Friday, February 01, 2013

ทฤษฎีเกี่ยวกับอนัตตาในพุทธศาสนา

ทฤษฎีเกี่ยวกับอนัตตาในพุทธศาสนา

          คำว่า อนัตตา มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า อัตตา ตัวตนหรือดวงวิญาณ ( ในความหมายของทางศาสนาที่นับถือและเชือว่ามีพระเจ้า ) ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจกับทฤษฎีอนัตตา ควรทำความรู้จักกับคำว่า Soul หรือ ดวงวิญญาณ เสียก่อนดังนี้

          โดยความเป็นจริงแล้ว ศาสนาสำคัญที่มีคนนับถืออยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้ ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องของ " ดวงวิญญาณ " ว่าเป็นอมตะแทรกอยู่ภายในตัวมนุษย์ แต่มิใช่เป็นส่วนของร่างกายศาสนาเทวนิยมของชนชาติเซมิติก ( ยิว คริสต์ อิสลาม ) เรียกสิ่งนี้ว่า Soul หรือ ดวงวิญญาณ ( แต่มิได้หมายถึง วิญญาณ ในพุทธศาสนา ) ในศาสนาเทวนิยมของชาวอินโดอารยัน เรียกสิ่งนี้ว่า อัตตา - Atta ( บาลี ) หรือ อาตมัน - Atman ( สันสกฤต )

           ทั้งในศาสนาดั้งเดิมและศาสนาเทนิยมที่ผู้คนนับถือกันอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่า ดวงวิญญาณ เป็น อสสาร ที่สิงอยู่ในร่างกายคนเราตั้งแต่แรกเกิดแต่อาจจะลอยออกจากร่างไปได้ชั่วขณะในระหว่างที่จิตดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์ที่เป็นปีติสุข จิตที่อยู่ระหว่างการเข้าฌานหรือกำลังหลับสนิท แต่ดวงวิญาณจะลอยออกจากร่างคนตายเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ใน สวรรค์ นรก หรือ กลับมาสิงสถิตย์อยู่ในสัตว์โลกอีก แล้วแต่ผลของการกระทำ เกือบทุกศาสนามีความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณในลักษณะเช่นนี้ จะมียกเว้นก็แต่ในพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธในเรื่อง ดวงวิญญาณ อัตตา หรือ อาตมันดังจะกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายรวมทั้งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังเชื่อ " ดวงวิญญาณ " ในลักษณะที่กล่าวมาแล้วอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย



           เรื่องของ อนัตตา ปรากฏครั้งแรกจากการแสดงธรรมครั้งที่สองของพระพุทธองค์ใน อนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับอนัตตาอันถือเป็นคำสอนพิเศษเฉพาะของทางพุทธศาสนา

          ในทางความหมายของศัพท์ อนัตตา เป็นภาษาบาลี หมายถึง ไม่มีตัวตน ปราศจากตัวตน ไม่มีดวงวิญญาณ ไร้สาระแก่นสารดังนั้นคำว่า อนัตตา จึงหมายถึงทฤษฎีว่าด้วยการไม่มีตัวตนที่ปฏิเสธทฤษฎีการมีตัวตน อันเป็นความเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่มีมาก่อนสมัยและในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมค้านแนวความคิดดังกล่าวซึ่งในที่นี้จะขอนำเอาทฤษฎีความเชื่อในเรื่องอัตตาสองแบบมาอธิบายเพื่อเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจในทฤษฎีอนัตตา

อุจเฉทวาท กับ สัสสตวาท

           ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง อัตตา ปรากฏว่ามีมากกว่าหกสิบชนิดในพรหมชาลสูตรของปรัชญาอินเดีย แต่ในกถาวัตถุอันเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงจัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ อุจเฉททิฏฐิ ที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ กับ สัสสตทิฏฐิ ที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดใหม่ซึ่งพระองค์ทรงสอนให้เชื่อและดำเนินทางสายกลาง โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงปรัชญาทั้งสองที่จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่สุดโต่งทั้งคู่

           ปรัชญาอุจเฉทวาท เชื่อว่าในร่างกายและจิตใจของมนุษย์แม้ว่ามีวิญญาณสากลสถิตอยู่ก็จริง แต่เป็นเพียงชั่วคราวตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ ครั้นเมื่อตายลง วิญญาณนั้นก็ดับสูญไปพร้อมกับการสิ้นสลายของร่าง ไม่มีอะไรที่คงทนถาวรอยู่อีกต่อไปหลังความตายดังนั้น การกลับชาติมาเกิดใหม่จึงเป็นไปไม่ได้ นี่คือปรัชญา " ตายแล้วสูญ " ตามแนวความคิดของอชิตเกสกัมพล นักปราชญ์ที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ที่เชือว่า ไม่มีการเกิดใหม่ แบบเดียวกับแนวคิดของสาร์ต นักปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสม อชิตเกสกัมพล กล่าวว่า คนเราประกอบขึ้นด้วยธาตทั้งสี่ เมื่อร่างกายแตกดับ ธาตุเหล่านั้นก็จะกลับไปสู่มหาธาตุอันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทุกอย่างสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ ดังนั้นปรัชญาสสารนิยมของอินเดียบรรยายความเห็นของฝ่ายอุจเฉทวาทไว้ดังนี้

             " ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ และ ลม เป็นเพียงองค์ประกอบที่ปรุงแต่งกันขึ้นเป็นร่างกายและวิญญาณ เช่นเดียวกับพลังของสารพิษที่เกิดขึ้นจากการผสมของส่วนประกอบบางอย่างเมื่อธาตุเหล่านี้สลายลง พลังแห่งวิญญาณย่อมจะดับตามโดยพลัน ดังนั้น ตัวตน หรือ อาตมัน จึงเป็นเพียงร่างกายที่มีคุณสมบัติพิเศษของสิ่งที่พากันเรียกว่า วิญญาณ "

            ส่วน ปรัชญาสัสสตวาท เชื่อตรงข้ามกับปรัชญาอุจเฉทวาท ชาวสัสสตวาทไม่เพียงแต่เชื่อว่า วิญญาณอันเป็นสากลนั้นมีและสถิตอยู่จริง แต่ยังเชื่อต่อไปอีกว่า วิญญาณนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ตายและคงอยู่ชั่วนิรันดร์ วิญญาณที่ว่านี้เป็น นิจจัง สุขัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อเช่นนี้เป็นนักคิดฝ่ายอุปนิษัทที่มีมาในสมัยเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ถือเป็นปรัชญาดั้งเดิมที่วางรากฐานความเชื่อเกี่ยวกับ ตัวตนที่ถาวร หรือ อาตมัน ไว้ให้กับปรัชญาอินเดียที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ ก่อนที่เราจะศึกษา ทฤษฎีอนัตตา ตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาต่อไป






By แก่นพุทธศาสนา

No comments:

Post a Comment