Saturday, September 08, 2012

ต้นกำเนิดคัมภีร์เหลาจื้อ

     

         เหลาจื้อ ( ประมาณก่อน ค.ศ. 600 ปี ก่อน ค.ศ. 5005 ปี ) แซ่ลี่ ( หลี่ ) ชื่อ ยื่อ ( เอ่อ ) มีชื่ออีกอย่างว่า เล่าตำ ( เล่าตัน ) เป็นชาวรัฐฉ้อ ( ฉู่ ) และเป็นปรมาจารย์ของลัทธิเต๋า ช่วงเวลาที่เหลาจื้อมีชีวิตอยู่ ตรงกับปลายยุคชุนชิว

        ต้นฉบับเหลาจื้อ ( เต๋าเต็กเก็ง หรือ เต๋าเต๋อจิง ) ปรากฏครั้งแรกสมัยจั้นกว๋อ ถ้อยคำในคัมภีร์เหลาจื้อ มักถูกนำมาอ้างอิงในหนังสือโบราณ อย่างเช่น หนังสือเจี่ยงก๊กแฉะ ( จั้นกว๋อเช่อ ), ซุ้งจื้อ ( สวินจื่อ ), โหลยกี่ ( หลี่จี้ ), หลื่อสีชุงชิว ( หลวี่ซื่อชุนชิว ) เป็นต้น

        ต้นฉบับเหลาจื้อเป็นผู้ที่นักปรัชญายกย่องทุกยุคสมัย เช่น จอมปราชญ์ อย่างจวงจื้อ กับ หันเฟยจื้อเคยเขียนสดุดีภูมิปัญญาของเหลาจื้อ

        กล่าวกันว่า คัมภีร์เหลาจื้อ มิใช่เหลาจื้อเป็นผู้เขียน แต่บรรดา ศิษย์ได้รวบรวมจากคำสอนของเหลาจื้อ และได้มีการต่อเติมบางส่วน สันนิษฐานว่า ศิษย์ที่ต่อเติมเนื้อความ เป็นศิษย์รุ่น 3 กับรุ่น 4 

        เนื้อความบางตอนสอดคล้องกับแนวคิดในยุคชุนชิวตอนปลาย จึงสันนิษฐานว่า คัมภีร์เหลาจื้อนี้กำเนิดในสมัยชุนชิว

         เกี่ยวกับเรื่องราวของเหลาจื้อ มีบันทึกว่า เหลาจื้อรับราชการเป็นผู้ดูแลหนังสือประวัติศาสตร์และเป็นผู้เก็บรักษาหนังสือราชการในสมัยต่างๆ 

         ในสมัยราชวงศ์จิว ( โจว ) รุ่งเรือง บรรดารัฐต่างๆ หากมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ก็จะส่งคนเดินทางมายังเมืองหลวงของราชวงศ์จิว ( โจว ) เพื่อขอคำแนะนำจากผู้ดูแลห้องสมุด และผู้ดูแลนั้นคือเหลาจื้อ

         กล่าวกันว่า ในช่วงนั้น มีผู้คนเดินทางมาขอคำแนะนำมากมาย ต่อมาราชวงศ์จิว ( โจว ) เริ่มเสื่อม ขนบธรรมเนียมต่างๆ เริ่มถูกทำลาย จึงไม่ค่อยมีคนสนใจจะเดินทางมาขอคำชี้แนะ เหลาจื้อจึงมีเวลาว่างมากขึ้น และใช้เวลาช่วงนี้ ศึกษาปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง

         เหลาจื้อก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือโบราณ เพื่อศึกษาสาเหตุแห่งความเสื่อมของบ้านเมืองในยุคต่างๆ ส่วนตอนกลางคืนมักออกมาดูดาวบนท้องฟ้า บางครั้ง ท่องเที่ยวไปยังชนบทเพื่อดูต้นไม้ใบหญ้า บางคราวไปดูชาวนาทำนา บางทีเข้าตรอกซอยต่างๆ ไปดูการทำงานของพวกช่างฝีมือ

        ต่อมา เหลาจื้อเกิดความขัดแย้งกับพวกตระกูลสูงศักดิ์ เรื่องมีอยู่ว่า... พวกตระกูลสูงศักดิ์ความคิดเห็นแก่ตัว คิดอาศัยขนบธรรมเนียมและการออกกฏหมายมาบังคับข่มขี่ราษฎร เหลาจื้อไม่เห็นด้วยจึงพูดว่า... " ข้าไม่รู้ว่าสิ่งใดคือความถูกต้อง แต่ข้รู้ว่าเหตุใดบ้านเมืองจึงเกิดความวุ่นวาย ราษฎรอดอยากเพราะทางการเก็บภาษีหนัก ทำให้ราษฏรอยู่ไม่เป็นสุข ส่วนพวกขุนนางอยู่อย่างสุขสบาย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และเงินทองที่ใช้จ่ายล้วนรีดไถของราษฏร ราษฏรจนตรอกจึงก่อเกิดความวุ่นวาย

        พวกท่านดูเถิด พระราชวังนั้นสวยงามโอ่อ่า แต่ไร่นากลับร้าง คลังเสบียงว่างเปล่า แม้กระนั้น ยังมีคนแต่งกายด้วยผ้าอย่างดี มองดูหรูหรายิ่งนัก อีกทั้งสะพายกระบี่วิเศษซึ่งคมกริบ พวกนี้มีสุราอาหารบริบูรณ์และยังครอบครองทรัพย์สินมากมาย เปรียบดังหัวหน้าโจรนี่หรือคือความยุติธรรม "

        ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ผู้คนในตระกูลสูงศักดิ์ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
        เหลาจื้อกล่าวต่อไปว่า... " คนที่เจ้ากี้เจ้าการจะให้ใช้ขนบธรรมเนียมต่างๆ ล้วนคิดจะอาศัยขนบธรรมเนียมมาบังคับให้ราษฏรต้องทำตามโดยดีพวกเขากำลังหลอกลวงราษฏร  ส่วนพวกที่เจ้ากี้เจ้าการออกกฏหมายต่างๆ กำลังคิดจะใช้บทลงโทษต่างๆ มาขู่ราษฏร วันใดที่ราษฏรจนตรอกราษฏร จะไม่กลัวตาย และวันนั้นจะเป็นวันที่น่ากลัว พวกท่านเหตุใดจึงโง่บัดซบเช่นนี้หนอ "

        ถ้อยคำเหล่านี้ ยิ่งทำให้บรรดาผู้คนในตระกูลสูงศักดิ์ไม่พอใจยิ่งขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงกระจายข่าวลือว่า เหลาจื้อเป็นคนบ้าคลั่ง

        ไม่ว่ายุคไหน ผู้ที่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ มักถูกคนชั่วโจมตีเพราะความชั่วไม่ต้องการให้ผู้คนนิยมความดี และกลัวว่าความชั่วของพวกตนจะถูกเปิดเผย

        ในบั้นปลายชีวิต เหลาจื้อเรียกบรรดาศิษย์มารับการถ่ายทอดวิชาทั้งหมด จากนั้น เหลาจื้อจึงเดินทางออกจากเมืองหลวงราชวงศ์จิว ( โจว ) เร้นกายอยู่อย่างสันโดษ ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเหลาจื้อไปอยู่ที่ไหน ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเหลาจื้อเสียชีวิตเมื่อใด และเสียชีวิตที่ไหน

        ขงจื้อได้ข่าวว่า เหลาจื้อหายไปจึงกล่าว...

        " นก... ข้ารู้มันบินได้ ปลา... ข้ารู้ว่ามันว่ายน้ำได้ สัตว์ป่า... ข้ารู้ว่ามันวิ่งได้แต่อย่างไรก็ตาม สัตว์ป่าสามารถใช้ตาข่ายดักจับ ส่วนปลา สามารถใช้เบ็ดตก และ นกสามารถใช้เกาทัณฑ์ยิง แต่สำหรับมังกรนั้น ข้าไม่รู้ว่ามันบินขึ้นท้องฟ้าอย่างไร เหลาจื้อคนนี้เปรียบดั่งมังกร ข้าไม่สามารถจับต้องลูบคลำได้เลย "




ป.แผนสำเร็จ ( ปรัชญาการดำรงตนของจอมปราชญ์ : สรรนิพนธ์จอมปราชญ์ )

No comments:

Post a Comment