Friday, October 10, 2014

ตัดเสื้อต้องวัดตัว


ตัดเสื้อต้องวัดตัว

         ในสมัยกษัตริย์หมิงซื่อจง ( ค.ศ. 1522-1566 ) แห่งราชวงศ์เหม็ง มีช่างตัดเสื้อมีชื่อคนหนึ่งอยู่ในเมืองหลวง เสื้อผ้าที่เขาตัดจะสั้นยาวพอดีดูสวยงามเหมาะสมกับคนใส่ ฉะนั้นเขาจึงมีชื่อมาก

         ครั้งหนึ่ง มีขุนนางผู้หนึ่งเรียกเขาไปหาเพื่อตัดเสื้อชุดสำหรับเข้าเฝ้ากษัตริย์ในพระราชวัง เมื่อชายผู้นั้นวัดตัวเรียบร้อยแล้วก็ถามว่า " ใต้เท้ารับราชการมาเป็นเวลานานเท่าไรแล้วขอรับกะผม ? "

         ขุนนางผู้นั้นฟังแล้วรู้สึกแปลกใจ ถามเขาว่า " หน้าที่ของแกก็คือวัดตัวตัดเสื้อเท่านั้น จะรู้เรื่องเช่นนี้ไปทำไม ? "

         ช่างตัดเสื้อตอบว่า " ขุนนางหนุ่มที่เพิ่งเข้ารับราชการ เมื่อมีตำแหน่งสูงก็จะเกิดความพึงพอใจเวลาเดินจะยืดอก เมื่อตัดเสื้อก็จะต้องตัดชายเสื้อข้างหลังสั้นข้างหน้ายาว รับราชการไปได้กึ่งอายุเกษียณ จิตใจจะค่อยสงบลงบ้างเล็กน้อย เสื้อที่จะตัดก็ต้องใช้ชายเสื้อข้างหน้าและข้างหลังเท่ากัน เมื่อรับราชการมานานจวนจะครบเกษียณ จิตใจจะรู้สึกไม่สบาย เวลาเดินก้มหน้าตัวไม่ตรงเหมือนก่อน เสื้อที่ตัดก็จะต้องให้ชายเสื้อข้างหน้าสั้นข้างหลังยาว ด้วยเหตุนี้ ถ้ากระผมไม่ถามเวลารับราชการของใต้เท้าให้ชัดแล้ว จะตัดเสื้อให้เข้ารูปและถูกใจได้อย่างไรขอรับกระผม "

บันทึกใน " จี้หยวนจี้ส่อจี้ "



มุมมองปรัชญา

         นิทานเรื่องนี้ ก่อนอื่นได้แสดงให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่ต่างกันสามชนิดของขุนนางในสมัยศักดินา ซึ่งมีทั้งลักษณะทั่วไปและลักษณะที่จะต้องเป็นไป ด้วยเหตุนี้ ช่างตัดเสื้อฝีมือดีผู้นั้นจึงต้องการรู้อายุราชการเพื่อเอามาประกอบการพิจารณาในเวลาตัดเสื้อ

         ความจริงอายุราชการนั้น ดูเผินๆ แล้วไม่มีอะไรน่าจะเกี่ยวกับการตัดเสื้อ แต่ในทางเป็นจริงเนื่องด้วยมันมีผลต่อสภาพร่างกายของคนเรา ฉะนั้น จึงมีความสัมพันธ์กันในทางอ้อม

         ลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น นอกจากกำหนดโดยคุณลักษณะของตัวมันเองแล้ว ยังได้รับผลสะเทือนเนื่องจากสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ด้วย บางครั้งความสัมพันธ์ก็เกี่ยวก่ายกันจนยากที่คนเราสังเกตเห็น นี่เป็นเหตุที่ให้เราต้องทำการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างลุ่มลึกและรอบด้าน สะสมประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ หลังจากนั้นจึงไปค้นหากฎที่มีลักษณะทั่วไปและลักษณะที่จะต้องเป็นไปออกมา





By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน 

No comments:

Post a Comment