Friday, January 11, 2013

สมาธิที่นำมาใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา

สมาธิที่นำมาใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนา

           ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สมาธิภาวนาเป็นเพียงกรปฏิบัติสมถะแม้จะบรรลุฌาน ก็เป็นเพียงความสำเร็จธรรมในระดับโลกียะเท่านั้น ส่วนการเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมชั้นสูงในระดับโลกุตตระที่ต้องใช้สมาธิ ซึ่งปรากฏชัดว่ามีระดับความลึกที่แตกต่างกันตามการฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา ในการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา นิยมใช้สมาธิ ๓ ในการเพ่งพิจารณาไตรลักษณ์ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สมาธิ ๓ ดังกล่าวประกอบด้วย

            ๑. สุญญตาสมาธิ เป็นสมาธิที่เพ่งไปยังความว่าง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในการพิจารณาอนัตตลักษณะของธรรมทั้งหลายว่าโดยแท้จริงแล้วไม่มีตัวตน ไร้แก่นสาร เป็นอนัตตา เป็นสมาธิอันดับแรกที่ใช้เพ่งพิจารณาความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่งทั้งหลายเพื่อให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ

             ๒.  อนิมิตตสมาธิ อนิมิต แปลว่าปราศจากนิมิต เป็นสมาธิตัวที่ ๒ ที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาที่นำมาพิจารณาอนิจจาลักษณะได้แก่ ความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงของสังขตธรรมทั้งหลาย เพื่อทำให้จิตมองผ่านลงไปวิเคราะห์ถึงสัจธรรมในข้อต่อไป



             ๓. อัปปณิหิตสมาธิ เป็นสมาธิที่นำมาใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาโดยนำเอาทุกขลักษณะมาเป็นตัวเพ่งพิจารณาให้มองเห็นในสัจธรรมข้อที่สามว่า สังขตธรรมทั้งหลายล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ไม่ได้เป็นทุกข์ และไม่เป็นที่น่าพอใจในการยึดมั่นถือมั่น คำว่า อัปปณิหิตตามความหมายแปลว่า ปราศจากความอยาก เป็นสมาธิที่จะต้องนำสัมมาสติว่าด้วย สติปัฏฐาน ๔ มาเป็นข้อพิจารณา เพื่อลดละความอยาก ปล่อยวางในความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งเหล่านั้น เพื่อจิตจได้เข้าสู่ความรู้ซึ้งแห่งนิพพาน

             เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้ เราจะเห็นว่า ความเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ตามกฏไตรลักษณ์นั้น แม้จะมีหัวข้อทั้งสามที่แตกต่างกันก็จริงแต่ก็นับเป็นสัจธรรมข้อเดียวกัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอว่า " สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา " ดังนั้นสมาธิวิปัสสนาทั้งสามแบบนี้ จึงเป็นทางเลือกในการปฏิบัติสำหรับแต่ละคนที่มี " จริต " แตกต่างกันเช่นผู้ที่มีนิสัยยึดติดอยู่ในกามคุณอาจเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตน เช่นนำเอาอัปปณิหิตสมาธิ เพ่งความเป็นทุกข์ ความเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจในสรรพสิ่งทั้งหลาย มาเป็นเพครื่องพิจารณาเพื่อความสำเร็จในการบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป เป็นต้น







By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment