Tuesday, March 12, 2013

อ่านหนังสือควรอ่านจนดื่มด่ำ สังเกตสรรพสิ่งควรทำจนซึมซับ




คนอ่านหนังสือเป็น
ควรอ่านจนสะกดกลั้นความพึงพอใจไว้ ไม่อยู่
จึงจะเข้าใจเนื้อหาได้อย่างถ่องแท้
ผู้สันทัดการสังเกตสรรพสิ่ง
ควรสังเกตจนซึมซาบเข้าไปในจิตใจ
จึงจะมองเห็นธาตุแท้ได้ทะลุปรุโปร่ง

นิทัศน์อุทาหรณ์
ลูกเขยโง่ซื้อห่าน

         คนเรียนหนังสือในสมัยโบราณเห็นว่า การศึกษาหาความรู้จะต้องเริ่มต้นจากการพิเคราะห์สรรพสิ่งก่อนอื่น

         เมฆขาวที่ลอยละลิ่วมาตามลม น้ำค้างที่หยดลงมาจากกิ่งไม้ มดเป็นกลุ่มๆ บนกำแพง ล้วนแต่เป็นเป้าหมายของการพิเคราะห์ทั้งสิ้น

         ผู้มีอัจฉริยะทางวรรณกรรมเมื่อได้เห็นการผันแปรร้อยแปดพันเก้าของเมฆขาว ก็อาจจะชวนให้คิดไปถึงซันตาคลอส หรือไม่ก็ลูกสุนัข ส่วนคนที่ชอบสัตว์ ก็มักจะให้ความสนใจต่อมดซึ่งไม่เคยหลงทาง ทำไมมันจึงสามารถแบกเศษขนมปังที่หนักกว่าตัวมันได้ ? พวกมันทักทายปราศัยกันอย่างไร ?


         แต่การพิเคราะห์สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะต้องสนใจให้ถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งทั้งหน้าหลัง ทั้งภายนอกภายใน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นเหมือนดั่ง " ลูกเขยกวางตุ้ง " ซึ่งซื่อจนเซ่อ

         เล่ากันมาว่า ในกว่างโจวมีลูกเขยโง่อยู่คนหนึ่ง วันหนึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพ่อตา ภรรยาของเขาให้ไปซื้อห่านไปอวยพร และได้พยายามอธิบายรูปร่างหน้าตาของห่านให้ฟังหลายครั้งหลายหนว่า " บนหัวห่านมีก้อนอะไรอยู่ก้อนหนึ่งมีอะไรที่งอกอยู่บนหัวนั่นแหละคือห่าน " ลูกเขยโง่ก็ท่องจำจนขึ้นใจ

         พอเขาไปถึงตลาด ก็เจอเข้ากับนักพรตเต๋า บนศรีษะเกล้าผมมวยไว้กระจุกหนึ่ง เขาก็คิดว่า " นี่แหละคอห่าน " จับข้อมือนักพรตได้ก็ลากไปถึงบ้านพ่อตา จนกลายเป็นเรื่องตลกที่เย้ยหยันกันทั่วไป

         เรื่องนี้เป็นเรื่องอุปมาอุปมัย ย่อมไม่มีใครอยากจะป็นแบบลูกเขยโง่เป็นแน่ แต่ถ้าหากเราได้เป็นอย่างโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงของอเมริกา ทำให้ไข่กลายเป็นนาฬิกาได้ก็คงจะดี

          เล่ากันมาเหมือนกันว่า เวลาที่เอดิสันค้นคว้าอะไรอยู่ เขาจะหมกมุ่นมาก เที่ยงวันหนึ่ง เขารู้สึกหิว จึงหยิบไข่ใส่ลงไปต้มในหม้อ แล้วเขาก็หันไปทำอะไรเพลินจนลืมไข่ไก่ในหม้อ ปล่อยให้น้ำในหม้อเดือดแล้วเดือดอีก ครั้นเมื่อนึกขึ้นได้คิดจะรับประทาน พอเปิดฝาหม้อต้มออกนาฬิกาข้อมือเรือนหนึ่งก็ถูกต้มจนเทวดาก็ซ่อมให้ดีไม่ได้อีกแล้ว แต่ไข่ไก่กลับวางอยู่ข้างๆ หม้อต้มนั่นเอง

          การพิเคราะห์สิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรจะต้องใจจดใจจ่อเหมือนเอดิสันใจจดใจจ่อจึงจะสามารถพินิจพิจารณาได้อย่างถึงที่สุด พอถึงชั้นหนึ่งเมื่อมีพื้นฐานบ้างแล้ว ก็สามารถที่จะเริ่มอ่านหนังสือได้

          การอ่านหนังสือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าอ่านจนสะกดกลั้นความพึงพอใจไว้ไม่อยู่ นั่นก็จะมีความสุขยิ่งกว่าได้ขึ้นวิมานชั้นฟ้าเสียอีก

          ใครเคยมีประสบการณ์ในเรื่องอ่านหนังสือจนลืมกินลืมนอนบ้างหรือเปล่า ? เคยมีบ้างไหมที่ไครเคยเกิดความรู้สึกว่า ในหนังสือได้เขียนไว้ตรงกับความเห็นของเราไม่ผิดเพี้ยน ? นี่ก็คือความสุขของกาอ่านหนังสือละ !





By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )

No comments:

Post a Comment