Thursday, May 09, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๒ )

พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร

          คำว่า " ศาสนา " มีความหมายกว้างกว่าคำว่า " ศีลธรรม " ศีลธรรมหมายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับประโยชน์สุขในชั้นที่เป็นพื้นฐานทั่วไป " ศาสนา " หมายถึงระเบียบวิธีปฏิบัติในชั้นสูง ศีลธรรมทำให้คนเป็นคนดีมีศีลมีสัจจะมีกตัญญูกตเวที มีการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนตนหรือคนอื่น ตามหลักสังคมทั่วๆ ไป แต่เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามนั้นแล้ว คนนั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์ที่เกิดจากความเกิดแก่เจ็บตาย ไม่พ้นการเบียดเบียนของกิเลส ส่วนขอบเขตของศาสนายังไปได้ไกลกว่านั้นอีก โดยเฉพาะพุทธศาสนามีความมุ่งหมายโดยตรงที่จะกำจัดกิเลสหรือดับทุกข์ที่เกิดจากความเกิดแก่เจ็บตาย ให้สูญสิ้นไป

         พุทธศาสนา คือวิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติสำหรับจะให้รู้ว่า " อะไรเป็นอะไร " การปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา คือปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงคืออะไร เป็นจริงอย่างไร การปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาอะไรก็ตาม ล้วนแต่มุงผลเพื่อให้รู้ว่า " สิ่งทั้งปวงคืออะไร " เมื่อรู้แจ้งแท้จริง การเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และการหลุดพ้น ย่อมเกิดขึ้นเองเป็นอัตโนมัติเป็นการบรรลุมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือถึงที่สุด เพราะว่าความรู้นั้นเป็นตัวทำลายกิเลสไปในตัว การทำความเพียรปฏิบัติจึงมีแต่ในขั้นที่ยังไม่รูว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น เนื่องจากความไม่รู้ จึงหลงรักติดพันในสิ่งทั้งหลาย ครั้นรู้ความจริง คือมองเห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรที่น่าจะผูกพันตัวเองเข้ากับสิ่งเหล่านั้นดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความหลุดพ้นจากการครอบงำของสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทันที คำจำกัดความที่ว่า " ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร " จึงเป็นคำจำกัดความที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า


         พระไตรปิฎกคือสิ่งที่ระบุให้รู้ว่า " อะไรเป็นอะไร " เช่น หลักเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ อริยสัจข้อที่ ๑ แสดงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ นี่คือการบอกว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร การไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์ ย่อมก่อให้เกิดความอยากในสิ่งทั้งปวง ถ้ารู้แล้วจะไม่อยาก อริยสัจข้อที่ ๒ แสดงว่าความอยากเป็นเหตุของความทุกข์ การที่บุคคลยังมีความอยากอยู่ก็เพราะไม่รู้ว่าความอยากคืออะไร อริยสัจข้อที่ ๓ แสดงว่านิโรธหรือนิพพาน คือการดับความอยากได้สิ้น การที่บุคคลไม่ปรารถนาที่จะดับความอยาก ไม่ปรารถนานิพพาน ก็เพราะไม่รู้ว่า นิพพานคืออะไร อริยสัจข้อที่ ๔ แสดงถึงวิธีดับความอยาก อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์ เพราะเหตุที่มนุษย์ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นที่พึ่ง อะไรเป็นสิ่งที่ควรขวนขวายอย่างยิ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้าจึงไม่ค่อยมีใครสนใจ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องอริยสัจ ๔ ประการนั้น คือความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า " อะไรเป็นอะไร " อย่างครบถ้วน

          หัวใจพระพุทธศาสนา หรือคาถาอระอัสสชิ ทีตอบแก่พระสารีบุตรก่อนบวชว่า " สิ่งเหล่าใดเกิดขึ้นมา เพราะมีเหตุทำให้เกิด พระตถาคตจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้นพร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมดเหตุ พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้ " นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนถาวร ทุกสิ่งล้วนเป็นแต่มายา มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไม่หยุด ด้วยอำนาจแห่งเหตุ เป็นการก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่มีอิสระ การทำใจให้เป็นอิสระไม่ไปหลงไปยึดถือสิ่งที่เป็นมายาเหล่านั้น จนเกิดความชอบหรือชังขึ้น เรียกว่า เป็นการออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ ดับเหตุไม่ให้มีการปรุงแต่งต่อไป จึงเป็นการดับทุกข์ได้สิ้นเชิง

          วัตถุประสงค์แห่งการออกผนวชของพระพุทธเจ้า คือทรงแสวงหาว่า " อะไรเป็นกุศลๆ " คำว่า " กุศล " หมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องว่า อะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์ เมื่อรู้อย่างถูกต้อง ดังนี้ เรียกว่ารู้ถึงที่สุดความรู้ว่า " อะไรเป็นอะไรที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ " จึงเป็นตัวพระพุทธศาสนา

          เรื่องไตรลักษณ์ คือหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการประกาศถึงความจริงว่า " สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน " ความเป็นอนิจจัง  หมายถึงลักษณะแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดของสิ่งทั้งปวง ความทุกข์ หมายถึงลักษณะแห่งความทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวของสิ่งทั้งปวง ซึ่งดูแล้วน่าชัง น่าเบื่อหน่าย น่าระอา ความเป็นอนัตตา หมายถึงสภาพที่สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ด้วยมั่นใจว่าเป็นตัวตน หรือของตน นี่คือการบอกให้รู้ว่า " สิ่งทั้งปวงคืออะไร " ตามหลักไตรลักษณ์

          หลักปฏิบัติที่ให้เป็นไปตามกฏธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงนั้น ได้แก่หลัก " โอวาทปาฏิโมกข์ " แปลว่า คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งปวง มี ๓ ข้อ คือการไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เต็มที่ และการทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมอง สองข้อแรกเป็นเพียงชั้นศีลธรรม ข้อที่สามหมายถึงการทำจิตให้เป็นอิสระจากการครอบงำของสิ่งทั้งปวง จัดเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนา คนเรามีความรู้สึกตามธรรมชาติอยู่สองอย่าง คือพอใจกับไม่พอใจ ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้ แสดงว่าจิตยังไม่เป็นอิสระ หลักพุทธศาสนาจึงปฏิเสธการยึดถือทั้งสิ่งที่น่ารักและน่าชัง ไม่ให้หลงติดทั้งในความดีและความชั่ว ไม่ให้ผูกพันตัวกับสิ่งใดเลยในระยะแรกต้องเว้นจากความชั่ว ในระยะถัดมาต้องทำความดีให้เต็ม ส่วนในระยะสูง ต้องทำจิตให้ลอยสูงอยู่เหนือการครอบงำของความดีและความชั่ว กลายเป็นโลกุตตระ จนลุความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

          คำว่า " พุทธศาสนา " แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ " พุทธศาสนิก " แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ คือสิ่งทั้งปวงตามเป็นจริง จึงเรียกได้ว่า " พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร " บุคคลต้องปฏิบัติให้รู้ของตนเอง เมื่อรู้ถึงที่สุด กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกทำลายไปความไม่รู้ที่เรียกว่า " อวิชชา " ก็จะดับทันที ข้อปฏิบัติต่างๆ จึงมีไว้เพื่อให้ความรู้คือ " วิชชา " เกิดนั่นเอง

           การศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนาต้องศึกษาจากตัวจริง คือ จากสิ่งทั้งปวง ซึ่งรวมทั้งกายและใจ จากชีวิตที่หมุนอยู่ในวงกลมของความอยาก ที่ทำให้เวียนว่ายไปตามวัฏฏสงสาร หรือทะเลทุกข์ไม่สิ้นสุด ให้เห็นว่าความทุกข์เหล่านั้น เกิดมาจากความที่ไม่รู้ว่า " อะไรเป็นอะไร " แล้วผูกใจปักมั่นในทางที่ปฏิบัติให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ด้วยความพยายามที่จะมองให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร ความทุกข์ที่เกิดขึ้น และกำลังเผาเราให้เร่าร้อนอยู่นั้นมันคืออะไร มาจากอะไร คือพยายามมองสิ่งทั้งหลายในแง่ของความทุกข์ให้มากที่สุด แล้วความรู้จะเกิดขึ้นเป็นมรรค ผล นิพพาน ตามลำดับ นี่เป็นการรู้พุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริง การเข้าถึงพุทธศาสนาโดยวิธีนี้ คนไม่รู้หนังสือก็เข้าถึงได้ ดีกว่าคนที่เรียนพระไตรปิฎก แต่ไม่ปฏิบัติตาม

        ครั้นรู้ความจริง คือมองเห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรที่น่าผูกพันตัวเองเข้ากับสิ่งเหล่านั้น ดังนี้แล้วก็จะเกิดความหลุดพ้นจากการครอบงำของสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทันที




By  คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )

No comments:

Post a Comment