Tuesday, March 26, 2013

คิดก่อนทำ ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

คิดก่อนทำ ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

          ปรัชญาซามูไรในข้อนี้นั้นพยายามชี้เข้าไปถึงแก่นสำคัญในเรื่องการดำเนินชีวิตและการทำงานทุกครั้ง ว่าเป็นการสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เวลาทั้งหมดในการคิดให้รอบด้านถึงผลดีผลเสียในเรื่องนั้นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจทำลงไป

           เพราะว่าหากเราได้ทำสิ่งใดพลาดพลั้งไปแล้ว แม้จะเสียใจเพียงไรไม่อาจแก้ไขให้เหมือนเดิม ดังนั้นก่อนจะลงมือทำสิ่งใดต้องคิดให้รอบคอบเสียก่อน

            ในเครือซีพีที่เป็นองค์กรทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อีกองค์กรหนึ่งของเมืองไทยนั้น มีหลักในการทำงานที่ถือว่าเป็นกฏเหล็กข้อหนึ่งก่อนที่จะขยายการลงทุน ธนินทร์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวผู้ได้สมญานามว่า " จอมยุทธ์ ไร้เทียมทาน " นั้่นกล่าวอยู่เสมอว่า



            เครือซีพีจะไปลงทุนทำอะไรนั้นยึดหลักสำคัญคือ ต้องมี ตลาด เงินทุน และเทคโนโลยี ตลาดในความหมายของท่านเจ้าสัวก็คือ ต้องเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ และสินค้าที่ผลิตนั้นจะต้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หรือเรียกง่ายๆ ว่า " ตรงที่ ตรงเวลา และตรงความต้องการ "

            การเปิดแนวรุกในด้านธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยเข้าประมูลโทรศัพท์ ๓ ล้านเลขหมายในสมัยที่ " ทรู คอปอร์เรชั่น " ยังเป็น " เทเลคอมเอเชีย " ก็เกิดขึ้นเมื่อความต้องการของประชาชนในการใช้โทรศัพท์ยังขาดแคลนเป็นอันมากในเมืองไทย ก่อนจะเข้าประมูลโครงการยักษ์นี้ก็ได้ทำการวิจัยอย่างละเอียดโดยร่วมมือกับไนเน็กซ์ ซึ่งเก่งกาจในเรื่องระบบและการเงิน

            เมื่อคิดถึงผลที่ได้กับผลที่เสียอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงเข้าร่วมประมูลและชนะในที่สุด อย่าลืมเป็นอันขาดว่าในขณะนั้นเครือซีพียังไม่เคยจับธุรกิจด้านไฮเทคเลย เครือซีพีนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจรเท่านั้น จากนั้นก็นำ " ออเร็นจ์ " เครือข่ายการให้บริการโทรศัพท์ชื่อดังจากฝรั่งเศสเข้ามาจนฮือฮา และเปลี่ยนเป็น " ทรู " จนถึงทุกวันนี้

             หากเราเป็นคนช่างสังเกตและติดตามความเคลื่อนไหวของวงการค้าของเมืองไทยสักหน่อยจะเห็นว่า ในหลากหลายธุรกิจของเครือซีพีที่ก่อตั้งขึ้นมานั้น เครือซีพีคิดก่อนทำเสมอและไม่เคยต้องมานั่งเสียใจภายหลัง





By ปรัชญา ซามูไร
         

No comments:

Post a Comment