Tuesday, September 09, 2014
ข้อเด่นของอาจารย์
ข้อเด่นของอาจารย์
ฝอคู คนฉางอาน สมัยราชวงศ์ซ่ง เก็บตัวบำเพ็ญธรรมในอารามฝอคูอาน ริมผาชุ่ยผินเหยียน บนเทือกเขาเทียนไถซาน ในเขตเจ๋อเจียงตั้งแต่ยังเยาว์วัย กุฏิของท่านเป็นกระต๊อบเล็กๆ หลังคามุงด้วยหญ้าแห้ง ส่วนอาหารการกินก็พึ่งการเก็บผลไม้ป่าประทังหิว
มาวันหนึ่ง ชายตัดฟืนเดินผ่านกุฏิของท่าน จึงถามท่านด้วยความประหลาดใจว่า " ขอถามหน่อยเถิด ท่านอาศัยอยู่ที่นี่นานเท่าใดแล้ว ? "
ฌานาจารย์ตอบว่า " ประมาณ ๔๐ ปี "
ชายตัดฟืนถามต่อด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า " ๔๐ ปีมานี้ มีท่านเพียงผู้เดียวบำเพ็ญธรรมอยู่ที่นี่หรือ ? " ฌานาจารย์ตอบว่า " เขาสูงป่าลึก คนเดียวก็มากพอแล้ว จะให้อยู่กี่คนเล่า ? "
ชายตัดฟืนถามต่อไปว่า " ไม่มีสหายแม้แต่คนเดียวหรือ ? " ฌานาจารย์ไม่ตอบ ท่านปรบมือหนักๆ ก็มีเสือหลายตัววิ่งออกมาทางหลังอาราม ฌานาจารย์ส่งสัญญาณให้เสือเหล่านั้นถอยกลับไป เพื่อมิให้ชายตัดฟืนตกใจกลัว แล้วพูดว่า " มีสหายไม่น้อย ในป่าดงบนภูดอยนี้ ต้นไม้ใบหญ้า งูเงี้ยวเขี้ยวขอ เสือสางบ่างค่าง ล้วนคือสหายธรรม "
ชายตัดฟืนรู้สึกทึ่งมาก จึงสมัครใจขอบวชเป็นศิษย์โดยที่ท่านมิได้ชักชวน ฌานาจารย์ก็แนะนำแก่นสำคัญของพุทธธรรมในทำนองว่า " เจ้าแม้คือชายสามัญ แต่มิใช่ชายสามัญ แม้มิใช่ชายสามัญ แต่ไม่ทำลายวิถีแห่งชายสามัญ "
" แม้มิใช่ชายสามัญ แต่ไม่ทำลายวิถีแห่งสามัญ " ชาวฌานบรรลุธรรม มิใช่ด้วยวิธีทำลายแล้วสร้างอะไรขึ้นมา ต้องอยู่เหนือหมื่นวิถี โดยไม่ทำลายหมื่นวิถี นี่คือข้อเด่นของชาวฌาน
ผู้เป็นอาจารย์ ควรพินิจพิจารณานิทานเรื่องนี้อย่างละเอียด วิธีให้การศึกษาแบบเก่าไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะสะดวกในแง่ของการจัดการ แต่ทุกคนมีพรสวรรค์ที่ต่างกัน ถ้าผู้เป็นอาจารย์มีความอดทน สามารถสังเกตจนรู้ข้อเด่นของศิษย์แต่ละคน ก็เท่ากับค้นพบและช่วยบ่มเพาะสร้างบุคลากรใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่อยๆ โดยไม่หนักแรงตัวเองซึ่งเป็นผู้สร้าง และไม่ฝืนความรู้สึกลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้ถูกสร้าง นี่ก็คือข้อเด่นของผู้เป็นอาจารย์
By เซ็น : วิถีแห่งความสุขที่แท้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment