คดีกวางใต้ใบตอง
ในสมัยชุชิว ( ๗๗๐ - ๔๗๖ ปีก่อน ค.ศ. ) มีคนตัดฟืนของรัฐเจิ้งคนหนึ่งขึ้นไปตัดฟืนบนภูเขา ขณะที่เขาเดินอยู่บนเขานั้นมีกวางตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากป่าด้วยความตื่นตกใจ ชายผู้นั้นจึงเอาขวานฟันกวางที่อ้วนพีตัวนั้นตาย เดิมทีเขาคิดว่าเวลากลับบ้านค่อยแบกเอากวางกลับไป แต่เมื่อคิดดูอีกทีก็กลัวว่าถ้ามีคนมาเจอก็จะเอาไปเสีย ด้วยเหตุนี้เขาจึงเอากวางไปซ่อนไว้ในคูแห้งที่ไม่มีน้ำ แล้วตัดใบตองมาปิดไว้อย่างมิดชิด
เนื่องจากชายคนตัดฟืนผู้นั้นดีใจมากเกินไป ฉะนั้นเวลากลับบ้านจึงจำไมไ่ด้ว่าเขาเอากวางไปซ่อนไว้ที่ไหน พยายามหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขารู้สึกแปลกใจและงุนงงมาก จนกระทั่งคิดว่าตนเองคงจะฝันไปมากกว่า ระหว่างกลับบ้าน พอเจอคนเขาก็เล่าความฝันที่แปลกประหลาดนี้ให้ฟัง มีชายเกียจคร้านคนหนึ่งเมื่อได้ฟังแล้วเขาก็จดจำคำเล่าไว้ และขึ้นเขาไปเที่ยวหากวางตัวนั้นตามที่คนตัดฟืนเล่าและบังเอิญได้พบกวางตัวนั้นที่ในคู
ชายเกียจคร้านผู้นั้นจึงแอบเอากวางกลับมาบ้านบอกกับเมียด้วยความดีใจว่า " มีคนตัดฟืนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาฝันว่าเขาเอาขวานจามกวางตัวหนึ่งตายแต่เกิดลืมสถานที่ที่เขาเอากวางซ่อนไว้ แต่แล้วข้าก็ไปค้นหาจนพบฝันของเขาช่างดีเหลือเกิน ! "
" อย่าเพิ่งดีใจไป " ภรรยาของเขาจุ๊ปากแล้วกล่าวต่อไปว่า " ตัวท่านเองก็คงจะกำลังฝันไปว่าคนตัดฟืนได้กวางตัวนั้นกระมัง ? มีคนตัดฟืนจริงๆ หรือ ? ท่านได้กวางตัวนี้มาก็คือท่านกำลังฝัน "
ชายเกียจคร้านตอบว่า " ข้าได้กวางมาแล้วก็แล้วกัน จะต้องไปสนใจว่าใครฝันไม่ฝันทำไม "
ส่วนชายตัดฟืนเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ยังไม่ลืม " ความฝัน " ของตน ตกดึกเขาก็ฝันเห็นสถานที่ที่เขาเอากวางซ่อนไว้ ซ้ำยังฝันว่ากวางถูกชายเกียจคร้านผู้นั้นเอาไป รุ่งเช้า คนตัดฟืนก็เดินไปตามทางที่เขาฝันเห็นเมื่อคืนนี้ และไปถึงบ้านชายเกียจคร้านเห็นได้ว่ากวางตัวนั้นที่กลางบ้าน ทั้งสองคนต่างโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดงว่ากวางเป็นของตนในที่สุดก็พากันไปขึ้นศาล
เมื่อตุลาการถามความเป็นมาของเรื่องราวเสร็จก็กล่าวกับชายตัดฟืนว่า " เจ้าเป็นคนที่ได้กวางตัวนี้จริง แต่กลับพูดว่าเป็นความฝัน หลังจากนั้นก็ฝันว่ากวางถูกคนอื่นเอาไป แล้วก็คิดว่าเป็นเรื่องจริง ส่วนเจ้านั้น " ตุลาการหันมาพูดกับชายที่เกียจคร้าน " เจ้าไปหากวางตัวจนพบ แต่ภรรยาของเจ้ากลับว่าเจ้าฝันไป จากนี้ก็จเห็นได้ว่า เจ้าทั้งสองล้วนแต่ฝันไปทั้งนั้น ความจริงไม่มีใครได้กวางตัวนี้เลย แต่เวลานี้มีกวางอยู่ตัวหนึ่ง ฉะนั้นเจ้าแบ่งกันคนละครึ่งตัวก็แล้วกัน "
หลังนจากกษัตริย์แห่งรัฐเจิ้งทรงฟังเรื่องชำระคดีดังกล่าวนี้แล้ว พระองค์ทรงพระสรวลตรัสว่า " ตุลาการที่ชำระคดีผู้นี้ก็กำลังฝันเหมือนกัน "
บันทึกใน " เลี่ยจื่อ "
มุมมองปรัชญา
นิทานเรื่องนี้ มีคนนำมาเปรียบเทียบกับวิธีคิดที่ท้อแท้ โดยถือเอาเรื่องจริงเป็นเรื่องฝัน จากชายตัดฟืนที่เป็นคนฆ่ากวาง ชายเกียจคร้านและภรรยาของเขาตลอดจนตุลาการและกษัตริย์แห่งรัฐเจิ้ง ล้วนเอาเรื่อที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นความฝันเอาความฝันมาเป็นเรื่องจริง ความฝันไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง ความจริงจึงเป็นสิ่งที่เป็นจริง จริงกับไม่จริงควรจะต้องมีความแตกต่าง
By ปรัชญาชีวิตใน สุภาษิตจีน
No comments:
Post a Comment