Friday, May 24, 2013

เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๓๓ )

เมืองไทย " เมืองยิ้ม " ( ตอนที่ ๓๓ ) 
พิธีทอดกระถิน

          เมื่อสิ้นฤดูกาลเข้าพรรษา ( ประมาณเดือนกรกฏาคมถึงเดือนกันยายน ) พระภิกษุทั่วประเทศมีอิสระที่จะเดินทางไปยังที่หนึ่งที่ใดก็ได้ และได้รับอนุญาติให้ได้รับจีวรใหม่ในพิธีทอดกฐินประจำปี นอกจากผ้าจีวรใหม่ก็มีเครื่องอัฏฐบริขาร อุปกรณ์เครื่องครัว เงินบริจาคทานและอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น ตะปู เลื่อยมือ และค้อน เป็นต้น ซึ่งถวายไปพร้อมกันในพิธีนี้ด้วย

          ที่จริงแล้ว คำว่า " ทอด " หมายถึง " การถวายทานแก่พระสงฆ์ " และคำว่า " กฐิน " แปลตามตัวหมายถึง " ไม้สะดึง " ( คือไม้แบบตัดจีวร ) ใช้ในการเย็บผ้าจีวรเพราะในสมัยก่อนต้องเก็บเอามาจากเศษผ้า จากซากศพในป่า เพราะว่าจีวรไม่มีจำหน่ายมากมายอย่างเช่นทุกวันนี้ ชาวพุทธถือว่า " พิธีทอดกฐิน " เป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งรองจากพิธีอุปสมบทของญาติสนิท ดังนั้นในช่วงชีวิตหนึ่งทุกคนต่างก็หาโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เพราะว่าพิธีนี้ต้องใช้เวลามาก ทั้งกำลังคนและค่าใช้จ่ายสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ จะต้องมีการจองล่วงหน้า มิฉะนั้นโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพกฐินแต่เพียงผู้เดียวก็จะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่มีชื่อเสียง แม้กระนั้นผู้ที่พลาดโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียวก็ยังสามารถเข้าร่วมในการทอดกฐินได้ ซึ่งกฐินประเภทนี้เรียกว่า " กฐินสามัคคี "


          ในขณะเดียวกัน สำหรับ พระอารามหลวง เช่น วัดอรุณฯ หรือวัดโพธิ์ฯ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ หรือผู้แทนพระองค์จะเป็นเจ้าภาพกฐินและโดยปกติพระมหากษัตริย์ก็จะทรงถวายผ้ากฐินหลวงต่อพระสงฆ์โดยพระองค์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดโพธิ์ และวัดหลวงที่สำคัญๆ อื่นๆ เช่น วัดอรุณ ซึ่งในโอกาสนี้พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จโดยเรือพระที่นั่ง พร้อมทั้งมีขบวนเรือติดตามที่สวยงามล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจากท่าวาสุกรีไปยังท่าน้ำวัดอุณฯ ขบวนเรือพระที่นั่งนี้เป็นภาพที่สวยงามมากซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ควรจะพลาดโอกาสชมเหตุการณ์นี้อันจะติดตราตรึงใจในประเทศไทยไปตลอดกาลนาน

          บางครั้งขบวนกฐินก็เดินทางไปทอดเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร โดยทางรถโดยสาร รถไฟ ทางเรือหรือแม้แต่ทางเครื่องบินเพื่อถวายผ้าทอดกฐินและของไทยธรรมอื่นๆ ต่อพระสงฆ์ในวัดตามชนบท หรือแม้แต่ในต่างประเทศที่มีวัดพุทธศาสนาตั้งอยู่ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาโอกาสอันเป็นกุศลนี้ไม่เพียงแต่เพื่อประกอบบุญกุศลให้กับตนเองเท่านั้น แต่ยังได้สนุกสนานในวันหยุด เป็นอิสระจากชีวิตอันวุ่นวายเต็มไปด้วยความตึงเครียดในเมืองหลวงไปชั่วขณะหนึ่งด้วย ในช่วงเทศกาลทอดกฐินนี้ จะดู เป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้เห็นขบวนกฐินเดินทางไปๆ มาๆ ทั้วทั้งประเทศ ที่จริงแล้วทุกคนสามารถเข้าร่วมในพิธีนี้ได้โดยวิธีการง่ายๆ เช่น การใส่เงินจำนวนเล็กน้อยลงในซองสีขาวที่แจกให้โดยเพื่อนๆ หรือ ญาติๆ ก็เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมแล้ว

           เป็นที่น่าสังเกตว่า กฐิน และผ้าป่านี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ( ผ้าป่าหมายถึงผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าเพื่อให้พระภิกษุได้ชักเอาไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ) ในขณะที่พิธีทอดกฐินจัดให้มีขึ้นได้เพียงปีละครั้งและหลังจากออกพรรษาแล้วเท่านั้น ส่วนพิธีทอดผ้าป่าสามารถจะทอดได้ตลอดทั้งปีและเวลาใดก็ได้แล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสม นอกจากนี้ในแต่ละวัดก็ได้รับพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในแต่ละปี ส่วนผ้าป่าสามารถจะถวายแก่พระสงฆ์ได้บ่อยครั้งสักกี่ครั้งก็ได้ เห็นได้ชัดว่าผ้าป่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าพิธีทอดกฐิน ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวมาก ดังนั้น กฐินจึงถือเป็นพิธีทางศาสนาที่สำคัญมาก ซึ่งทุกๆ คนสามารถเข้าร่วมได้นับจากองค์พระมหากษัตริย์ไปจนถึงคนจนในชนบท




By Essays on Thailand

No comments:

Post a Comment