Friday, September 20, 2013

คู่มือมนุษย์ ( ๕ )

คู่มือมนุษย์ ( ๕ )
ขั้นของการปฏิบัติศาสนา ( ไตรสิกขา )

        วิธีที่จะตัดอุปทานตามหลักพุทธศาสนา มี ๓ ชั้น เรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

         ศีล หมายถึง การประพฤติดีประพฤติถูก ตามหลักทั่วๆ ไป ในอันที่ไม่ทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อนจำแนกเป็นศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีล ๒๒๗ เป็นต้น รวมใจความก็คือ การปฏิบัติเพื่อความสงบเรียบร้อยปราศจากโทษชั้นต้นๆ ที่เป็นไปทางกายวาจาเกี่ยวกับสังคมและส่วนตัว หรือสิ่งของต่างๆ ที่จำแนกแก่การเป็นอยู่

         สมาธิ ได้แก่การบังคับจิตใจของตัวไว้ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดตามที่ตนต้องการ ลักษณะที่ใจแน่วแน่ หรือสงบบริสุทธิ์ ยังไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของสมาธิ พระองค์ทรงแสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิของคำอีกคำหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดคือคำว่า " กมฺมนีโย " แปลว่า สมควรแก่การทำการงาน คำนี้เป็นคำสุดท้ายที่ทรงแสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

          ปัญญา หมายถึงการฝึกฝนอบรม ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุด ในสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง คนเราตามปกติไม่สามารถรู้อะไรๆ ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง คือมักถูกตามที่เข้าใจเอาเอง หรือตามที่สมมติกัน มันจึงไม่ใช่ตามที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงมีระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่าปัญญาสิกขาขึ้่นอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนสุด สำหรับจะได้ฝึกฝนอบรมให้เกิดความเข้าใจเห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงโดยสมบูรณ์

         คำว่า " ความเข้าใจ " กับคำว่า " ความเห็นแจ้งนั้น " ในทางธรรมไม่เป็นอันเดียวกัน ความเข้าใจเป็นเพียงความรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการคิดคำนวณอนุมานเอาตามหลักแห่งเหตุผล ส่วนความเห็นแจ้ง หมายถึงความรู้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการอบรมบ่มจิต ด้วยการพิจารณาให้ซึมซาบในสิ่งต่างๆ จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่หลงใหลในสิ่งนั้นๆ ด้วยใจจริง ปัญญาสิกขาตามหลักพุทธศาสนา จึงไม่ได้หมายถึงปัญญาที่เป็นไปตามอำนาจเหตุผล แต่ต้องเป็นการรู้แจ้งเห็นด้วยใจจริงจนฝังแน่นไม่ลืม การพิจารณาในทางปัญญาตามสิกขาข้อนี้จึงจำต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตของเราเองเป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยใจจริง จนเกิดความสลดสังเวชเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นแต่เพียงความเข้าใจจะไม่เบื่อหน่าย ต้องเห็นแจ้งจึงจะเบื่อหน่าย เพราะเป็นของคู่กัน



          การศึกษาปฏิบัติเบื้องต้น คือศีลสิกขานั้นเป็นการตระเตรียมเบื้องต้นให้มีการเป็นอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมด้วยความผาสุกเป็นพื้นฐาน ความเป็นอยู่ที่ผาสุกจะช่วยให้จิตใจเป็นปกติ เป็นไปพร้อมเพื่อให้เกิดสมาธิ นี่เป็นยอดแห่งอานิสงส์ของศีล

          บทเรียนชั้นที่ ๒ คือการสามารถควบคุมจิตให้บำเพ็ญหน้าที่ของมันให้เป็นประโยชน์ที่สุด ในทางศีลมีการประพฤติทางกายวาจาดี ส่วนสมาธิเป็นการประพฤติในทางจิตดี คือไม่มีความผิด ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีความฟุ้งซ่าน และอยู่ในสภาพที่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของมัน เรียกว่าสมาธิ ตามธรรมดาบุคคลจะสามารถทำอะไรให้สำเร็จก็ต้องอาศัยกำลังสมาธิทั้งสิ้น แต่สมาธิทำนองนั้น เป็นสมาธิตามธรรมชาติ ส่วนสมาธิในหลักพระพุทธศาสนา หมายถึงสมาธิที่ได้ฝึกให้สูงขึ้นกว่านั้น สมาธิที่เลยระดับของมนุษย์ธรรมดา ท่านเรียกว่าเป็น " อุตตริมนุสสธรรม " ชนิดหนึ่ง การได้มาซึ่งสมาธิต้องลงทุนอดทนศึกษาอบรมและปฏิบัติ เมื่อได้แล้วจะทำให้มีเครื่องมือที่สูงกว่าธรรมดา ฉะนั้นจึงควรสนใจอบรมสมาธิ อย่าถือเป็นของครึพ้นสมัย

          บทเรียนชั้นที่ ๓ คือ ปัญญา แต่สมาธิสิกขากับปัญญาสิกขามีความเกี่ยวเนื่องกัน ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า " เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามเป็นจริง " โดยกิริยาหมายถึงอาการที่จิตประกอบด้วยสมาธิในลักษณะที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ ถ้าจิตมีลักษณะเช่นนี้ก็จะรู้สิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ความลับมีอยู่ว่าเรื่องที่อยากจะรู้ หรือปัญญาที่อยากจะสาง ตามปกติมันย่อมฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือความสงสัยต้องการจะสางให้มันออกมันก็ไม่ออกเพราะจิตในขณะนั้นยังไม่เหมาะสมที่จะสางปัญหา ถ้าผู้ใดเจริญสมาธิที่ถูกต้องคือมีลักษณะที่เรียกว่า " กมฺมนีโย " พร้อมที่จะปฏิบัติงานทางจิตแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่สะสมอยู่ใต้สำนึกก็จะโพล่งเป็นคำตอบออกมาอย่างไม่มีเหตผลในทันทีที่จิตเป็นสมาธิในลักษณะเช่นนั้น ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องน้อมจิตไปสู่ปัญหาที่กำลังมีอยู่ การพิจารณาด้วยกำลังของสมาธิในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ปัญญาสิกขา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็มีในลักษณะที่น้อมจิตที่เป็นสมาธิดีแล้วไปเพื่อพิจารณาปัญหาดังนี้

          ตามหลักพระพุทธศาสนา แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับปัญญาไว้ว่า ต้องมีสมาธิจึงจะมีปัญญาต้องมีปัญญาจึงจะมีสมาธิ เพราะการที่จะให้เป็นสมาธิยิ่งไปกว่าสมาธิตามธรรมชาติต้องอาศัยปัญญาอย่างน้อยก็ต้องเข้าใจวิธีบังคับจิตให้เป็นสมาธิ ในมรรคมีองค์แปดยกเอาสัมมาทิฏฐิขึ้นไว้เป็นองค์แรก เพราะการที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามที่เป็นจริงต้องมีสัมมาทิฏฐิก่อน คนที่มีปัญญาย่อมมีสมาธิมากขึ้น เมื่อสมาธิมากขึ้นปัญญาก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นตาม มีอาการส่งเสริมกันและกันดังนี้

          เมื่อมีปัญญาจะต้องมีความเห็นแจ้ง และมีผลเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายสลดสังเวช ถอยหลังออกมาจากสิ่งทั้งปวงที่เคยหลงรักยึดถือ การถอยหลังนี้มิใช่เป็นการถอยหลังด้วยกิริยาอาการ แต่หมายถึงการชะงักถอยหลังด้วยจิตใจ โดยเฉพาะเป็นจิตที่อิสระไม่ตกเป็นทาสของสิ่งทั้งปวงเรียกว่า " วิมุตติ " หมายความว่าหลุดจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง ทั้งที่พอใจและไม่พอใจนี่แสดงว่าหลุดจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวงได้ด้วยอำนาจของปัญญา  ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า " บุคคลบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา " ไม่ใช่ด้วยศีลหรือสมาธิ เมื่อหลุดก็จะมีความบริสุทธิ์ สะอาด สว่าง แจ่มแจ้ง และสงบเย็นจงได้กำหนดพิจารณาปัญญาสิกขานี้ให้ดีๆ เพราะเป็นเครื่องทำลายอุปาทาน ๔ ให้หมดสิ้นได้

          ข้อปฏิบัติทั้ง ๓ อย่างนี้ คงทนต่อการพิสูจน์ เป็นหลักวิชาอันแท้จริง เหมาะที่ทุกคนจะปฏิบัติ และไม่ค้านเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาไหน แต่มีอะไรๆ มากออกไปกว่าศาสนาอื่น โดยเฉพาะคือการปฏิบัติในทางปัญญาอันเป็นการเปลื้องจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ไม่ผูกพันเป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของสิ่งทั้งหมด หลักทั้ง ๓ นี้จึงเป็นของสากล หรือเป็นศาสนาสากลใช้ได้แก่คนทุกคนทุกยุคทุกสมัย เพราะชีวิตมีปัญหาความทุกข์อย่างเดียวกันหมดรวมทั้งเทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉานซึ่งเป็นเหตุให้กล่าวได้ว่าโลกทั้งหมดเป็นอันเดียวกันหรือเป็นชีวิตเดียวกัน เพราะมีปัญหาอย่างเดียวกัน มีสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวกัน คือต้องตัดกิเลสตัณหาหรืออุปาทานเสียให้ได้ นี่แหละคือความหมายของความเป็นศาสนาสากล

ถ้าผู้ใดเจริญสมาธิที่ถูกต้องคือมีลักษณะที่เรียกว่า " กมฺมนีโย " พร้อมที่จะปฏิบัติงานทางจิตแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่สะสมอยู่ใต้สำนึกก็จะโพล่งเป็นคำตอบออกมาอย่างไม่มีเหตุผลในทันทีที่จิตเป็นสมาธิในลักษณะเช่นนั้น




คู่มือมนุษย์ ( ฉบับย่อ )
         

No comments:

Post a Comment