ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม
เราทราบแล้วว่า ในทางพุทธศาสนา สิ่งต่างๆ ทั้งหลายย่อมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น กฎธรรมชาติคือกฎแห่งเหตุปัจจัยนำเหตุไปสู่ผล แบ่งออกเป็น ๕ อย่างซึ่งภายใน ๕ อย่างนั้นมีกฎแห่งกรรมรวมอยู่ด้วย ดังนั้นผลของกรรมหรือวิบากที่ได้รับอาจขึ้นอยู่กับการกระทำกรรมเพียงอย่างเดียว หรืออาจตกอยู่ใต้เหตุปัจจัยอันเนื่องมาจากกฎข้ออื่นเช่นเดียวกันกฎธรรมชาติที่ว่านี้ประกอบด้วย
๑. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติหรือกฎทางฟิสิกส์ที่คอยควบคุมการเปลี่ยนแปลงวัตถุธรรมทั้งหลาย เช่น ความร้อนหรืออุณหภูมิ ดังที่เราเคยเรียนรู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป
๒. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับทางชีววิทยาที่ควบคุมสิ่งที่มีชีวิต เช่นกฏทางด้านพันธุกรรม ดังที่พุทธศาสนานำมาอธิบายในเรื่องผลของกรรมด้วยสุภาษิตที่ว่า " ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ใด ย่อมให้ผลพันธุ์นั้น " เสมอ
๓. จิตนิยาม กฎธรรมชาติว่าด้วยการทำงานของจิต ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เกิดเป็นเวทนาหรือกระบวนการในการรับรู้ตลอดจนเป็นสังขารปรุงแต่งทั้งหลายภายใต้การควบคุมของกิเลสตัณหาต่างๆ ที่เรียกว่าเจตสิก ทั้งดี ชั่ว และเป็นกลางๆ
๔. กรรมนิยามหรือกฎแห่งกรรม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการกระทำ ( กรรม ) และผลของการกระทำ ( วิบาก ) ที่เกิดจากความตั้งใจหรือเจตนา เป็นกฎที่ควบคุมและก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์
๕.ธรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติข้อใหญ่ที่รวมสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฎข้ออื่นๆ ไว้ทั้งหมด เป็นตัวควบคุมสรรพสิ่งทั้งหลายให้อยู่อย่างสัมพันธ์หรือเป็นเหตุปัจจัยต่อกันด้วยการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามกฎไตรลักษณ์
หากเราเชื่อว่า โลกใบนี้ส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยกฎธรรมชาติและอีกส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยน้ำมือของมนุษย์แล้ว กฎธรรมชาติและอีกส่วนหนึ่งถูกควบคุมโลกส่วนใหญ่ ในขณะที่กฎแห่งกรรม คือตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำและผลของการกระทำทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กฎแห่งกรรมเป็นกฎที่ควบคุม การคิดการทำอันเกิดจากเจตนาหรือความตั้งใจของมนุษย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกี่ยวกับกฎธรรมชาติข้ออื่นหรือไม่ก็ตาม แต่ความสำคัญก็คือมนุษย์คือผู้สร้าง ผู้ควบคุมผู้ก่อและเป็นผู้ได้รับผลแห่งกรรมนั้นๆ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า " กัมมุนา วัตตตี โลโก - โลกย่อมหมุนไปตามกรรม " หรือ " ทำกรรมใดย่อมได้รับผลของกรรมนั้น " ดังนี้
มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมตามคำสอนทางพุทธศาสนาในเรื่องของกรรมและการหมดสิ้นกรรม ซึ่งคำสอนเหล่านี้มีอยู่ในศาสนาต่างๆ มากมายโดยเฉพาะศาสนาอินเดียที่เกิดร่วมสมัยกับพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงจัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิด ซึ่งผู้ศึกษาพุทธธรรมควรทำความเข้าใจให้กระจ่าง เพื่อที่สามารถแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือคำสอนที่เป็นกฎแห่งกรรมในศาสนาอื่น และคำสอนใดที่เป็นสัมมาทิฏฐิในทางพุทธศาสนา ดังนี้
๑. คำสอนเรื่องกรรมในศาสนาเซน โดยท่านนิครนถ์บุตรที่กล่าวว่า สุข ทุกข์ ทั้งหลายย่อมเป็นผลมาจาก " กรรมเก่า " หรือกรรมที่ทำไว้ชาติก่อน เรียกว่า ปุพเพกตวาท
๒. คำสอนในศาสนาพราหมณ์ ที่กล่าวว่า สุข ทุกข์ ทั้งหลายที่มนุษย์ได้รับเป็นเพราะการดลบันดาลของพระพรหม หรือ การดลบันดาลของเทพผู้เป็นใหญ่ เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท
๓. คำสอนในปรัชญา อเหตุวาท เช่นคำสอนของท่านอชิตเกส กัมพล ที่กล่าวว่า สุข ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามโชคชะตาลอยๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย หรือเป็นไปตาม " ดวง " ดังที่นิยมกล่าวกันในสมัยนี้
นอกจากปรัชญาคำสอนทั้งสามประเภทนี้แล้วยังมีทฤษฎีความเชื่ออีกสองชนิดที่พุทธศาสนาปฏิเสธ คือ ความเชื่อที่ว่า สุข ทุกข์ ทั้งหลายเป็นเพราะตนเองเป็นผู้ก่อ ( อัตตการวาท ) กับความเชื่อที่ว่า สุข ทุกข์ทั้งหลายเป็นเพราะมีตัวการอื่นเป็นผู้ทำ ( ปรกาวาท ) ซึ่งพุทธศาสนาถือว่าเป็นคำสอนที่สุดโต่งไม่เป็นไปตามทางสายกลางเป็นคำสอนที่ทำให้เกิดความเข้าใจในเรืองกรรมไขว้เขวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพราะการกระทำของตนเองทั้งสิ้นหรือเป็นเพราะผู้อื่นสิ่งอื่นทำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดแนวความคิดโทษตัวเองหรือปัดไปให้สิ่งอื่นโดยไม่คำนึงถึงกฎธรรมชาติอันเป็นองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง ความเชื่อตามคำสอนเหล่านี้ พุทธศาสนาจัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment