Tuesday, September 25, 2012

วิธีแก้ปัญหาขอทาน




ใจขอทาน ไม่คิดพึ่งตนเอง

          ขอทานแขนด้วนคนหนึ่ง เดินมาขออาหารที่วัด ท่านเจ้าอาวาสพูดเหมือนไม่เห็นอกเห็นใจว่า " ขนอิฐพวกนี้ไปไว้หลังวัด แล้วข้าจะให้ข้าวกิน "

          ขอทานโกรธมาก พูดว่า " ข้ามีแขนแค่ข้างเดียว จะขนอิฐได้อย่างไร ไม่ให้ข้ากิน ก็อย่เอาข้มาล้อเล่นแบบนี้ "

          ท่านเจ้าอาวาสเดินไปที่กองอิฐ ใช้มือก้อนหนึ่งหยิบก้อนอิฐขึ้นมาแล้วพูดว่า " งานอย่างนี้ มีมือข้างเดียวก็ทำได้ "

          ขอทานจึงต้องใช้แขนข้างเดียวขนอิฐไปไว้หลังวัด เขาใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงจึงขนอิฐหมดกอง


          ท่านเจ้าอาวาสให้เงินขอทาน ขอทานดีใจมาก ขอบคุณท่านเจ้าอาวาสเป็นการใหญ่

          ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่า " ไม่ต้องขอบคุณข้าดอก นี่เป็นเงินที่เจ้าหาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง "

          ขอทานโค้งคำนับแล้วอำลาจากไป

          หลายวันต่อมา ขอทานอีกคนหนึ่งมาขอทานที่วัด ท่านเจ้าอาวาสพาเขามาที่หลังวัด ชี้ไปที่กองอิฐแล้วพูดว่า " ขนอิฐกองนี้ไปไว้หน้าวัดแล้วข้าจะให้เงินเจ้า "

          ขอทานคนนี้มือเท้าดีๆ ไม่ด้วนไม่พิการ แต่เขากลับเดินหนีไปเสียเฉยๆ

          ศิษย์วัดถามอาจารย์ว่า " คราวก่อน ท่านขอให้ขอทานแขนด้วนขนอิฐมาไว้หลังวัด แต่ตอนนี้กลับจะจ้างขอทานมือเท้าดีๆ ขนอิฐไปไว้หน้าวัดอีก ท่านคิดอะไรไม่ทราบ "

          ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่า " อิฐกองไว้หน้าวัดหรือหลังวัด มันก็เหมือนๆ กัน แต่ขอทานที่ขนอิฐสิ ไม่เหมือนกัน "

          หลายปีต่อมา ชายท่าทางภูมิฐานคนหนึ่งมายืนอยู่หน้าวัด เขาแต่งตัวดี หน้าตาอิ่มเอิบมีความสุข แต่น่าเสียดายที่เขาเป็นคนแขนด้วน

          ที่แท้เขาคือขอทานแขนด้วนที่เคยมาขนอิฐที่วัดนั่นเอง นับแต่วันที่เจ้าอาวาสบอกให้เขาใช้แขนข้างเดียวที่มีอยู่ ทำงานเลี้ยงชีพตัวเอง เขาก็ค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง นับแต่นั้นมา เขาก็ตัดสินใจพึ่งตัวเอง ทำงานพากเพียร จนกระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิต

         ส่วนขอทานมือเท้าดีๆ ที่ไม่ยอมพึ่งลำแข้งตัวเองคนนั้น กี่ปีกี่ปีให้หลัง เขาก็ยังคงเป็นขอทาน เร่ร่อนอยู่แถวๆ วัด

แง่คิด

         รู้จักพึ่งตนเอง  ชีวิตจึงจะเจริญ

         อาชีพขอทานก็คือขอเขากิน ทำมาหากินกับความสงสาร ความเห็นใจของผู้อื่น เป็นอาชีพที่งอมืองอเท้า ไม่ลงเรี่ยวลงแรง หวังพึ่งคนอื่น ไม่คิดพึ่งตนเอง

         นิทานเซนเรื่องนี้ ขอทานแขนด้วนคนหนึ่งมาขอเงินพระอาจารย์เซนแต่แทนที่พระอาจารย์จะให้เงินขอทาน ท่านกลับจ้างขอทานทำงาน เงินค่าจ้างที่ให้ ก็คือเงินทั่วไปทำบุญทำทานให้ขอทานนั่นเอง พระอาจารย์ิดว่าให้เงินขอทาน มันก็ได้อยู่ดอก แต่ว่าพอเงินหมด ขอทานก็กลับมาขอทานต่อ เงินช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเป็นครั้งเป็นคราวได้เท่านั้น ไม่สามารถช่วยคนได้ชั่วชีวิต ถ้าจะช่วยคน ก็ควรช่วยให้ตลอดรอดฝั่ง นั่นคือ สอนให้เขารู้จักช่วยตนเอง มีรายได้ปลูกจิตสำนึกให้พึ่งลำแข้งตัวเอง จะได้ภาคภูมิใจกับเงินที่หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ซึ่งก็ได้ผล หลังจากนั้นหนึ่งปี ขอทานแขนด้วยก็เป็นเจ้าของธุรกิจ มีกินมีใช้ ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ผิดกับขอทานมือเท้าดีๆ อีกคนหนึ่ง ที่ไม่ยอมพึ่งตัวเอง แม้พระอาจารย์จะเปิดโอกาสให้ เขาก็ไม่รับ สุดท้าย เวลาผ่านไปกี่ปีกี่ชาติ ชีวิตของเขาก็ยังคงตกต่ำเป็นขอทานไร้ศักดิ์ศรีอยู่อย่างนั้น

        ในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่ใจเป็นขอทาน พอเห็นคนอื่นมีเงิน มีกินมีใช้ ก็อิจฉาริษยา อยากจะให้คนอื่นช่วยเหลือเจือจานตนบ้าง กล่าวคือ ชอบของฟรี ของที่ได้มาเปล่าๆ แบบไม่ต้องลงเรี่ยวลงแรงให้เหนื่อยยาก นี่คือความคิดแบบขอทาน ไม่คิดพึ่งตนเอง ความจริงอิจฉาคนอื่นดีๆ ไม่ใช่ความผิด แต่ถ้าจะผิด ก็ตรงที่ไม่ศึกษาเอาอย่างคนดีๆ แต่ดันคิดแค่จะขอส่วนบุญเอาจากเขาท่าเดียว แบบนี้ชีวิตจะเจริญได้อย่างไร

        อันที่จริง มนุษย์ทุกคนล้วนมีโอกาส แม้แต่คนพิการ แขนด้วน ขาด้วน ตาบอด หูหนวก แล้วสาอะไรกับคนดีๆ มือดีเท้าดี ตาดีหูดี แต่ถ้าตัวเราเองไม่ยอมคว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่คิดที่จะพึ่งตัวเอง ต่อให้เทวดาปรากฏตรงหน้า ก็ช่วยอะไรไม่ได้





By สุภาณี  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )