Tuesday, May 21, 2013

สามอัปมงคล

สามอัปมงคล

          ในอดีต ชาวเมืองฉีถือว่าเสือและงูเหลือมเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นอัปมงคล

           ครั้งหนึ่ง กษัตริย์จิ่งกงแห่งรัฐฉีทรงเสด็จไปล่าสัตว์ในป่า ขณะที่พระองค์เสด็จขึ้นไปที่ยอดเขา ก็มีเสือกระโจนออกมาจากดงหญ้า ทำให้กษัตริย์จิ่งกงและบริวารที่ติดตามไปด้วยความตกใจมาก ต่างพากันหลบไปที่หุบเขา แต่เดินไปได้ไม่นานก็พบงูเหลือมตัวขนาดใหญ่ขนดนอนอยู่บนก้อนหิน กษัตริย์แห่งรัฐฉีทรงตกพระทัยมากรีบเสด็จกลับพระราชวัง ตรัสสั่งให้หาตัวเอี้ยนจื่อเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

           " วันนี้ข้าพเจ้าขึ้นเขาพบเสือ ลงมาที่หุบเขาก็เจองูเหลือมเข้าอีก นี่แสดงว่าเป็นลางร้ายของรัฐฉีเราใช่หรือไม่ ? "

           เอี้ยนจื่อกราบทูลว่า " ข้าพระองค์เคยได้ยินคนกล่าวว่า รัฐมีลางร้ายจริงและมีสามประการ ประการแรกคือ มีคนที่รอบรู้มีความสามารถ แต่พระองค์หาทรงทราบไม่ ประการที่สอง พระองค์ทรงทราบ แต่ไม่มีพระประสงค์ที่จะใช้ ประการที่สาม เมื่อใช้ก็ไม่วางพระทัย ที่ว่าไม่เป็นมงคลนั้นก็คือสิ่งที่กล่าวมานี้ ส่วนวันนี้ที่พระองค์พบเสือบนเขา ก็เพราะว่าเขาเป็นที่พำนักของเสือ ลงมาที่หุบเขาพบงูเหลือมนั่น ก็เพราะหุบเขามีถ้ำสำหรับงูอาศัย สิ่งดังกล่าวนี้หามีความสัมพันธ์อันใดกับรัฐไม่ ฉะนั้นจะกล่าวว่าเป็นลางร้ายของรัฐฉีได้อย่างไร "

บันทึกใน " เอี้ยนจื่อชุนชิว " 


มุมมองปรัชญา

           ถ้าถามว่ารัฐมีลางร้ายหรือไม่ อาจกล่าวได้ว่ามี เกี่ยวกับปัญหานี้มีทรรศนะที่แตกต่างกันสองอย่าง พวกจิตนิยมจะถือเอาการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติ ภัยพิบัติและสัตว์หรือพฤกษาชาติ มาเป็นเครื่องบอกลางดีลางร้าย แต่ไม่ได้ไปค้นหาสาเหตุที่แท้จริงในการเจริญขึ้นหรือเสื่อมทรุดลงของรัฐ พวกเขาอาศัยสิ่งเหล่านี้มามอมเมาประชาชน เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่นักวัตถุนิยมนั้น ทำการสำรวจและคาดชะตากรรมของรัฐจากสภาพความเป็นจริง นิทานเรื่องนี้ชี้ว่า ความเจริญหรือเสื่อมของรัฐอยู่ที่ปัญหาการใช้คน เขาเห็นว่า มีคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่รู้ว่ามี เมื่อรู้ว่ามีก็ไม่คิดจะใช้และเมื่อใช้ก็ไม่เชือถือ สามประการนี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ซึ่งนับว่าเป็นคำพูดที่มีเหตุผล ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การไม่รู้จักแสวงหาคนที่มีวิชาความรู้มาใช้และให้ความเชื่อถือ กระทั่งเหยียบย่ำนั้น มีผลร้ายอย่างยิ่ง




By ปรัชญาชีวิตในสุภาษิตจีน

No comments:

Post a Comment