าหมายในการทำสมาธิอยู่ 2 ประการคือเพื่อ ทิฏฐิธรรมสุขวิหาร กล่าวคือ เพื่อการแสวงหาความสงบสุขระหว่างที่อยู่ในระยะการปฏิบัติสมาธิ เช่นเมื่อบรรลุฌาน 4 ในชั้นรูปฌาน จะเสพอารมณ์ ปีติ สุข สงบ ไปจนถึงความสุขอันประณีตในชั้นอรูปฌาน อันได้แก่ ความสว่างอันสงบ หรือความสุขในการสำเร็จอภิญญาจากการปฏิบัติ กับอีกเป้าหมายหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด คือ เพื่อใช้เป็นฐานนำไปสู่การปฏิวัติวิปัสสนาภาวนาด้วยการนำ สติ สัมปชัญญะ และ ปัญญา มาเพ่งพินิจพิจารณาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment