อนัตตากับขันธ์ ๕
จากการวิเคราะห์ในทางพุทธศาสนา ไม่ปรากฏว่ามีส่วนที่เป็นอัตตาอยู่เป็นอิสระเดี่ยวๆ หรือแทรกรวมอยู่ภายในขันธ์ ๕ ของคนเราแต่อย่างใด ขันธ์ ๕ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมีเพียงส่วนที่เป็นสสารที่เรียกว่า รูป กับส่วนที่เป็น อสสาร ที่เรียกว่า นาม อันประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ดังนี้
๑. รูปขันธ์ คือส่วนที่เป็นตัวร่างกายที่ประกอบขึ้นจากปฐมธาตุทั้งสี่ที่พุทธศาสนาเรียกว่ามหาธาตุรูป คือ ปฐพีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ รวมทั้งรูปลักษณะอื่นๆ อันเป็นผลมาจากมหาธาตุทั้งสี่ดังกล่าวนั้น ซึ่งในทางพุทธศาสนาเรียกว่า อุปาทายรูป ( มีทั้งหมด ๒๔ อย่าง ) ได้แก่ ส่วนที่ประกอบเป็นอวัยวะรับความรู้สึกทั้งห้า ( ปสาทรูป ) และสิ่งที่กระตุ้นต่อความรู้สึก ( วิสัยรูป ) เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พร้อมทั้งส่วนอื่นๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายภายนอกและภายใน เช่น ภาวรูป หทัยรูป ชีวิตรูป อาหารรูป ปริจเฉทรูป วิญญัติรูป วิการรูป และลักขณรูป
๒. เวทนา เป็นหนึ่งในสี่ของส่วนที่เป็นนามหรือที่เรียกว่านาม ทำหน้าที่รับ " รส " ของอารมณ์ความรู้สึก ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ และที่เป็นกลางๆ
๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นมิติในการรับรู้ต่อประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ในการรับรู้ต่อสิ่งที่เป็นวัตถุ ร่างกาย และ ทางใจ ในรูปแบบของ การรับรู้ การเล็งเห็น การจำได้หมายรู้ และการซึมซับรับรู้ในอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ศาสตราจารย์ ริส เดวิดส์ ผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกเกี่ยวกับทางพุทธศาสนาได้ให้คำนิยามสัญญาขันธ์ ว่า คือ การกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ กล่าวคือการรับรู้จากประสาทสัมผัสที่เกี่ยวกับการเห็น การจำได้ การจัดแยกแยะชนิดประเภทของความทรงจำที่เกิดจากประสาทสัมผัสทั้งหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
๔. สังขารขันธ์ หมายถึงปฏิกิริยาทางจิตที่เกิดขึ้นชั่วขณะจากความคิดปรุงแต่งสังเคราะห์เสริมต่อจากการรับรู้ในอารมณ์ ( เวทนา ) และการจำได้หมายรู้ ( สัญญา ) เป็นสภาพที่จิตปรุงแต่งให้มีลักษณะ ดี หรือ ชั่ว หรือ กลางๆ ( กุศล อกุศล หรือ อุพยากฤต ) ซึ่งในพระอภิธรรม แบ่งลักษณะของสังขารออกเป็น ๕๐ แบบ
๕. วิญญาณขันธ์ พระพุทธโฆษาจารย์ ปราชญ์ทางคัมภีร์พุทธศาสนาให้คำนิยามว่า หมายถึงสิ่งทั้งหมดที่เป็นความตระหนักหรือความรู้แจ้งในอารมณ์จากทางอายตนะทั้งหกในขณะนั้น ซึ่งแตกต่างจาก เวทนา ซึ่งหมายถึงการรับรู้ การเสวยรสอารมณ์ความรู้สึก สุข ทุกข์ และที่เป็นกลางๆ
มีผู้รู้บางท่านให้นิยาม วิญญาณ ว่า การรับรู้ และนิยาม สัญญา ว่า การจำได้ วิญญาณมีลักษณะหกอย่างตามลักษณะของความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายนอกทำปฏิกิริยากับอวัยวะรับสัมผัสภายในกล่าวคือ รูป รส หู กลิ่น เสียง สัมผัส และ ธรรมารมณ์ ที่กระทบกับ ตา ลิ้น จมูก หู ประสาทสัมผัสทางผิวหนัง และทางจิตใจ
ขันธ์ทั้งห้า อันประกอบด้วยรูปและนามที่พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์คือส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นตัวคน ไม่พบว่ามี อัตตา อาตมันสถิตอยู่ภายใน ดังที่ผู้ที่ตกอยู่ในอวิชชาเชื่อก็หาไม่ เพราะขันธ์ห้าเมื่อนำมาแยกแยะแล้ว มีแต่ส่วนที่เป็น สสาร ( รูป ) หนึ่งส่วน กับที่เป็น อสสาร ( นาม ) อีกสี่ส่วน ที่รวมเรียกว่า จิต ซึ่งเปรียบได้กับจิตวิทยาทางตะวันตกที่แบ่งจิตออกเป็น ๓ ประเภท คือ affection ซึ่งค่อนข้างตรงกับคำว่าเวทนา Conation ตรงกับสังขาร ส่วน Cognition ตรงกับความหมายของคำว่า เวทนา สัญญา วิญญาณ รวมกัน
โปรดสังเกตว่า การอธิบายลักษณะเกี่ยวกับขันธ์ห้าในทางพุทธศาสนานั้น เป็นเพียงการยกตัวอย่างในทางนามธรรมมาเพื่อให้ผู้ศึกษาทำความเข้าใจ ซึ่งแท้จริงแล้วทุกอย่างไม่มีอยู่จริงเมื่อมองในปรมัตถสัจจะดังเช่นการแบ่งสังขารออกป็นห้าสิบอย่างดังกล่าวแล้วเป็นต้น เพราะกองขันธ์ทั้งหลายโดยปรมัตถ์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ แต่ต้องพึ่งพิงอาศัยกันซึ่งกันและกัน ซึ่งในคัมภีร์อภิธรรมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร รวมเรียกว่า " เจตสิก " หมายถึง สิ่งที่คอยควบคุมครอบครองการทำงานของวิญญาณในลักษณะต่างๆ ทั้งทางบวก ลบ และที่เป็นกลางๆ ซึ่งจะได้กล่าวในบทว่าด้วยทฤษฎีของวิญญาณ ต่อไป
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment