Sunday, January 06, 2013

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นไหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนจบ )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นไหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนจบ )

           มรว. คึกฤทธิ์ เพิ่มเติมความในใจอีกครั้งหนึ่งเมื่อกล่าวถึงพลายงามยามเข้าเฝ้าหมายจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กว่า 


ครานั้นสมเด็จพระพันวสา
เหลียวเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกพระโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน
แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย

ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก
นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล
ลืมประภาษชราชกิจที่คิดไว้
กลับเข้ามาในแท่นที่ศรีไสยา

             " ดูกลอนเสภาตอนนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ต้องสงสัยอีกว่าพระพันวสาในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นได้แบบมาจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ไหน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก เหตุที่ทรงบทละครนั้นก็เพราะว่าสุนทรภู่พูดเปรยขึ้นว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ ที่ไหนจะทรงทราบถึงภาษาและสำนวนของชาวบ้าน ตลอดจนชีวิตความเป็นไปของชาวบ้านดีพอที่จะทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอันเป็นละครที่ชาวบ้านเขาดูกันได้ เมื่อความนี้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกขึ้นหลายเรื่องเป็นการสอนให้สุนทรภู่รู้ว่า ใครเป็นใคร

            แต่ดูบทเสภาตอนนี้แล้วก็นึกไม่ออกว่าใครอีกจะเป็นคนแต่งเสภานี้ เพราะมีถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งนั้นคุ้นเคยในฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงกับเขียนลงไปได้ว่า " ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอกนึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล " แสดงว่าสุนทรภู่นั้นถึงจะต้องยอมรับว่าทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกได้ แต่ก็ยังมีความเห็นว่าทรงแต่งไม่ได้สะดวกนัก มีการติดขัดเพราะทรงนึกกลอนไม่ออก ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่จะต้องเป็นคนที่โปรดปรานมากในสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงแต่งกลอนล้อเลียนที่ค่อนข้างจะทะลึ่งนี้ได้ และนิสัยอย่างนี้ของสุนทรภู่นั้นเองได้ทำให้สุนทรภู่ต้องตกอับในรัชกาลที่ ๓ เพราะรัชกาลนี้เป็นรัชกาลที่เอาการเอางาน พูดจริงพูดจังมากกว่าอย่างอื่น " คำที่ยกขึ้นมานั้นมีประเด็นสำคัญควรกล่าวเป็นเรื่องเป็นราวไว้บ้างคือ เคยมีผู้กล่าวชื่อสุนทรภู่กลายๆ คล้ายเจ้านายพูดถึงคนธรรมดามาแล้วก็คือ นมส. การที่ มรว.คึกฤทธิ์ติเตียนสิ่งที่สุนทรภู่เขียนว่าทะลึ่งจนถึงมาตกอับดับรัศมีในรัชกาลที่ ๓ เพราะความที่พระองค์ทรงเอาการเอางานมากกว่า น่าจะไม่จริง


            เพราะสิ่งที่สุนทรภู่ต้องระเห็จเตร็ดเตร่หักเหชีวิตนั้นเพราะดันไปหักพระพักต์ ร. ๓ ไว้หลายครั้ง แถมยังคาดว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ ( ร. ๔ ) เป็นองค์รัชทายาทที่ควรจะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ครั้นปรากฏว่าคือพระนั่งเกล้าฯ สุนทรภู่รู้เค้ารางดีจึงชิงหนีบวชเองคล้ายเกรงพระราชภัยทั้งที่ ร.๓ มิได้ยุ่งเกี่ยวเลย

             ผมเคยพูดถึงกรณีนี้ไว้หลายหนจนไม่อยากจะกล่าวซ้ำซาก แต่ทว่าการด่าว่าสุนทรภู่ไม่รู้จักกาลเทศะหรือทะลึ่งนั้น ต้องถกกันให้กว้างถ้าทำใจเป็นกลาง คนอย่างสุนทรภู่รู้อะไรดีพอควร แต่ที่รู้ไม่ถ้วนทั่วคือ การหลงตัวตนว่ามีผลงานเลื่องลือ การที่มิเชื่อถือในฝีพระหัตถ์เรื่องบทละครนอกออกจะเห็นได้แจ่มแจ้งว่าทรงแต่งไม่ถึงเท่าไหร่ในสำนวนด่าโฉ่ฉาวแบบชาวบ้านจริงๆ 

             สิ่งที่เราอ่านผ่านตาอย่างน้อยก็ห้าหกครั้งว่าสุทรภู่ตั้งใจจะตามไปรับใช้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าในชาติหน้าตลอด ( แถมถูกค่อนขอดว่าดัดจริตอีกต่างหาก )

              ฝากตัวอักษรเป็นความว่าจะตามไปเป็นขี้ข้าเขาให้ชาวบ้านรู้รับรู้เห็น ย่อมไม่เป็นคนดัดจริตหรือคิดทะลึ่งถึงกับดึงฟ้าลงมาล้อเล่นเป็นแน่

              มิใช่แก้ต่างแทน

             ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านไหม่ให้ความเห็นซึ่งมีประเด็นน่าขบคิดด้วย มรว.คึกฤทธิ์ ย้ำตอกบอกว่า " เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นเริ่มขึ้นในคุกแน่นอนและในหลายตอนก็ประพันธ์ขึ้นด้วยคนที่เคยเห็นคุกอย่างใกล้ชิด หรือเคยติดคุกมาแล้วจึงสามารถอธิบายภาพของคนคุกในสมัยนั้นไว้ได้อย่างละเอียดละออ ใครได้ยินเสภาหรือได้อ่านเสภาแล้วก็พลอยขนพองสยองเกล้าด้วย ดัง


วันทองแข็งใจเข้าในคุก
และเห็นคนทุกข์สยดสยอง
น่าเกลียดน่ากลัวหนังหัวพอง
ผอมกร่องร่างกายคล้ายสัตว์นรก

เขาใส่อาหารไม่พานไส้
เห็นวันทองขึ้นไปไหว้ประหลก
เอากล้วยทิ้งชิงกันตัวสั่นงก
ใครมีแรงแย่งฉกเอาไปกิน

สุดแต่มีของให้แล้วไม่เลือก
จนชั้นเปลือกก็ไม่ปอกขยอกสิ้น
เป็นหิดฝีพุพองหนองไหลริน
เหม็นกลิ่นราวศพตลบไป

ต้วเล็นเป็นขนไต่บนกบาล
นางก้าวหลีกลนลานไม่ดูได้
อุตส่าห์ทนจนถึงก้นคุกใน
ขุนช้างเห็นเมียไปร้องไห้แง

              นี่คือสภาพย่ำแย่ของคุกตะรางซึ่ง มรว.คึกฤทธิ์ยกตัวอย่างไว้ถึงแต่ตรงนี้ เสียดายที่มิยกต่ออีกหน่อยจะได้พลอยเห็นความเป็นคุก ( ที่มีทุกยุคทุกสมัย ) ดังนี้


วันทองเห็นผัวทอดตัวให้
ขุนช้างใส่งองอกระป้อกระแป้
น้ำตาน้ำมูกตละลูกกะแอ
แม่เอ๋ยแม่ทิ้งเสียได้ไม่พุทโธ

              เมื่อวันทองโผล่มาเยี่ยมนางได้เตรียมของกำนัลผ่านด่านผ่านคนคุกจนถึงก้นสุดยังมิหยุดเท่านี้ นางยังพลีร่างให้ขุนช้างเสพพลางบ่นพลางจนเสร็จสม น่าชมเชยบรรดากวีที่สร้างนางวันทองให้เติบใหญ่ไปตามกาลเวลาได้ดีกว่าทุกตัวละคร คือตอนเป็นสาวเป็นนางพิมเจ้าติดเอียงอายทำอะไรก็วิ่งไปปรึกษาสายทอง ครั้นวันทองมี ๒ สามี มีลูกชายความเอียงอายค่อยเลือนหายไปทีละส่วน ทั้งยังรู้ขบวนการผ่านกฎผ่านเล่ห์กลจนแทบไม่เหลือเค้าครั้งยังเป็นสาวแส้

              ขอให้เรามาดูอยุธยาช่วงต้นก่อนตอนแรกตั้งวังหลวงนั้น ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ควบคุมการปกครองมาตั้งแต่พระเจ้าอู่ทอง - ขุนหลวงพะงั่วเป็นเสาหลัก หลังจากนั้นก็ลดบทความแกร่งเพราะการแก่งแย่งอำนาจ คาดว่าเสภาขุนช้างขุนแผนจะเริ่มขึ้นในแผ่นดินขุนหลวงพะงั่ว ( พ.ศ. ๑๙๑๓ - ๑๙๓๑ ) ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีชาติกำเนิดเป็นชาวสุพรรณเที่ยงแท้ และในราชนุกิจในกฎมณเฑียรบาลกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิบัติไว้ในช่วงหนึ่งดังนี้ คือ 

               ๖ ทุ่ม                      เบิกเสภาดนตรี

               ๗ ทุ่ม                      เบิกนิยาย

               การเบิกเสภาดนตรีนี้ น่าจะทรงฟังดนตรีขับกล่อมพร้อมมีเรื่องสำหรับขับร้อง นิทานพื้นบ้านของชาวสุพรรณถือเป็นบรรยากาศดีเยี่ยมเพื่อจะเตรียมองค์ทรงสะดับรับฟังเรื่องเล่า ( เบิกนิยายต่อไป ) การรับเสภาคงไม่สม่ำเสมอนัก ( คล้ายพิธีศักดิ์สิทธิ์คือการถือนำพระพัทธ์ ซึ่งเคร่งครัดบ้างไม่เคร่งครัดบ้าง ) จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเพทราชา ( พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๗ ) ที่มีชาติกำเนิดเป็นชาวสุพรรณแท้จริง เสภาฯ ขุนช้างขุนแผนจึงหวนกลับมาอีกคราหนึ่งถึงปลายกรุงศรีอยุธยา

               เสภาฯ มาจากราชวงศ์สุพรรณภูมินั่นแล แต่จะยักย้ายถ่ายเทการขับเสภาฯ จำเพาะเจาะแต่ว่าขุนช้างขุนแผนนั้น

              วันหลังโอกาสหน้าจะสืบคว้ามาอีกหน

              ผมด้นเรื่องขุนช้างขุนแผนมาด้วยวัตถุประสงค์ตรงที่วรรณคดีเรื่องนี้มีข้อบกพร่อง ๒ - ๓ ด้านควรแก่การเข้าใจ เพราะมิอยากให้มิใฝ่คิดเลย เมื่อเราเคยแต่จับอ่านมิเคยจับงานมาพินิจลึกๆ เท่ากับไม่ตกผลึกอันใดนั่นเอง

              คงบรรเลงไว้ให้ขบคิดแต่เพียงเท่านี้

              วรรณคดีจะดีงามมิใช่แค่คำแค่ความอย่างเดียว ทว่าต้องแลเหลียวให้ลึกรอบด้วย ช่วยกันใฝ่คิดใฝ่ค้นคนละเล็กละน้อยบนรอยร่อง

              นั่นแหละเป็นครรลองของวรรณคดีของชาติ





By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )

No comments:

Post a Comment