Sunday, April 27, 2014

สัจธรรมแห่งมรรค


สัจธรรมแห่งมรรค

          ครั้งหนึ่ง เจ้าโจวมีโอกาสไปเยี่ยมฌานาจารย์หนานเฉฺวียน จึงถามท่านว่า " มรรคคืออะไร ? " ฌานาจารย์หนานเฉฺวียนตอบว่า " มรรคคือจิตปกติ "

          เจ้าโจวรู้สึกงุนงง จึงถามต่อไปว่า " ถ้าเช่นน้ัน เราไม่จำเป็นต้องบำเพ็ญเพียร ปล่อยตัวสบายตามธรรมชาติ ก็คือ ' มรรค ' แล้ว ? "

         ฌานาจารย์หนานเฉฺวียนตอบว่า " ถ้าเจ้าต้องการหาหลักยึด ก็ไม่ใช่มรรคแล้ว สิ่งที่อธิบายก็ไม่ใช่มรรคแล้ว "

         เจ้าโจวถามต่อไปว่า " แต่การบำเพ็ญเพียรโดยปราศจากหลักยึดสามารถเข้าถึง ' มรรค ' หรือ ? "

         ฌานาจา่รย์หนานเฉฺวียนจึงแนะนำสั่งสอนว่า " มรรค มิได้อยู่ที่รู้หรือไม่รู้ ถ้าบอกว่าพบมรรคแล้ว ที่ว่ารู้นั้นเป็นเพียงอุปาทานอย่างหนึ่งถ้าบอกว่าไม่รู้ ก็เปรียบดังเช่นความหลงลืม เมื่อถึงขั้นสิ้นอาสังกา ก็เปรียบดังเช่นสุญภาวะ สรรพสิ่งรวมอยู่ในสุญภาวะ ซึ่งไม่มีสภาพตรงข้าม ไม่มีทวิลักษณะ ดังเช่นน้ำดับไฟได้ ไฟต้มน้ำเดือดได้ เจ้าว่าน้ำกับไฟแตกต่างกันหรือไม่ ? "



          เจ้าโจวฟังจบ ก็เกิดความสว่างไสวเข้าใจแจ่มแจ้ง

          จิตปกติคือ มรรค จิตปกติคือดวงจิตที่แท้ ไม่มีกังวล ไม่มีสงสัย ไม่เข้าใจผิด เมื่อควรยอมรับผิด ก็กล้าที่จะรับผิด ควรสำนึกตอบแทนบุญคุณ ก็จะสำนึกตอบแทนบุญคุณ เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการศึกษามรรค ยกเว้นยามหิวกินข้าว ยามง่วงหลับนอนแล้ว ยังต้องมองโลก มองชีวิต และปัญหาใกล้ตัวอื่นๆ ด้วยจิตปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะสามารถเข้าใจสัจธรรมแห่งมรรคในที่สุด




By เซน : วิถีแห่งความสุขที่แท้

No comments:

Post a Comment