Wednesday, August 27, 2014
ปราชญ์ไม่เคยเกิดกับคนวัยหนุ่ม
ปราชญ์ไม่เคยเกิดกับคนวัยหนุ่ม
จริงหรือไม่กับคำว่า " ปราชญ์... ไม่เคยเกิดกับคนวัยหนุ่ม " ถ้าหากเรามองดูและคิดให้ลึกอย่างละเมียดละไมและใจเปิดกว้าง จะเห็นว่าคนญ่ปุ่นนั้นเขากล่าวคำนี้ได้ตรงมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง
คนหนุ่มนั้นเป็นช่วงอายุของคนที่กำลังอยู่ในภาวะคิดเร็วทำเร็วตามประสาคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจากช่วงวัยรุ่นและการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบในบางครั้งการทำอะไรที่เร็วอาจจะทำให้สิ่งที่ทำนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและต้องใช้เวลาในการค้นหาความรู้อย่างเต็มพละกำลัง เพื่อมิให้เวลาที่ผ่านมาในแต่ละวันนั้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
เมื่อเราลองนึกถึงนักสร้างหนังจากแดนอาทิตย์อุทัย ชื่อของ อากิระ คุโรซาวา คงเป็นอันดับแรกที่คนนึกถึง และก็ยังคงเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการภาพยนต์นานาชาติ ผลงานของเขานั้นลุ่มลึกในปรัชญาของการดำเนินชีวิต ที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านวันเวลา ผ่านความคิดในแต่ละช่วงวัยชีวิตและการทำงานของเขา
สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาทางศิลปะ คุโรซาวามีโอกาสได้สร้างหนังโดยผลงานในช่วงแรกๆ เป็นหนังที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างชัดเจน เพื่อสร้างค่านิยมแห่งความรักชาติ เช่นเรื่อง The Men Who Tread the Tiger's Tail (1945) เป็นต้น แม้จะเป็นช่วงต้นๆ ในการสร้างภาพยนต์ แต่คุโรซาวาก็มุมานะจนทลายกรอบจำกัดความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะได้
ผลงานแรกของเขาที่ทำให้คนทั้งโลกต้องหันมามองผู้กำกับชาวญี่ปุ่นคนนี้ก็คือ Rashomon (1950) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่เล่าผ่านมุมมองของคนห้าคน และเรื่อง Seven Samurai (1954) ซึ่งมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับหนังคาวบอยแนวตะวันตกของชาวอเมริกัน
คุโรซาวาเป็นผู้กำกับที่สามารถเลือกสรรเทคนิคต่างๆ มาใช้เล่าวิกฤตและสถานการณ์อันยากลำบากต่างๆ ได้อย่างเหมาะเจาะ ผลงานเด่นๆ ในช่วงปีแรกๆ ของเขาประกอบด้วย The Idiot (1951), Ikiru (1955), Record of a Living Being (1955), Throne of Blood (1957), Yojimbo (1961) เป็นต้น
แต่หลังจากมีผลงานเรื่องเยี่ยมออกมาจำนวนหนึ่ง ด้วยวัยที่มากขึ้น มองโลกด้วยตาและหัวใจที่เปิดมากขึ้น คุโรซาวาก็เริ่มมองหาช่องทางใหม่ที่จะแสดงถึงความคิดของเขาสอดแทรกลงไป เช่น ในเรื่อง Drunken Angel (1948) ตลอดจน Rhapsody in August (1991) เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยเจ็ดสิบต้นๆ คุโรซาวา เริ่มเลือกงานที่ะสร้างอย่างพิถีพิถันยิ่งขึ้น
และผลที่ปรากฎก็แสดงอย่างชัดเจนในตัวหนังเอง ด้วยแนวความคิดและความลึกทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากฉากหลังอันยอดเยี่ยม ผลงานเด่นๆ ในช่วงนี้รวมถึงเรื่อง Ran (1985), Yume หรือที่รู้จักกันในชื่อ Dreams (1990) ที่นำความฝัน 7 ตอนมาเรียงร้อยได้อย่างสวยงาม และผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Madadayo (1993)
อากิระ คุโรซาวา มีหลายคนยกย่องเขาว่า " ยิ่งแก่ลงงานของเขาก็ยิ่งลึก " และยิ่งใหญ่จนยากที่ใครจะปฏิเสธได้ กลายเป็นหนึ่งในตำนานของโลกภาพยนต์ที่ไม่มีใครลืมเขาได้เลย
By ปรัชญา " ซามูไร "
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment