Friday, August 08, 2014

นักลัทธิหรูกับเสื้อผ้าสำนักหรู



นักลัทธิหรูกับเสื้อผ้าสำนักหรู

        ครั้งหนึ่งจวงจื่อซึ่งเป็นฝ่ายลัทธิเต๋าได้พบกับไอกงกษัตริย์ของรัฐหลู่ กษัตริย์ของรัฐหลู่ทรงเย้ยหยันเขาโดยตรัสว่า " ในรัฐหลู่นี้เต็มไปด้วยนักลัทธิหรู ( พวกนับถือปรัชญาสำนักขงจื้อ ) ยากจะหาคนที่ยินดีเป็นสาวกท่าน "

        " ข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกันข้าม " จวงจื่อกล่าว " ข้าพเจ้าเห้นว่าในรัฐหลู่นี้คนศรัทธาลัทธิหรูมีน้อยมาก "

        กษัตริย์ไอกงทรงพระสรวลตรัสว่า " ท่านไม่เห็นหรอกหรือว่าคนในรัฐหลู่นี้ต่างสวมเสื้อผ้าแบบหรูทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะพูดว่ามีน้อยได้อย่างไร "

        จวงจื่อทูลตอบว่า " ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ชาวลัทธิหรูนั้นเมื่อสวมหมวกกจะรู้ฤดูกาล พอสวมรองเท้าที่ทำด้วยปอและป่านก็จะรู้สภาพของดิน สายรัดเอวที่มีหยกห้อยอยู่นั้นทำให้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัย "

        " ถูกแล้ว ถูกแล้ว ! " กษัตริย์ไอกงทรงตรัสอย่างพอพระทัย

        จวงจื่อกล่าวต่อไปว่า " ในเมื่อพสกนิกรเข้าใจในเหตุผลข้อนี้แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ดังกล่าวนี้ ตรงกันข้ามบุคคลผู้สวมเสื้อผ้าแบบนี้ไม่แน่นักว่าจะเข้าใจเหตุผลดังกล่าว "

        กษัตริย์ไอกงทรงสั่นพระเศียรแสดงว่าไม่เห็นด้วย

       จวงจื่อจึงทูลว่า " ถ้าหากพระองค์ทรงสงสัย ข้าพเจ้าขอทูลให้พระองค์ทดลองดูโดยประกาศพระราชโองการไปทั่วทั้งรัฐว่า หากผู้ใดไม่สามารถรู้สภาพฤดูกาล สภาพของพื้นพิภพแล้วยังแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบสำนักหรูผู้นั้นจะต้องโทษประหารชีวิต "

       หลังจากกษัตริย์ไอกงแห่งรัฐหลูประกาศพระราชโองการได้เพียง ๕ วันเท่านั้น ทั่วทั้งรัฐหลู่ก็ไม่มีใครกล้าแต่งกายเช่นนั้นอีก

บันทึกใน " จวงจื่อ "



มุมมองปรัชญา

        นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ยามใดที่ความคิดชนิกหนึ่งหรือสำนักหนึ่งค่อนข้างเป็นที่แพร่หลายนั้น จะมีคนไม่น้อยออกมาทำตัวให้เข้ากับสมัยนิยมด้วยการตบแต่งแปลงร่าง เอาแต่รูปแบบ ทำตนเป็นคนหัวทันสมัยเพื่อหลอกคนอื่นและมีหน้ามีตาในสังคม แต่คนพวกนี้ไม่สามารถจะทนต่อการทดสอบได้ ด้วยเหตุนี้ พอกษัตริย์ของรัฐหลู่มีพระราชโองการห้มเท่านั้น ก็ทำให้บรรดาพวกลัทธิหรูปลอมที่กลัวตายทั้งหลายไม่กล้าสวมเสื้อแบบสำนักหรูต่อไปอีก การอาศัยเพียงคำประกาศมาเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงและความเท็จนั้นค่อนข้างจะง่ายเกินไป แต่อย่างไรก็ตามเรื่องข้างต้นนี้ได้ให้แง่คิดที่ดีแก่เราว่า การดูคนหรือพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามไม่ควรยึดถือเปลือกนอกเป็นเกณฑ์ แต่ควรจะมองลึกลงไปในส่วนในที่อย่ใต้เปลือกนอกให้ถ่องแท้เป็นสำคัญ




By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน

No comments:

Post a Comment