ภวังคจิต
เมื่อถึงตอนนี้ เรามักจะเกิดความสงสัยว่า ถ้าจิตหรือวิญญาณมีการเลื่อนไหลติดต่อกันไปโดยไม่มีการหยุดแม้แต่วินาทีเดียวแล้วจิตของคนที่กำลังนอนหลับปราศจากการฝันจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ?
ปัญหานี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า จิตของคนในขณะนอนหลับปราศจากความฝัน จะตกอยู่ในภาวะของการหยุดพักการทำงานหรือภาวะภวังค์ ในทางพุทธศาสนา คำว่า ภวังคจิต หมายถึง ตัวเหตุ ตัวผล ตัวปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อภาวะการดำรงอยู่ที่จะต้องมีการดำเนินต่อไปตามการรับรู้ที่เป็นอัตวิสัย หรือหากจะกล่าวให้ชัด ภวังคจิต คือสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ต่อการดำรงอยู่ หากปราศจากสิ่งนี้มนุษย์ก็ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ ภาวจิตที่ตกอยู่ในภวังค์ เป็นจิตที่อยู่ในภาวะสงบพักในระดับที่ต่ำกว่าจิตที่กำลังทำงาน เป็นจิตที่ยังไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่อการรับรู้ เราทราบมาแล้วว่าในทางพุทธศาสนา ถือว่าจิตหรือวิญญาณไม่มีตัวตนและไม่ใช่ตัวตน จิตจะรับรู้ได้ในระดับแรกก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสเกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่จัดว่าเป็นธรรมารมณ์ ที่รับผ่านทางมโนทวาร ส่วนจิตที่ทำหน้าที่รับรู้อย่างอื่นเกิดจากผัสสะระหว่างอายตนะภายนอกได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีต่ออายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตที่ทำหน้าที่รับรู้เหล่านี้ทางพุทธศาสนารียกว่า วิถีจิต ส่วนจิตที่พักการทำหน้าที่ชั่วคราว เช่นในขณะนอนหลับปราศจากการฝัน เรียกว่า ภวังคจิต หรือ จิตใต้สำนึก เป็นจิตที่อยู่ในสภาพการทำงานในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถในการรับรู้ที่ผ่านเข้าทางมโนทวาร จึงเป็นจิตที่ไม่สามารถรับรู้ ในทางอภิธรรมถือว่า มโนทวาร เป็นเส้นแบ่งกั้นระหว่าง ภวังคจิต กับ วิถีจิต
ในระหว่างที่เรานอนหลับปราศจากการฝัน กระแสแห่งภวังคจิตก็จะเกิดดับติดต่อกันไปเช่นเดียวกับจิตที่กำลังทำหน้าที่ ต่อเมื่อได้รับการกระตุันจากวัตถุผ่านทางทวารทั้งหก ภวังคจิต จึงจะเริ่มทำงานต่อการรับรู้ กลายเป็นวิถีจิตที่มีการเกิดดับเป็นกระแสจิตติดต่อกันเรื่อยไปตามกระบวนการแห่งจิตนิยาม เพื่อทำหน้าที่รับรู้ต่อวัตถุที่มากระตุ้น กระบวนการทำงานของวิญญาณ ทั้งที่เป็นภวังคจิตและวิถีจิต ในทางพระอภิธรรม แบ่งออกเป็น ๑๗ ขั้นตอน โดยถือให้ภวังคจิตเป็นกระบวนการที่หนึ่ง ที่เหลืออีก ๑๖ กระบวนการจัดอยู่ในวิถีจิต กระบวนการทำงานของจิตทั้ง ๑๗ ขั้นตอนอาจจัดแบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็น ๔ ระยะคือ
ระยะที่หนึ่ง เริ่มตั้งแต่ภวังคจิตที่ได้รับการกระตุ้นต่อการรับรู้ในระดับปานกลางที่เกิดขึ้นต่อจากภวังคจิตดับลง
ระยะที่สอง วิถีจิตเริ่มทำหน้าที่ต่อการรับรู้ การไตร่ตรองตรวจสอบ และการตัดสินใจ ได้ดีขึ้นกว่าในระยะที่หนึ่ง
ระยะที่สาม วิถีจิตสามารถรับรู้ได้อย่างสมบูรณ์
ระยะที่สี่ วิถีจิตที่สามารถรับรู้และบันทึกข้อมูลจากสัญญาการรับรู้ได้อย่างสมบูรณ์ สามารถถ่ายทอดสัญญาให้กลายเป็นความทรงจำในระดับแรกๆ ได้ หลังจากกระบวนการทำงานของวิถีจิตในระยะที่สามและที่สี่ดับลง ภวังคจิตก็จะปรากฏติดตามมาเป็นกระแสหมุนเวียน เช่นนี้ตลอดไปจนกว่าวิญญาณจะดับลงจากเหตุปัจจัย
" เช่นเดียวกันกับกระแสแห่งวิญญาณ ภวังคจิตก็มีการเกิดขึ้น ( อุบัติ ) ตั้งอยู่ ( ฐิติ ) และดับลง ( ภังคะ ) เป็นกระแสที่เกิดดับเลื่อนไหลไม่เคยคงที่คงอยู่เหมือนเดิมแม้แต่ชั่วขณะเดียว "
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment