เล่ห์เหลี่ยมและอุปนิสัยแปลกประหลาด
พฤติการณ์พิกลและความสามารถพิศดาร
เป็นรากเหง้าแห่งความวิบัติในการดำรงตน
มีแต่คุณธรรมความประพฤติอันเป็นปกติธรรมดาสามัญ
จึงจะสามารถขจัดความสับสนปนเป
แยกชั่วดีได้ชัดเจน
นำมาซึ่งความสันติสุข
นิทัศน์อุทาหรณ์
นายอำเภอลากเรือในสมัยราชวงศ์จิ้น อินหงเฉียวเตรียมตัวจะไปรับตำแหน่งขุนนางที่ยี่จาง ก่อนจะออกเดินทางไป คนในเมืองหลวงฝากจดหมายให้เขาไปช่วยส่ง ๑๐๐ กว่าฉบับ แต่หารู้ไม่ว่า พอเขาเดินทางถึงเมืองสื้อโถวเฉิงยังไม่ทันจะถึงครึ่งทางเท่านั้น ก็โยนจดหมายเหล่านั้นลงไปในแม่น้ำหมด ซ้ำยังบ่นกับตัวเองอีกว่า จะไม่ยอมเป็นคนรับใช้ใครเป็นอันขาด
การกระทำของเขาดังนี้ คงจะไม่มีใครเห็นเขาว่าทำถูกเป็นแน่ตรงกันข้าม คนทั้งหลายคงจะวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พฤติการณ์ของเขาแปลกคนนัก ไร้สัจจะเป็นอย่างยิ่ง
ในสมัยราชวงศ์ชิง มีนายอำเภออยู่คนหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติของเขามิใช่ธรรมดาสามัญเลย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขุนนางใหญ่เดินทางมาถึงอำเภออี๋ชาง เตรียมที่จะไปยังถ้ำสามกวี ตามระเบียบแล้วเป็นหน้าที่ของนายอำเภอผู้นี้ ที่จะต้องจัดการให้ตามความประสงค์
ดังนั้น ขุนนางผู้ใหญ่จึงลงเรือที่นายอำเภอเตรียมไว้ให้ เรือแล่นทวนน้ำไปยังถ้ำสามกวี ระหว่างทาง ทัศนียภาพสวยงามยิ่งนัก ขุนนางผู้ใหญ่ชมทิวทัศน์ไปพลาง สนทนากับผู้ติดตามไปพลางด้วยความเบิกบาน
ผู้ติดตามคนหนึ่งมองขึ้นไปบนฝั่ง ก็ให้รู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง คนที่ลากเรือให้พวกเขานั่งทวนน้ำขึ้นไปนั้น ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นนายอำเภอผู้ต้อนรับขับสู้พวกเขาคนนั้น !
ขุนนางผู้ใหญ่รู้สึกประหลาดใจ จึงเชิญนายอำเภอมาใต่ถาม นายอำเภอตอบว่า
" ท่านครับ ตอนนี้เป็นฤดูทำนา ราษฏรทั้งหลายต่างลงนากันหมดไม่มีใครว่างเลย ถ้าข้าพเจ้าไปเกณฑ์พวกเขามา ก็จะทำให้งานนาต้องเสียหายหรือล่าช้าไป ข้าพเจ้าจึงลากเรือเสียเองเพื่อไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่น "
ขุนนางผู้ใหญ่คนนั้นฟังแล้ว ก็รู้สึกละอายใจเป็นอย่างยิ่ง สั่งยกเลิกการท่องเที่ยวในคราวนั้นทันที
เป็นขุนนางเหมือนๆ กัน อินหงเฉียวไม่ยอมรับใช้คนอื่น โยนจดหมายซึ่งผู้ฝากหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งอยู่ห่างไกลแสนไกลได้รับข่าวสารของตนทิ้งเสียอย่างง่ายๆ คนประเภทนี้จะเป็นขุนนางสร้างความผาสุขแก่สังคมได้อย่างไร ?
ส่วนนายอำเภอผู้รักราษฎรคนนั้น เขายินดีทำงานอันต่ำต้อยเป็นกุลีแทนชาวบ้านอย่างมิได้รังเกียจเกี่ยงงอนอะไรเลย คนในอำเภอเมื่อเอ่ยถึงเขาต่างก็พากันชื่นชม
คนที่ถือดีทะนงตน กับคนที่มีความประพฤติธรรมดาสามัญใครควรจะยึดถือเป็นแบบอย่าง ?
คุณค่าของคน มิได้อยู่อาศัยการแสดงความสามารถพิเศษพิศดารเพื่อสร้างชื่อเสียง หรือแสวงหาความสนใจจากคนอื่นแต่ประการใดทั้งสิ้น หากอยู่ที่การใช้อุปนิสัยเดิม และความประพฤติอันธรรมดาสามัญของตน มาอยู่ร่วมกันกับคนทั้งหลายอย่างไม่ถือเขาถือเรา นี้จึงจะนับเป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง !
By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )
No comments:
Post a Comment