คนมุทะลุมักง่าย
จักทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ
คนสุขุมเยือกเย็น
โชคจักค้ำจุนหนุนเนื่อง
นิทัศน์อุทาหรณ์
อู๋กังกับนกแก้วน้อยมีนิทานโบราณอยู่เรื่องหนึ่ง
มีชายคนหนึ่งชื่ออู๋กัง เป็นคนชาวเมืองซีเหอในสมัยราชวงศ์ฮั่น เขาคิดแต่อยากจะเป็นเทวดา แต่มีอยู่คราวหนึ่งเขาไม่ระมัดระวังตัว เกิดทำความผิดขึ้น อาจารย์ของเขาจึงลงโทษใหไปตัดต้นกุ้ยบนดวงจันทร์และได้ตกลงกันว่า เมื่อใดที่เขาโค่นต้นกุ้ยลงได้ ก็กลับมาบำเพ็ญธรรมเพื่อให้สำเร็จเป็นเทวดาต่อไป
อู๋กังนำกล่องอาหารไปยังใต้ต้นกุ้ยบนดวงจันทร์
" โธ่เอ๋ย ต้นกุ้ยนี่เล็กนิดเดียว อาศัยกำลังของอู๋กัง ข้าฯ ฟัน ๒ -๓ ทีก็ล้มแล้ว พรุ่งนี้ข้าจะได้กลับไปบำเพ็ญธรรมเพื่อเป็นเทวดาต่อไป "
ว่าแล้ว อู๋กังก็จับขวานขึ้นฟันต้นกุ้ย เมื่อต้นกุ้ยใกล้จะล้ม มีนกแก้วตัวหนึ่งบินมาจากที่ใดก็ไม่รู้ เห็นกล่องอาหารของอู๋กังที่วางอยู่ข้างๆ ก็ตรงเข้าไปกินอย่างเอร็ดอร่อย
อู๋กังเห็นเช่นนั้นก็โกรธ หันมาไล่นกแก้วน้อย " ไปให้พ้น เจ้านกแก้วตะกละหน้าด้าน แอบมาลักกินอาหารคนอื่น "
ไล่นกแก้วน้อยนั่นไปได้แล้ว ต้นกุ้ยก็ประสานเนื้อของตนเองให้กลับดังเดิม อู๋กังผู้ขัดเคืองก็เริ่มฟันต้นกุ้ยใหม่ พอต้นกุ้ยใกล้จะล้ม เจ้านกแก้วก็ปรากฏตัวออกมาอยู่ข้างกล่องอาหารนั้นอีก อู๋กังจึงยกขวานฟันเจ้านกแก้วน้อยด้วยความแค้น ปากก็ด่าว่า " นกระยำ ดูว่าเจ้าจะหนีไปไหนพ้น ! "
ก็เป็นเรื่องแปลก ทุกครั้งที่อู๋กังฟันต้นกุ้ยใกล้จะล้ม นกแก้วน้อยเป็นต้องปรากฏตัวออกมาทุกทีไป ทำเอาจิตใจของอู๋กังต้องวอกแวกอยู่ตลอดเวลา ฟันต้นกุ้ยไปพลางคอยเฝ้าดูกล่องอาหารไปพลาง หันไปทางโน้นที ทางนี้ที อู๋กังไม่แต่จะฟันต้นกุ้ยไม่ล้ม ความใฝ่ฝันที่จะเป็นเทวดาก็สิ้นหวัง อู๋กังทั้งเหนื่อยทั้งแค้นแทบล้มประดาตาย
อาจจะมีคนคิดว่า " ก็อย่าไปยุ่งกับเจ้านกแก้วมันก็สิ้นเรื่อง สงบอกสงบใจฟันต้นกุ้ยไปเรื่อยๆ ต้นกุ้ยก็จะล้มได้ไม่ยากนัก ? "
ถูกแล้ว เพราะอู๋กังใจร้อนเกินไป จึงทำอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง ถ้าหากเขาสามารถที่จะสงบอกสงบใจได้โดยตลอดแล้ว มิใช่แต่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ เท่านั้น คงจะสามารถสำเร็จเป็นเทวดาอย่างสบายใจในทันทีด้วย
นิทานเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ มันเป็นเทพนิยาย แต่การเหยีบดวงจันทร์ของมนุษย์เราได้ทำให้ดวงจันทร์คลายความศักดิ์สิทธิ์ไปเป็นอันมากแล้ว การหยิบยกเอาเทพนิยายเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ก็เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า พิษร้ายของความใจร้อนมุทะลุ มีแต่ทำความเสียหายให้อย่างเดียว
By หงอิ้งหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ( สายธารแห่งปัญญา )
No comments:
Post a Comment